Zaa Networkช่องซ่า ช่องขาใหญ่

Mthai คือ Web Portal อันดับ 2 ของประเทศไทยจากการจัดอันดับของทรู ฮิตส์ มีจำนวนยอดผู้เข้าชม 6-7 แสนคนต่อวัน ด้วยยอดผู้ใช้งานขนาดนี้ ทำให้ MThai มีฐานผู้ชมมากพอที่นำเสนอสื่อบันเทิงรูปแบบใหม่ Zaa Networkทีวีออนไลน์ที่นอกจากจะใช้พื้นที่ใน MThai ออกอากาศแล้ว ยังเผยแพร่ผ่านจานดาวเทียม เคเบิล ทีวี และ IPTV เรียกได้ว่า Zaa Network เป็นทีวีออนไลน์ที่ถูกผลิตขึ้นโดยกลุ่มทุนใหญ่ และมีช่องทางออกอากาศมากที่สุดรายหนึ่งในขณะนี้

เทคโนโลยีจับมือคอนเทนต์

MThai เป็นธุรกิจภายใต้การบริหารของกลุ่มโมโน ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มจัสมิน ผู้เชี่ยวชาญทางไอทีตัวจริงของประเทศไทย เพราะเป็นธุรกิจของ พิชญ์ โพธารามิก เช่นเดียวกัน ทำให้การสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาซัพพอร์ต เว็บไซต์ หรือทีวีออนไลน์เป็นเรื่องง่าย รวมทั้งโมโนกรุ๊ปเองก็มีคอนเทนต์ด้านความบันเทิงหลากหลายด้านอยู่แล้ว ที่รู้จักกันดีก็เช่น โมโน ฟิล์ม ค่ายหนังเจ้าของภาพยนตร์เรื่องแฮปปี้เบิร์ธเดย์, โมโน เจนเนอเรชั่น ผู้ผลิตหนังสือ กอสซิป สตาร์ นิตยสารแคนดี้, โมโน เทคโนโลยี ให้บริการด้านดิจิทัล คอนเทนต์และอี-คอมเมิร์ช และโมโน ทราเวิล ตัวแทนท่องเที่ยว และรับจองตั๋ว จองโรงแรมทั้งในประเทศกับต่างประเทศ

“ตามนโยบายของโมโนกรุ๊ปอยู่แล้วที่จะนำเอาคอนเทนต์ทั้งหมดมา Synergy กัน ระหว่างช่อง Zaa Network กับ MThai ดั้งนั้น ถ้าอยากติดตามข่าวสารของ Zaa Network ก็เข้าไปที่ MThai ได้ สิ่งที่เป็นรับประโยชน์ ก็คือ เราได้กลุ่มคนที่เล่นอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ขณะที่ MThai ก็ได้คนเข้าเว็บไซต์เพิ่มจากคนที่ติดตาม Zaa Networ” บรรณสิทธิ์ รักวงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการช่อง Zaa Network เปิดเผยถึงแนวทางของบริษัท

จากเดิม MThai เป็นเว็บท่า ที่รวบรวมของช่องทีวีออนไลน์ของฟรีทีวี หรืออินเทอร์เน็ตทีวีของผู้ผลิตคอนเทนต์รายการอื่นมาตั้งแต่ต้นปี 2553 ทำให้ผู้บริหารรู้ดีว่าความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการรับชมรายการบันเทิงทางอินเทอร์เน็ตขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โมโนกรุ๊ปที่มีคอนเนทนต์เป็นของตัวเองอยู่แล้ว จึงพัฒนาช่องทางเผยแพร่เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาอีกทาง เพื่อเพิ่มโมเดลแสวงหารายได้ โดยอิงอยู่กับความชำนาญเดิม

ฮัลโหลทำเงินให้ทีวี

สัดส่วนรายได้หลักของ Zaa Network แบ่งเป็น 2 ทาง 1. ผู้สนับสนุนรายการ ทั้งแบบซื้อช่วงเวลา, ไทล์-อิน เข้าไปในรายการ, ซื้อพื้นที่แสดงตราสินค้า หรือซื้อเวลาเพื่อทำสกู๊ปส่งเสริมสินค้าโดยเฉพาะ 2.Mobile Subscription แบ่งเป็น SMS Chat, Vote และเล่นเกมผ่านโทรศัพท์มือถือ

