ฉากหน้าสถิติ “อัตราว่างงาน” ใน “จีน” อาจดูลดลง แต่ไส้ใน “กลุ่มธุรกิจ SMEs” ยังคงลำบาก

จ้างงาน จีน
พนักงานโรงงาน Airmate ผู้ผลิตพัดลม ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซี (Photo: Shutterstock)
หลายเดือนที่ผ่านมาสถิติ “อัตราว่างงาน” ใน “จีน” ดูลดลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ถ้าเจาะลึกในรายละเอียดจะพบว่า “กลุ่มธุรกิจ SMEs” ยังคงเผชิญความยากลำบาก และยังขอให้พนักงานหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าแรง

South China Morning Post รายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนปี 2023 ว่าเป็นปีที่น่าผิดหวัง เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงมีผลต่อสภาวะการจ้างงานภายในประเทศ สั่นสะเทือนการทำงานของรัฐบาลที่มีภาระหน้าที่หลักคือการสร้างงานสร้างอาชีพให้เพียงพอเพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมจีนเอง

ข้อมูลทางการจากรัฐบาลจีนระบุว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา “อัตราว่างงาน” ในประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว เพราะอัตราว่างงานอยู่ในระดับ 5% มาต่อเนื่อง 3 เดือน ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการควบคุมให้ไม่เกิน 5.5% จึงถือว่าน่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม ถ้าลงลึกถึงไส้ในของตัวเลขนี้ มีหลายบริษัทที่ใช้วิธีคงสถานะจ้างงานลูกจ้างไว้ แต่ขอให้ลูกจ้าง “หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าแรง” หรือจ่ายน้อยกว่าปกติ เช่น จ่ายเพียง 80% ของเงินเดือนขั้นต่ำ

สถานการณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในโรงงาน/ภาคการผลิตเป็นหลัก ที่ผ่านมามีรายงานจากทางการนครฝัวซาน มณฑลกวางตุ้ง พบว่าความต้องการแรงงานจากกลุ่มธุรกิจภาคการผลิตเริ่มจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 แต่ก็ยังถือว่าฟื้นตัวได้ช้ากว่าภาคธุรกิจบริการ

การลงทุนภาคเอกชนนั้นถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและเป็นผู้จ้างงานหลัก แต่ธุรกิจเอกชนยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่ โดยมีการลงทุนเติบโตเพียง 0.5% ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เปรียบเทียบกับการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นถึง 6.5% เห็นได้ว่าปัจจุบันรัฐบาลต้องใช้หัวจักรภาครัฐในการขับเคลื่อนไปก่อน

 

“อสังหาฯ” จีนทรุดตัว ส่งผลซึมลึก

South China Morning Post ยกตัวอย่างสินค้าประเภทหนึ่งที่เคยมีดีมานด์สูงมากนั่นคือ “อะลูมิเนียม” สินค้ากลุ่มนี้เคยเฟื่องฟูมากจนโรงงานมีการจ้างงานพนักงานให้ทำงานถึงสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง แต่บัดนี้คำสั่งซื้อหดตัวลงจนโรงงานเองต้องดิ้นรนเพื่อไม่ให้ขาดทุน

“ในยุคที่อสังหาริมทรัพย์คืออุตสาหกรรมที่ทำกำไรดีที่สุดในประเทศจีน สินค้าอะลูมิเนียมจึงเป็นที่ต้องการทุกที่ในประเทศ รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศด้วย” Tong พนักงานคนหนึ่งของโรงงาน Golden World Innovation Aluminum กล่าวกับสำนักข่าว “อย่างไรก็ตาม วิกฤตอสังหาฯ ยังหนักหนาอยู่ในปีนี้ ทำให้โรงงานต้องการแรงงานน้อยลงเรื่อยๆ”

11 เดือนแรกของปี 2023 การลงทุนของภาคธุรกิจอสังหาฯ ในจีนหดตัวลง -9.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามแก้ไขปัญหาแล้วก็ตาม แต่ตลาดอสังหาฯ จีนที่ทรุดลงสร้างรอยแผลให้กับเศรษฐกิจจีนในหลายภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ไม่ใช่แค่อะลูมิเนียม

มีรายงานจากพนักงานในโรงงาน Yaxin Iron และ Steel Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กในมณฑลเหอหนาน ระบุว่าโรงงานหยุดผลิตเหล็กไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และจะหยุดยาวไปจนกว่าจะพ้นเทศกาลไหว้พระจันทร์ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ขณะที่ Raymond Zheng เจ้าของบริษัทขนาดเล็กที่เป็นผู้รับเหมาขุดเจาะและถมที่ในมณฑลกวางตุ้ง ก็ต้องให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้ว

นอกจากธุรกิจสินค้าหนักและบริการด้านก่อสร้างแล้ว ธุรกิจที่รับผลกระทบแรงในจีน ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, พลาสติก และ กระดาษและงานพิมพ์

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Simatelex ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากฮ่องกง ตัดสินใจปิดโรงงานในเสิ่นเจิ้นหลังก่อตั้งมานานถึง 38 ปี ทำให้พนักงานโรงงานหลายร้อยคนต้องถูกเลย์ออฟ

Shenli, Forward และ Good Printing ซึ่งทำธุรกิจด้านพลาสติกและกระดาษ ก็ตัดสินใจปิดโรงงานเสิ่นเจิ้นเช่นกัน รวมกันแล้วมีพนักงานถูกปลดไปหลายพันคน

การปิดโรงงานเหล่านี้จะมีผลต่อระบบนิเวศธุรกิจที่แวดล้อมด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร หอพัก โรงแรม ที่มีแหล่งรายได้หลักคือพนักงานโรงงาน ธุรกิจเหล่านี้จะต้องขาดรายได้ กลายเป็นลูกโซ่กระทบต่อเนื่อง

 

ปี 2024 ยังต้องแก้ปัญหาอีกเพียบ

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจเหล่านี้ มุมมองของกลุ่มนำทางเศรษฐกิจจีนมองว่า ปี 2024 จะต้องมีการพัฒนา โดยจีนต้องมีนโยบายเพื่อให้การจ้างงานมีความมั่นคงมากกว่านี้ มีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน และสนับสนุนให้มีรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น

ความท้าทายของจีนในปี 2024 ยังมีอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นอัตราว่างงานสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความคาดหวังทางธุรกิจที่อ่อนแอลง การส่งออกลดลง การฟื้นตัวในภาคการผลิตที่เชื่องช้ามาก และหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่พุ่งสูงขึ้น

Natixis วาณิชธนกิจจากปารีส วิเคราะห์ว่าประเทศจีนยังหาอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งมากพอเพื่อทดแทนอุตสาหกรรมอสังหาฯ ไม่ได้

“หากความมั่นใจยังไม่ฟื้นคืนกลับมา ผู้ประกอบการภาคเอกชนน่าจะยังรอดูท่าทีทางเศรษฐกิจต่อไปก่อนตัดสินใจลงทุน” เป็นข้อสรุปจากรายงานวิเคราะห์โดย Guangzhou Institute of Greater Bay Area

Source