ใครจะ “สร้างบ้าน” ปีนี้ต้องเร่งตัดสินใจ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) คำนวณต้นทุนก่อสร้างปรับขึ้น 5-8% จากราคาน้ำมันและ “โลหะ” เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม นิกเกิล ขึ้นมาแล้วเฉลี่ย 50% บริษัทอั้นไม่ไหวเตรียมปรับราคาบ้านช่วงเมษายนนี้ กังวลปัญหาขาดแคลน “แรงงาน” และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะทำให้ต้นทุนก่อสร้างสูงขึ้นอีก
“วรวุฒิ กาญจนกูล” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยสถานการณ์ตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2565 คาดว่ามูลค่าตลาดเฉพาะกรุงเทพฯ-ปริมณฑล น่าจะยังเท่ากับปี 2564 ที่ 11,500 ล้านบาท เพราะแม้ว่าช่วงต้นปีตลาดจะกลับมาคึกคักขึ้น แต่หลังมีปัจจัยลบด้านค่าครองชีพเข้ามาช่วงเดือนมีนาคม ทำให้ตลาดชะลอตัว
ปัจจัยลบของปีนี้เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ค่าน้ำมันพุ่ง และกระทบต่อเนื่องถึงราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่ม “โลหะ” เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม นิกเกิล ภาพรวมปรับขึ้นเฉลี่ย 50% มีผลกับต้นทุนค่าเหล็กก่อสร้าง ฝ้าเพดาน ท่อเหล็ก และสายไฟ
วัสดุที่ราคาปรับขึ้นหนักที่สุดคือ “เหล็ก” ซึ่งราคาเมื่อต้นปี 2564 อยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันขึ้นมาถึง 27-28 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และมีแนวโน้มจะขึ้นเป็นเท่าตัว
จากต้นทุนวัสดุที่ขึ้นราคาดังกล่าว วรวุฒิประเมินว่าราคาบ้านปีนี้จะขึ้น 5-8% ซึ่งสมาคมฯ ได้พูดคุยกับบริษัทที่เป็นสมาชิกทั้งหมดให้ตรึงราคาไว้ก่อนในช่วงนี้ที่กำลังจะจัดงานมหกรรม “รับสร้างบ้านและวัสดุ FOCUS 2022” วันที่ 30 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 เพื่อช่วยกันกระตุ้นตลาด แต่คาดว่าหลังงานมหกรรม ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ราคาบ้านของแต่ละบริษัทจะทยอยปรับขึ้น
กังวลต่อเนื่องเรื่อง “แรงงาน”
วรวุฒิกล่าวต่อว่า อีกส่วนที่กังวลคือ “แรงงาน” ยังอยู่ในภาวะขาดแคลน โดยคาดว่าปีนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาก่อสร้างโครงการมากขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งจะทำให้ภาวะขาดแคลนหนักข้อขึ้นอีกเร็วๆ นี้ จึงอยากฝากถึงภาครัฐให้เปิดให้แรงงานข้ามชาติได้กลับเข้ามาในไทยอย่างถูกกฎหมาย
อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับแรงงาน คือการ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” จากปัจจุบัน 331 บาทต่อวัน แต่รัฐมีแนวคิดจะขึ้นเป็น 492 บาทต่อวัน แม้ว่าขณะนี้แรงงานทักษะมีฝีมือจะได้รับค่าแรงเฉลี่ย 500-700 บาทต่อวันอยู่แล้ว แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานไม่มีฝีมือ ก็จะทำให้ค่าแรงขึ้นยกแผงทั้งระบบ
สมาคมฯ ประเมินว่า หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจริง แต่ขึ้นประมาณ 10-15% อาจไม่ส่งผลต่อต้นทุนการก่อสร้างมากนัก แต่ถ้าหากปรับขึ้นถึง 30-40% จะมีผลต่อต้นทุนอย่างมาก และจะทำให้ราคาบ้านปรับขึ้นมากกว่า 10% ในปีนี้
บ้านระดับบนเป็นแรงขับเคลื่อน
ด้านธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2565 วรวุฒิกล่าวว่า บ้านระดับบน 10 ล้านบาทขึ้นไปจะยังคงมาแรง เพราะผู้มีรายได้สูงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะเศรษฐกิจ แต่จะอ่อนไหวกับภาวะการระบาดของ COVID-19 มากกว่า ตลาดจะสะดุดหากมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น
ขณะที่สมาคมฯ เองพบว่า มีสมาชิกบริษัทรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดสมัครเข้าเป็นสมาชิกสูงขึ้น จากในอดีตยังไม่เคยมี โดยเมื่อปี 2564 มีสมาชิกต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 9 บริษัท จากจังหวัดนครราชสีมา, สกลนคร, มหาสารคาม, อุดรธานี และจันทบุรี ส่วนปี 2565 คาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น 15 บริษัท จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
มองว่าบริษัทต่างจังหวัดเริ่มเป็นสมาชิกมากขึ้นเพราะการประชาสัมพันธ์ของสมาคมฯ ทำให้ทราบว่ามีข้อดีด้านความน่าเชื่อถือ ซึ่งส่งผลต่อเครดิตในการติดต่อสินเชื่อจากธนาคาร
นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นจากกลุ่มลูกค้ามีกลุ่มที่ลูกหลานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และต้องการสร้างบ้านให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัด หรือกลับไปสร้างงานสร้างอาชีพในต่างจังหวัดแทน หลังเกิดการระบาดของ COVID-19 จึงมีดีมานด์ต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น
จัดงานแฟร์รับสร้างบ้าน โค้งท้ายราคาเดิม
“อนันต์กร อมรวาที” อุปนายกฝ่ายกิจกรรมพิเศษ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมของสมาคมฯ เตรียมจัดงานมหกรรม “รับสร้างบ้านและวัสดุ FOCUS 2022” วันที่ 30 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 8 โดยจะเป็นงานแฟร์ที่ตรึงราคาสุดท้ายก่อนปรับขึ้นตามต้นทุนวัสดุ
ภายในงานมีบริษัทรับสร้างบ้านกว่า 30 บริษัทร่วมออกบูธ รวมแบบบ้านมากกว่า 1,000 แบบ ราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทถึงมากกว่า 100 ล้านบาท พร้อมด้วยบริษัทวัสดุ และธนาคารผู้ให้สินเชื่อในงาน คาดหวังว่างานนี้จะได้ยอดขายรวม 2,100 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งมูลค่าตลาดทั้งปีนี้
อนันต์กรยังให้ข้อมูลแบบบ้านและฟังก์ชันบ้านที่ผู้สั่งสร้างนิยมมากขึ้นในยุคนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตามได้ทัน เช่น
- แบบบ้านโมเดิร์นยังมาแรงต่อเนื่อง
- ที่จอดรถขั้นต่ำเพิ่มจาก 2 คันเป็น 3 คัน
- ติดตั้ง EV Charger
- โซลาร์รูฟท็อปได้รับความนิยม
- ต้องการพื้นที่ห้องเก็บของมากขึ้น
ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่ท้าทายกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยตลาดระดับบนยังเป็นกุญแจหลักในการสร้างยอดขาย ขณะที่ตลาดระดับกลางลงมา ราคาบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาท จะมีความอ่อนไหวสูงกับค่าครองชีพและเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเลื่อนแผนการก่อสร้างบ้านออกไปก่อนได้