3 ทศวรรษ ‘บางกอกแดนซ์’ นำศิลปะการเต้นเข้าถึงผู้คน ปรับทุกยุคสมัย เปลี่ยนรับเทรนด์ใหม่

ย้อนไปเมื่อช่วง 3 ทศวรรษก่อน ศิลปะการเต้น’ ไม่ได้เป็นที่นิยมเเละยอมรับกันในสังคมอย่างเเพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ การทำให้การเต้นเข้าถึงผู้คนได้โดยง่าย คือความท้าทายอันใหญ่หลวง 

Positioning มีโอกาสพูดคุยกับ วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์หรือ ครูต้อย กับเส้นทางของ บางกอกแดนซ์ หรือ Bangkok Dance Academy สถาบันสอนศิลปะการเต้นแห่งแรกในประเทศไทย ความท้าทายเมื่อเทียบกับสมัยก่อนกับปัจจุบัน พร้อมด้วย ‘ครูหลอดไฟ- นวินดา’ ทายาทรุ่นสองที่จะมาเปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจก้าวต่อไป การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน การมาของกระเเส K-Pop เเละการปรับเปลี่ยนเพื่อรับสไตล์ใหม่ๆ 

ก้าวเเรกบางกอกแดนซ์

 ‘ครูต้อย’ ในวัยเด็กต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ พร้อมพิสูจน์ความมุ่งมั่นตั้งใจกับครอบครัว จนได้ไปเรียนเต้นบัลเล่ต์และแจ๊ส จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรเลีย ซึ่งในยุคนั้นถือว่าน้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเช่นนั้น

จากที่สมัยก่อนการสอนบัลเล่ต์ในประเทศไทย มักจะทำเป็นธุรกิจเล็กๆ เเค่ในบ้าน เป็นเเบบ ‘stand alone’ ไม่เเพร่หลายเท่าที่ควร เมื่อกลับมายังบ้านเกิด เธอจึงคิดได้ว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้ศิลปะการเต้นเเพร่หลายเเละเข้าถึงคนหมู่มากให้จงได้ 

จากจังหวะชีวิตในตอนนั้น จึงเริ่มเปิดสถาบันสอนศิลปะการเต้นเเห่งเเรก ที่สยามกลการโรงเรียนดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนั้น

นำศิลปะการเต้นเข้า ‘ห้างฯ

เเม้ผลตอบรับจะดีพอสมควร เเต่ก็ยังมีการเข้าถึงที่จำกัดครูต้อยจึงเกิดความคิดที่ว่าจะนำสถาบันการเต้นเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า ที่เป็นเเหล่งศูนย์รวมผู้คนทุกเพศทุกวัย

สมัยก่อนใครจะเรียนบัลเล่ต์ได้ต้องรู้จักต่อกันมาจากคนใกล้ชิด เเต่พอเราเข้าไปอยู่ในเเหล่งสาธารณะที่เข้าถึงง่ายเเล้ว ก็ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยได้เริ่มจัดตั้งสถาบันสอนศิลปะเต้น เเละศูนย์การเรียนรู้ในห้างเสรีเซ็นเตอร์ เป็น
การสร้างเเม็กเนตให้คนที่สนใจเดินเข้ามาหาได้ง่าย

จากนั้นได้มีการประสานงานกับสถาบันอื่นๆ อีก 14 แห่งร่วมมือกันเป็นจนกลายศูนย์การเรียนรู้ครั้งเเรกขึ้นมาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน

กระเเสตอบรับก็มีทั้งสองเเบบ เพราะผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ยังมองว่านี่คือการเต้นกินรำกิน เเต่บางกอกเเดนซ์ก็มีหน้าที่ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่า ศิลปะสร้างคนได้ เพราะฉะนั้นเด็กที่มาเรียนศิลปะทุกคน ไม่ว่าด้านดนตรี การเต้น วิจิตรศิลป์ทั้งหลาย มันคือการที่จะทำให้คนเราเเข็งเเกร่งขึ้นได้

