เจาะกลยุทธ์การดัน ‘eSports’ ของ ‘AIS’ ที่ได้ทั้งใจ ‘วัยรุ่น’ และโอกาสสร้างรายได้จากบทบาท ‘Promoter’

ตลาด เกม และ อีสปอร์ต ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็อยากเข้ามา เพราะไม่ใช่แค่เม็ดเงินมหาศาล แต่ New Gen ก็ถือเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับเกม ดังนั้น อีสปอร์ตก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้แบรนด์ยังอยู่ในสายตาของคนรุ่นใหม่ ซึ่ง เอไอเอส ก็เห็นถึงความสำคัญข้อนี้ดี

เริ่มเข้าสู่อีสปอร์ตตั้งแต่ 2019

การเล่นเกมในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ตทั้งนั้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกหาก เอไอเอส จะโดดเข้ามาในอีโคซิสเต็มส์นี้ตั้งแต่ปี 2019 ไม่ว่าจะเป็นการจัดงาน Thailand Game Expo การสร้าง Facebook AIS eSports ไว้สำหรับเป็นช่องทางพูดคุยกับเหล่าแฟนเกม จนมาปี 2020 เอไอเอสได้เปิดตัว AIS eSports STUDIO ที่สามย่านมิตรทาวน์ และเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันต่าง ๆ จากนั้นก็ได้ขยับไป จัดทัวร์นาเมนต์การแข่งขันเป็นของตัวเอง

“เอไอเอสมี 4 ยุทธศาสตร์หลักในด้านอีสปอร์ต คือ Connect โดยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ, Complete คือมีเวทีแข่งขันอีสปอร์ต, Co-Educate เป็นแหล่งให้ได้มาเรียนรู้ และ Share เผยแพร่กีฬาอีสปอร์ตให้คนได้รับรู้ในวงกว้าง” รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการพันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ AIS กล่าว

เปิด AIS eSports STUDIO สาขาใหม่ใจกลางสยาม

หลังจากที่ AIS eSports STUDIO ที่สามย่านมิตรทาวน์ จะได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉลี่ยจะมีทราฟฟิกประมาณ 200 คน/วัน ปัจจุบันมี Members แล้วกว่า 2 หมื่นราย โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเป็น First Jobber และนักศึกษาเป็นหลัก ล่าสุด เอไอเอสก็เปิด AIS eSports STUDIO แห่งที่สอง ที่สยามสแควร์ ซอย 7

โดยเอไอเอสมองว่าพื้นที่ย่านสยามแคร์ จะช่วยให้เอไอเอสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็น กลุ่มวัยรุ่น นักเรียน และนักศึกษา โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้วันละกว่า 100 คน โดยมอง่าช่วงที่พีคจะเป็นแต่ละช่วง เช่น ช่วงบ่ายที่น้อง ๆ นักเรียนเลิกเรียน, ช่วงเย็นเป็นกลุ่มคนทำงาน ส่วนนักศึกษาจะมาช่วงค่ำ และตอนเช้าก่อนเรียน

อีสปอร์ตช่วยให้เอไอเอสเด็กลง

จะเห็นว่าเป้าหมายการเข้าถึงของเอไอเอสจะเด็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งนับตั้งแต่เอไอเอได้เข้ามาในอีสปอร์ต รุ่งทิพย์ ยอมรับว่า ช่วยให้แบรนด์ ดูเด็กลง และกลายเป็น เพื่อน กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบัน ยอดผู้ติดตามในเพจ AIS eSports ก็มีกว่า 2.8 แสน Followers

