เข้าสู่ปีที่ 3 ของการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทุกวงการ โดยเฉพาะงานเทศกาลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก สำหรับประเทศไทยเองก็มีเทศกาล สงกรานต์ หรือวัน ปีใหม่ไทย ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 13-16 เมษายนของทุกปี ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 3 แล้วกิจกรรมในเทศกาลนี้ไม่ได้จัดอย่างเต็มที่เหมือนที่เคยผ่านมา แม้ในปีนี้รัฐบาลจะไม่ได้มีการห้ามเดินทางก็ตาม แต่กิจกรรมอย่างการ เล่นน้ำ ก็ยังไม่สามารถทำได้
บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาวิเคราะห์ข้อมูลการพูดถึงเทศกาลสงกรานต์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและวางแผนกลับบ้านของประชาชน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 5 เมษายน 2565 ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE พบว่ามีการพูดถึงบนโซเชียลทั้งหมด 26,490 ข้อความ และมีเอ็นเกจเมนต์ที่เกิดขึ้นราว ๆ 3,260,000 เอ็นเกจเมนต์ ส่วนใหญ่ข้อความจะเกิดขึ้นบน Facebook (64%) ตามมาด้วย Twitter (12%), Instagram (6%) และ อื่น ๆ (18%)
จากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่มีการวางแผนกลับบ้านและอยากรีบให้ถึงสงกรานต์ราว ๆ 5,282 ข้อความ มีข้อความเกี่ยวกับวางแผนท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ 4,963 ข้อความ เมื่อลองเจาะลึกลงไปอีกพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่สนใจไปเที่ยวทะเล 2,117 ข้อความ โดยทะเล ภูเก็ต ได้มีการพูดถึงมากกว่า พัทยา พอสมควร
อันดับของสถานที่ที่คนอยากไปรองลงมา คือ เชียงใหม่ โดยมีการพูดถึงทั้งหมด 1,835 ข้อความ เหตุผลหนึ่งที่เชียงใหม่กลายเป็นตัวเลือกอันดับ 3 ของชาวโซเชียล เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีอากาศที่เย็นลงจนเทียบเท่ากับช่วงหน้าหนาว ทำให้หลายคนคาดหวังว่าอากาศจะดีไปจนถึงช่วงสงกรานต์
นอกจากการท่องเที่ยวในประเทศยังพบว่า มีหลายคนอยากที่จะใช้เวลาช่วงสงกรานต์ไปเที่ยวต่างประเทศประมาณ 1,992 ข้อความ โดยประเทศที่มีการพูดถึงมากที่สุด คือ เกาหลี เป็นจำนวน 846 ข้อความ และอีกหนึ่งประเทศที่ใครหลายคนคิดถึงนั่นก็คือ ญี่ปุ่น 754 ข้อความ
นอกจากการพูดถึงของประชาชนว่าสงกรานต์นี้วางแผนจะไปเที่ยวที่ไหน ทางบริษัทหรือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเองก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน เห็นได้จากการโปรโมต และการทำโปรโมชันบนโซเชียล สังเกตได้จาก Hashtag Cloud บน ZOCIAL EYE ที่ส่วนใหญ่จะเป็น Hashtag จากบริษัททัวร์ โรงแรม และธุรกิจในแวดวงท่องเที่ยว
อีกมุมหนึ่งก็มีคนที่พูดถึงว่าสงกรานต์ไม่อยากไปเที่ยวไหน อยากอยู่บ้าน อยากใช้เวลาวันหยุดอยู่กับครอบครัว ราว ๆ 845 ข้อความ ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ที่ทุกคนพูดถึงกันบนโลกโซเชียล คือ กลัวติดโควิด ไม่อยากใช้เงินกับการไปเที่ยว และอยากใช้เวลาทำกิจกรรมกับครอบครัวที่บ้านมากกว่า
ในส่วนของคนที่ไม่ได้กลับบ้านนั้น เหตุผลหลัก ๆ คือ กลัวที่จะไปคลุกคลีกับคนหมู่มากในการเดินทาง ไม่อยากเสียเวลากับรถติด กลัวว่ากลับบ้านไปแล้วจะเอาเชื้อไปแพร่ให้คนที่บ้าน รวมถึง มีหน้าที่การงานที่ต้องทำในช่วงของวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีการพูดถึงอยู่ราว ๆ 228 ข้อความ
หากเทียบกับปีที่ผ่านมาที่กิจกรรมหลาย ๆ ถูกจำกัดทำให้ได้เห็น #สงกรานต์ทิพย์ แต่มาเทียบกับปีนี้กลับไม่มีแฮกแท็กดังกล่าว เนื่องจากปีนี้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ส่งผลให้ภาพรวมของการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ค่อนข้างดี ผู้บริโภคเน้นไปท่องเที่ยวมากกว่าอยู่บ้าน จะเห็นว่าจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวก็เริ่มมีการพูดถึงและมีคนวางแผนไปเที่ยวกันมากขึ้น รวมถึงต่างประเทศเริ่มมีการปรับมาตรการให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ง่ายขึ้นทำให้มีตัวเลือกในการท่องเที่ยวมากขึ้นไปอีก