“CRC ไทวัสดุ” โหมบุกตลาด! วางเป้า 10 ปีข้างหน้าโตปีละ 18% ขยายสาขาพรึบชิงมาร์เก็ตแชร์

CRC ไทวัสดุ
  • “CRC ไทวัสดุ” กางเป้าหมายบริษัทช่วง 10 ปีข้างหน้าต้องการทำรายได้โตเฉลี่ยปีละ 18% และกำไรโตเฉลี่ยปีละ 30%
  • ปีนี้วางงบลงทุน 7,000 ล้านบาท กระหน่ำขยายสาขาทั้งไทวัสดุ, บีเอ็นบี โฮม, ออโต้วัน และ โก! ว้าว จากทั้งเครือขณะนี้มี 95 สาขา สิ้นปี 2565 จะเพิ่มเกือบเท่าตัวเป็น 183 สาขา
  • วางแผนลดต้นทุนทำกำไร ติดตั้งโซลาร์รูฟครบทุกสาขา เปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (EV) ครึ่งหนึ่งของฟลีทรถขนส่งทั้งหมด
  • คาดปี 2565 ตลาดวัสดุก่อสร้างกระเตื้อง 2-3% แต่ CRC ไทวัสดุตั้งเป้าโตไม่ต่ำกว่า 13% จากการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง-ตกแต่งบ้านในเครือเซ็นทรัลรีเทลกำลังจะกลับมาโหมตลาดอีกครั้ง หลังผ่อนคันเร่งลงไปในช่วง COVID-19 โดย “สุทธิสาร จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ประกาศเป้าหมายในอนาคต บริษัทต้องการชิงอันดับ 1 ในธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ผ่านแผนการการลงทุน พัฒนาธุรกิจ และลดต้นทุนหลายกลยุทธ์

เป้าหมายในเชิงตัวเลขของซีอาร์ซี ไทวัสดุช่วง 10 ปีต่อจากนี้ คือการทำรายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 18% และทำกำไรเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% จากเมื่อปี 2564 บริษัททำรายได้มากกว่า 30,000 ล้านบาท เป้าหมายเหล่านี้ถือเป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นจากโรคระบาด

“สุทธิสาร จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด

บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุเริ่มก่อตั้งจากวิสัยทัศน์ของสุทธิสารที่เล็งเห็นโอกาสในตลาดเมื่อปี 2553 เริ่มต้นจากร้าน “ไทวัสดุ” สาขาแรกใน อ.บางบัวทอง ก่อนจะขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมกับแตกแบรนด์ใหม่ๆ ออกมา ได้แก่ “บ้าน แอนด์ บียอนด์” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บีเอ็นบี โฮม) ขายของตกแต่งบ้านประเภท Soft DIY, “วีฟิกซ์” แผนกบริการงานช่างให้ลูกค้า, “ออโต้วัน” ธุรกิจซ่อมรถ ดูแลรถ และ “โก! ว้าว” (Go! Wow) ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด ที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปี 2564

สุทธิสารกล่าวว่า เป้าหมายที่วางไว้จะไปถึงได้ด้วย 5 กลยุทธ์ ดังนี้

  1. Thriving ขยายสาขา
  2. Omnichannel ผสมผสานการขายออฟไลน์และออนไลน์ เปิดแอปพลิเคชันไทวัสดุ เพิ่มฟีเจอร์ให้การซื้อชุดครัว หลังคา เหล็ก ทำได้ง่ายขึ้น และตั้งเป้าเพิ่มยอดขายออนไลน์ 150%
  3. Supply Chain & Logistics Expansion ขยายคลังสินค้าและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า
  4. Driving Sustainability ทำต่อเนื่องในด้านการสนับสนุน “คน” ทุกกลุ่ม ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ นักศึกษา และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ชุมชนบ้านเกิดพนักงาน
  5. New Market Penetration ชูโรงธุรกิจออโต้วันและโก! ว้าวให้มากขึ้น

 

สาขารวมโตเกือบเท่าตัวในปีเดียว!

เจาะกลยุทธ์แต่ละส่วนที่น่าสนใจ ปีนี้ซีอาร์ซี ไทวัสดุเตรียมงบลงทุนถึง 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้กับการซื้อที่ดิน ขยายสาขา รีโนเวตสาขาเดิม และลงทุนด้านเทคโนโลยี

สุทธิสารกล่าวว่า ถือเป็นการลงทุนที่มากใกล้เคียงกับเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทยังขยายตัวสูง และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากช่วง COVID-19 ปี 2564 ซึ่งบริษัทใช้งบลงทุนไปเพียง 2,000 ล้านบาท เพราะเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังการลงทุน

CRC ไทวัสดุ

การขยายสาขาปี 2565 นี้จะเกิดขึ้นในทุกๆ แบรนด์ภายในเครือ โดยรวมทั้งเครือ ณ สิ้นปี 2564 มี 92 สาขา จนถึงสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 183 สาขา โดยแบ่งได้ดังนี้

  • ไทวัสดุ จาก 59 สาขา เพิ่มเป็น 70 สาขา
  • บีเอ็นบี โฮม จาก 6 สาขา เพิ่มเป็น 13 สาขา
  • ออโต้วัน จาก 12 สาขา เพิ่มเป็น 30 สาขา
  • โก! ว้าว จาก 15 สาขา เพิ่มเป็น 70 สาขา
CRC ไทวัสดุ
ร้านไทวัสดุแบบมาตรฐาน ใช้พื้นที่ประมาณ 18 ไร่

สำหรับกลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง จะเน้นการเปิด ไทวัสดุโมเดลมาตรฐาน (ร้านใหญ่สีแดง) และจะปรับเซกเมนต์ภายในร้าน ขยายส่วนขายเฟอร์นิเจอร์จาก 200-300 ตร.ม. เป็น 600 ตร.ม. พร้อมกับเปิดแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า และมีโซนพลาซ่าร้านอาหาร-ช้อปปิ้งมากขึ้น เพื่อตอบสนองลูกค้าได้หลากหลาย

นอกจากนี้จะเพิ่มสาขาที่เป็น โมเดลไฮบริดซึ่งรวมไทวัสดุกับบีเอ็นบี โฮมไว้ในสาขาเดียว เพราะพิสูจน์แล้วจากสาขาแรกที่ศรีสมาน หลังเปิดในปี 2564 ทำยอดขายได้ดีกว่าสาขาปกติ พบว่าโมเดลนี้ ‘เวิร์ก’

CRC ไทวัสดุ
โมเดลใหม่แบบไฮบริด รวมร้านไทวัสดุกับบีเอ็นบี โฮม เปิดสาขาแรกที่ศรีสมาน

ส่วน บีเอ็นบี โฮม ที่รีแบรนด์มาจากบ้าน แอนด์ บียอนด์ จะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้เข้าใกล้คนเมืองมากกว่าเดิม มีการเปิดใกล้ๆ หรืออยู่ในศูนย์การค้ามากขึ้น เช่น เซ็นทรัล ราชพฤกษ์ ซึ่งจะก่อสร้างบนที่ดินเดิมของบ้าน แอนด์ บียอนด์ ต่อไปสาขานี้จะรีแบรนด์เป็นบีเอ็นบี โฮม และเข้าไปเป็นร้านค้าภายในศูนย์ฯ แทน

ขณะที่การขยายร้าน ออโต้วัน จะยังคงเกาะไปกับไทวัสดุ จากแนวคิดเดิมที่ร้านซ่อมรถเกิดขึ้นเพื่อ ‘utilize’ ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเห็นโอกาสจาก ‘รถช่าง’ ที่เข้าออกร้านบ่อย

ปิดท้ายกับน้องใหม่ร้าน โก! ว้าว ปีนี้จะเน้นการออกไปเปิดสาขาสแตนด์อะโลนนอกห้างฯ เพื่อทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ (ขณะนี้สาขาเกือบทั้งหมดอยู่ในศูนย์การค้าหรือบีเอ็นบี โฮม)

 

ขยาย DC + เปลี่ยนมาใช้รถบรรทุก EV

สุทธิสารกล่าวต่อถึงการขยายคลังสินค้า อ.วังน้อย จ.อยุธยา จากพื้นที่ 120 ไร่ บริษัทยังใช้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ทำให้จะขยายคลังต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายสาขา และการขายออนไลน์ที่สินค้าหลายชิ้นจะส่งออกจากคลังโดยตรง

เตรียมปรับมาใช้รถบรรทุก EV ลดค่าพลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอน

อีกส่วนที่สำคัญคือการเปลี่ยนมาใช้ “รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า” (EV) จากปัจจุบันฟลีทขนส่งของไทวัสดุมีกว่า 100 คัน เดือนพฤษภาคมนี้จะปรับมาใช้ EV นำร่อง 6 คัน และปี 2566 จะปรับไปใช้ EV เป็น ‘ครึ่งหนึ่ง’ ของฟลีทรถบรรทุกทั้งหมด รวมถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาทุกสาขา จะปรับให้ครบทั้งหมดภายในปี 2566

สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดต้นทุนให้บริษัท เพราะการใช้รถ EV จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ 50% ของค่าพลังงานในการขนส่ง และการใช้โซลาร์รูฟช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 50% เช่นกัน เป็นคีย์หลักในการไปสู่เป้าหมายการทำกำไรเพิ่ม

 

สรุป: ชิงมาร์เก็ตแชร์จากการเปิดสาขา

การเติบโตของตลาดค้าปลีกวัสดุก่อสร้างปี 2565 ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท สุทธิสารคาดว่าจะโตราว 2-3% แต่ CRC ไทวัสดุ ต้องการโตไม่ต่ำกว่า 13% โตมากกว่าตลาดจากการระดมเปิดสาขาดังกล่าวซึ่งจะช่วยให้ดึงมาร์เก็ตแชร์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการปรับโมเดล ปรับสินค้าขายให้ครอบคลุมสินค้าหลากหลาย หรือรวมสองแบรนด์ไว้ด้วยกัน มีทั้งวัสดุก่อสร้าง แต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ครบจบในที่เดียว

ส่วนผลกระทบระยะสั้นจากปัจจัยลบที่ยังเรื้อรัง เช่น ฟลีทเรือขนส่งที่ยังมีปัญหา บริษัทได้แก้ปัญหาล่วงหน้าแล้วด้วยการสั่งสินค้านำเข้ามากักตุน ขณะที่ปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างพาเหรดกันขึ้นราคา สินค้าบางตัวที่มีราคาตลาด เช่น เหล็ก ปูน บริษัทไม่สามารถตรึงราคาได้ แต่สินค้าประเภทอื่นจะพยายามตรึงไว้อีก 90 วันเป็นอย่างน้อย เช่น สินค้ากลุ่มโคมไฟ ก๊อกน้ำ เครื่องมือช่าง

“เลี่ยงไม่ได้ที่สินค้าจะราคาขึ้น แต่เราจะพยายามตรึงให้นานที่สุด เพราะถ้าราคาแพงขึ้น เราก็จะขายไม่ได้เหมือนกัน” สุทธิสารกล่าว