ปริมาณหนี้สาธารณะทั่วโลกปีนี้ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.5% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 71.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากรายงาน Sovereign Debt Index ประจำปีครั้งที่ 2 โดย Janus Henderson บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ในอังกฤษคาดการณ์ว่า ระดับหนี้ของรัฐบาลต่างๆ จะเพิ่มขึ้น 9.5% จากการกู้ยืมของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นเเละจีนเป็นหลัก เเละประเทศอื่นๆ ก็จะมีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในปี 2021 รัฐบาลทั่วโลกมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 7.8% หรือราว 65.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ต้นทุนภาระหนี้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.01 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพียง 1.6%
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนภาระหนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ ราว 14.5% คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ 1.16 ล้านล้านดอลลาร์
“การระบาดของโควิดส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการกู้ยืมของรัฐบาล และผลกระทบจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่โศกนาฏกรรมในยูเครนยังมีแนวโน้มที่จะกดดันรัฐบาลตะวันตกให้กู้ยืมเงินมากขึ้น เพื่อใช้เป็นทุนในการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศที่เพิ่มขึ้น” Bethany Payne ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนพันธบัตรโลกของ Janus Henderson กล่าว
รัฐบาลเยอรมนี ให้คำมั่นแล้วว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศให้มากกว่า 2% ของ GDP นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน
ด้านรายงานการกู้ยืมทั่วโลกล่าสุดจาก S & P Global Ratings ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประเมินว่า การกู้หนี้สาธารณะชุดใหม่ในปีนี้อาจจะทะลุ 10.4 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดการระบาดใหญ่เกือบหนึ่งในสาม
Karen Vartapetov นักวิเคราะห์สินเชื่อจาก S & P Global Ratings ระบุว่า “เราคาดว่าการกู้ยืมจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความต้องการหมุนเวียนของหนี้ที่สูง เช่นเดียวกับความท้าทายของการดำเนินนโยบายการคลังหลังการระบาดใหญ่ อัตราเงินเฟ้อที่สูง ภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมืองที่มีการแบ่งขั้ว”
โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลก คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่อความต้องการเงินทุนของรัฐบาลมากขึ้น ในขณะที่เงื่อนไขทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนเงินทุนของรัฐบาลสูงขึ้นไปอีก
- อังกฤษ ‘ลดภาษีน้ำมัน’ สู้วิกฤต ‘ค่าครองชีพ’ หลังเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี
- หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ ‘เงินเฟ้อไทย’ ปีนี้อาจพุ่งเกิน 4% สูงสุดในรอบ 14 ปี
ที่มา : CNBC