หลักการของการทำคอนเทนต์เพื่อให้ตอบโจทย์การช่องทางหารายได้ ขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองด้านความบันเทิง ถูกวางแผนเอาไว้ตั้งแต่คิดคอนเซ็ปต์รายการ ตัวอย่างรายการที่ตอบโจทย์สำหรับการหารายได้ เช่น เกมซ่าล่าขุมทรัพย์ ที่มีช่วงเล่นเกมผ่านโทรศัพท์มือถือ สำหรับผู้ชมที่ต้องการเล่นเกมต้องสมัครสมาชิกก่อน รวมทั้งวิธีการเล่นเกมทั้งหมดก็ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด

อีกหนึ่งรายการที่มีผู้ให้ความสนใจ คือ Club Six Sense รายการที่รวบรวมศาสตร์พยากรณ์ทั้งหลายเอาไว้ด้วยกัน แล้วก็มีช่วงให้ผู้ชมโทรศัพท์เข้ามาสอบถามปัญหาได้แบบสดๆ ทั้งสองรายการนี้ดึงเอาอินไซท์เรื่องของโชคชะตาที่ยังได้รับความนิยมในกลุ่มคนหมู่มากของประเทศไทยมาเป็นจุดขายและกลายเป็นช่องทางรายได้ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้ไม่เกินความสามารถของโมโนกรุ๊ปอยู่แล้ว เพราะเดิมก็ให้บริการเรื่องดูดวงจนมีหมอดูประจำการในเครือข่ายกว่า 200 คน ครบทุกศาสตร์การทำนาย

สำหรับวิธีการขายสปอนเซอร์ รายการ Allure Zaa (อลัวร์ซ่า) ถือว่าเป็นรายการที่ตอบโจทย์เจ้าของสินค้าได้เจาะจง ด้วยคอนเซ็ปต์รายการสาวเซ็กซี่ ที่มาคุยเรื่องที่ทำให้หนุ่มๆ รู้ใจสาว ทำให้ได้ลูกค้าอย่าง เบียร์เชียร์ สอดคล้องกับช่วงเวลาการออกอากาศหลัง 22.30 น.

ช่องทางเยอะ คอนเทนต์เพียบ

นอกเหนือจากรายการที่กล่าวมาแล้ว Zaa Network ยังมีรายการอื่นๆ รวมแล้ว 12 รายการ อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดสดอีก 12 ชั่วโมงในหนึ่งวัน ด้วยระบบการออกอากาศแบบไฮ-เดฟฟินิชั่นทั้งหมด

“เราต้องการเสนอข่าวเป็นคนแรก สด ใหม่ทุกวัน ในเมื่อเรามีคอนเทนต์เป็นของตัวเอง เราก็ควรนำเสนอได้เป็นคนแรก เราไม่ใช่รายการที่เอาข่าวจากหนังสือพิมพ์มานั่งเล่า แต่เราส่งนักข่าวออกไปหาข่าวเอง หรืออย่างบางรายการ เช่น รายการดูดวง ผู้ชมก็ต้องการดูดวงสดๆ รายการสดของเราเริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้า คือ รายการ Gossip Zaa ก็เหมือนเรายการเมาท์ข่าวดาราทางคลื่นวิทยุ ยังมีตอนเช้าเลย ของเราก็ต้องออกอากาศตั้งแต่ 8 โมง เอาให้เช้ากว่า” นี่คือเหตุผลว่าทำไม Zaa Network ต้องลงทุนทำรายการสดมากขนาดนี้

“คาแร็กเตอร์ของ Zaa Network ก็เป็นแบบที่เราบอก คือ ช่องวาไรตี้สุดแสบแบบฉีกกฎ คำว่า ซ่า ของเราคือต้องสนุก มัน แล้วก็มีความแตกต่าง เป้าหมายก็คือ ทำยังไงให้มีคนดูมากที่สุด เดี๋ยวนี้ผู้ชมมีทางเลือกมาก หลายช่องทาง ทั้งทางฟรีทีวี, เคเบิลช่องอื่นๆ เองก็เยอะ สุดท้ายแล้วคนก็จะเลือกดูรายการที่มีคุณภาพจริงเท่านั้น”

