‘ศรีลังกา’ ระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระครั้งใหญ่ โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่จำกัดนั้น จะต้องเก็บไว้ใช้สำหรับการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นอย่างเช่น พลังงานเชื้อเพลิงเเละอาหาร
“เรามาถึงจุดที่การชำระคืนหนี้ต่างประเทศเป็นเรื่องท้าทายและเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ในตอนนี้ คือการปรับโครงสร้างหนี้และหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้” Nandalal Weerasinghe ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว
โดยศรีลังกา มีกำหนดจะเริ่มการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เกี่ยวกับโครงการเงินกู้ในสัปดาห์หน้า หลังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน ประกอบกับขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค
สำหรับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา ณ สิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 1,930 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่า ‘น้อยมาก’ และมีกำหนดต้องชำระหนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดในปีนี้ที่ราว 4,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะครบกำหนดในเดือนกรกฏาคมนี้
ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกา ยืนยันว่า การดำเนินการนี้เป็นไปโดยสุจริต เเละเน้นว่า “ประเทศศรีลังกา ซึ่งมีประชากรกว่า 22 ล้านคน ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อน”
โดยการงดชำระหนี้ต่างประเทศ จะเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้และได้รับการสนับสนุนโครงการเงินกู้กับ IMF
ท่ามกลางความไม่สงบของประชาชนที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ “รัฐบาลต้องมุ่งไปที่การนำเข้าสิ่งของที่จำเป็นและไม่ต้องกังวลกับเรื่องหนี้ภายนอกประเทศ”
วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงของศรีลังกา ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ขาดเเคลนเชื้อเพลิงเเละสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ พร้อมปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
- ‘หนี้รัฐบาล’ ทั่วโลกพุ่งไม่หยุด โควิด-เงินเฟ้อ-สงคราม กดดันหลายประเทศต้องกู้เพิ่ม
- หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ ‘เงินเฟ้อไทย’ ปีนี้อาจพุ่งเกิน 4% สูงสุดในรอบ 14 ปี
ที่มา : Reuters