นอกจากนี้ การเปิด AIS eSports STUDIO ยังไม่ได้แค่ช่วยให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ แต่ยังเป็นพื้นที่ โชว์ศักยภาพ ของเอไอเอส อย่างที่สาขาสามย่านมิตรทาวน์ก็เป็นที่เปิดตัวความเร็วอินเทอร์เน็ต 1000/1000 Mbps จนทำให้ผู้ใช้งานบางคนใช้งานเพื่อน กดบัตรคอนเสิร์ต และสำหรับสาขาสยาม เอไอเอสก็เปิดตัวความเร็วอินเทอร์เน็ต 5000/5000 Mbps และจะรองรับเทคโนโลยี WiFi 7 ในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้น จะเห็นว่าการมาของของ AIS eSports STUDIO สามารถใช้ทั้งสร้างการรับรู้แบรนด์, สร้างความสัมพันธ์และความรู้สึกดีกับแบรนด์ในกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ที่อาจจะกลายมาเป็นลูกค้าของเอไอเอสในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้งานครึ่งหนึ่งของ AIS eSports STUDIO ไม่ใช่ลูกค้าเอไอเอส ดังนั้น ก็มีโอกาสที่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอาจเปลี่ยนใจเมื่อได้สัมผัสกับ AIS eSports STUDIO

“ตอนนี้ลูกค้าที่ AIS eSports STUDIO ครึ่งหนึ่งไม่ใช่ลูกค้าเอไอเอส ซึ่งเราไม่ได้ปิดกั้นอยู่แล้ว เราเปิดให้ทุกค่ายได้มาใช้งาน”

จากเทลโคสู่ผู้จัดอีสปอร์ต

นับตั้งแต่ปี 2019 จนถึงปัจจุบันที่เริ่มจากการเป็นแบรนด์สปอนเซอร์ ซึ่งปัจจุบันเอไอเอสมองว่าตัวเองมาถึงสเต็ป 3  ก็คือการ ผันตัวจากเทเลคอมมาเป็นผู้รับจ้างจัดการแข่งขันอีสปอร์ต เนื่องจากมองว่าตอนนี้มีความพร้อมทั้งอีโคซิสเต็มส์และคอมมูนิตี้ ดังนั้น ส่วนนี้ก็จะเป็นรายได้ใหม่ ๆ จากฝั่งเกมของเอไอเอส นอกเหนือจากการที่ลูกค้าเข้ามาเติมเกม ซื้อเกมผ่านช่องทาง Google Store Apple Store และ Huawei Store ซึ่งที่ผ่านมาทั้งจำนวนผู้เล่นเกมและการใช้ดาต้าเพื่อเล่นเกมมีการเติบโตประมาณ 7-8% และเกมถือเป็นรายได้มากกว่าครึ่งของกลุ่มเอนเตอร์เทนต์เมนต์ (บริการสมัครสตรีมมิ่ง)

“รายได้จากเกมหลัก ๆ เรามาจากการเติมเกม ซื้อเกม และเราก็มีการออก Seed ซิม รวมถึงแพ็กเกจสำหรับเล่นเกม ส่วน AIS eSports STUDIO ไม่ได้ทำรายได้เยอะขนาดนั้น แค่พอเลี้ยงตัวเองได้ เพราะเราไม่ได้มองว่าจะมาเป็นแค่ส่วนเสริมให้การกลยุทธ์ด้านอีสปอร์ตของเอไอเอสแข็งแรงยิ่งขึ้น”

ในปีหน้า เอไอเอสจะการแข่งขันต่อเนื่อง แม้ปริมาณการจัดจะไม่เยอะเท่าปีก่อน ๆ แต่จะจัดใหญ่ขึ้น และให้นักกีฬาหรือผู้ชนะสามารถไปต่อในระดับต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันไทยถือเป็นประเทศที่สำคัญ โดยค่ายเกมมองไทยเป็นหมุดหมายประเทศแรก ๆ

“ความยากของกีฬาอีสปอร์ตคือ หาสปอนเซอร์ เพราะในอุตสาหกรรมนี้คนที่ได้เงินเยอะคือสตรีมเมอร์ เนื่องจากเขามีแฟนคลับ เป็นเหมือนดารา ส่วนค่ายเกมที่อยู่รอดก็จะเป็นเกมรายใหญ่ ๆ ซึ่งจุดอ่อนของไทยตอนนี้คือ เราเป็นผู้บริโภคไม่ใช่ผู้ผลิต” รุ่งทิพย์ ทิ้งท้าย