ปัจจุบันช่องทางการเผยแพร่คอนเทนต์ของ Zaa Network แบ่งเป็น
1. จานเหลือง DTV : 1.2 ล้านครัวเรือน
2. จานดำ PSI : 7.5 ล้านครัวเรือน
3. IPTV-HD ของ 3BB
4. TV Online Mthai : มีอัตราการเติบโตจากต้นปี 2553 จนถึงปัจจุบัน 260% (ที่มาจาก Google Analytics)
5. เคเบิลทีวี : 2.5 ล้านครัวเรือน

ด้วยอายุไม่ถึง 2 ขวบ การขยายฐานผู้ชมต่อไป ถือเป็นภารกิจระยะยาวของ Zaa Network ซึ่งทิศทางการทำงานแบ่งเป็น 2 ด้าน ทั้งเสริมคอนเทนต์ให้แตกต่าง เช่น รายการเรียลริตี้ศึกชิงจ้าวหมอดู, อลัวร์ ฮ็อตเกิร์ล กับการใช้สื่อ ในกรุงเทพฯ ก็มีมัปปี้บริเวณริมเส้นทางหลัก กับลงโฆษณาในนิตยสารเจาะกลุ่มวัยรุ่น ส่วนต่างจังหวัดก็มีกิจกรรมแนะนำคาแร็กเตอร์รายการ และปลายปีหน้าก็จะมีกิจกรรมใหญ่ฉลอง 2 ปี

นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางรับชม ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตอนนี้ยังมีเอไอเอสเป็นพันธมิตรหลัก กับการส่งคอนเทนต์บางส่วนของ MThai เข้าไปที่ ทวีตบอร์ด สมาร์ท ทีวีของแอลจี จากแอ็คทิวิตี้และการพัฒนาด้านคอนเทนต์ทั้งหมดนี้ บรรณสิทธิ์ มั่นใจว่าจะทำให้ Zaa Network สามารถทำรายได้เทียบเท่ากับจำนวนเงินลงทุน 50 ล้านบาท ทั้งอุปกรณ์และบุคลากร 70 คนภายใน 2 ปีครึ่ง

บรรณสิทธิ์ รักวงษ์ (แจ๊ค)
คอนเทนต์สำคัญกว่าเทคโนโลยี

เฮดเบอร์หนึ่งของ Zaa Network บรรณสิทธิ์ รักวงษ์ หรือ แจ๊ค อดีตทำงานอยู่ในบริษัทโมเดลลิ่ง แล้วเข้ามาทำงานกับโมโน กรุ๊ป เคยผ่านงานทั้งหนังสือ Gossip Star, โมโน ฟิล์ม, โมโน มิวสิค และโมโน ทาเล้นท์ ถึงแม้ว่า MThai ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี เมื่อต้องเลือกหัวเรือใหญ่ของรายการวัยรุ่น ประสบการณ์ด้านบันเทิงของบรรณสิทธิ์กลับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญกว่า

“ความสนุกของการทำงานที่นี่ คือ นอกจากเรื่องคอนเทนต์แล้วก็ต้องเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีไปด้วย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ใช้วิธีเรียนรู้ผ่านการทำงานไปด้วย ก็สะสมไปเรื่อยๆ ครับ” บรรณสิทธิ์กล่าว

39 เลขซ่า มาจากไสยศาสตร์

ตอนที่ Zaa Network ต้องเลือกพื้นที่ช่องตัวเองใน IPTV มีช่องเหลืออยู่ 2 ช่อง คือ 39 และ 40 แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก ก็มีการให้หมอดูในช่องช่วยวิเคราะห์ จนได้เลข 39 ที่สื่อถึงการเคลื่อนไหว ขับเคลื่อน และกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เลข 39 อยู่ในทุกสื่อ