จากการที่ยุคนั้นการเเข่งขันยังมีน้อยคู่เเข่งยังไม่มีไม่มากนัก เพราะเป็นธุรกิจเฉพาะทาง จึงทำให้บางกอกเเดนซ์เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

“30 ปีก่อนเราเเทบไม่ต้องมีงบโฆษณาเลย เน้นไปที่การประชาสัมพันธ์เเบบปากต่อปาก ต้องจองคิวเรียนต้องรอถึง 2 ปี เป็นการเริ่มธุรกิจที่ดูง่าย เเต่ความยากก็คือการต้องเเข่งกับตัวเอง พยายามเดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้องเเละทำให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะในวงกว้างในได้

สมัยก่อนการทำกิจการด้านนี้ถือว่าง่ายมาก เพราะมีพื้นที่ให้ยืนเยอะมาก มีโอกาสพัฒนาเรื่อยๆ เเต่ทุกวันนี้พื้นที่เต็มมากขึ้น เเละการเต้นไม่ได้เป็นเพียงเเค่สไตล์เเต่การเป็น culture (วัฒนธรรม) ไปเเล้ว 

เคยมีคนบอกว่าการเต้นบัลเล่ย์เป็นของเก่าไปเเล้ว เเต่สำหรับคนที่ชอบก็จะบอกว่าการเต้นเเบบคลาสสิกมีมาเเล้ว 2-3 ร้อยปี มันอยู่ได้เพราะมันมีคุณค่า จะพูดเเบบไหนก็คือของสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นความยากในปัจจุบันของครูก็คือการปรับตัวให้เข้าใจคนรุ่นใหม่ เเละต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เข้าใจซึ่งกันเเละกัน

หลักสูตรที่เปลี่ยนตามยุคสมัย 

ในช่วงแรกสถาบันบางกอกแดนซ์ เริ่มเปิดสอนจากบัลเลต์ แจ๊สแดนซ์ นาฏศิลป์ไทย จากนั้นค่อยๆขยายหลักสูตรไปที่ยิมนาสติกลีลา บอลรูม ลาติน

จนถึงปัจจุบันที่ครอบคลุมการสอนศิลปะการเต้นทุกช่วงอายุ ทุกระดับความสามารถ ทุกอาชีพทั้งรูปแบบตะวันตกและตะวันออก ตั้งเเต่แบบคลาสสิคไปจนถึงสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบัลเลต์ แจ๊ส แท๊ป คอนเทมโพรารี่ รำไทย ยิมนาสติก ฮิปฮอป ลีลาสฯ สตรีทเเดนซ์ โดยค่อยๆปรับเสริมเพิ่มเติมตามยุคสมัย

ภายใต้การรับรองโดย กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมนำหลักสูตรจากนานาชาติเข้ามาผสมผสานอีกหลากหลาย อาทิ สถาบัน The Common Wealth Society of Teacher of Dance (C.S.T.D) จากประเทศออสเตรเลีย เพื่อสอนและสอบวัดผลให้นักเรียน ครู นักเต้นสมัครเล่น และนักเต้นมืออาชีพ

จากนักเรียนบางกอกเเดนซ์ 100 คนในยุคเเรก เพิ่มเป็นกว่าหลายหมื่นคนในอีก 31 ปีต่อมา

สมัยก่อนคนยอมอยู่ฝั่งธนเข้ามาเรียน เเต่สมัยนี้เราต้องไปอยู่ใกล้ๆ นักเรียนให้มากที่สุด จึงนำมาสู่การขยายธุรกิจ โดยปัจจุบันมีอยู่ 12 สาขารวมสำนักงานใหญ่ เพื่อให้ผู้คนเดินทางง่าย

ปรับตัว ‘สอนเต้นออนไลน์’ 

เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เเบบไม่คาดคิดขึ้น การเรียนการสอนไม่สามารถทำได้ตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายทั้งผู้สอนและผู้เรียนที่ก็กำลังเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ

นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือครูหลอดไฟ ทายาทรุ่น 2 เเห่งบางกอกแดนซ์เล่าถึงการปรับตัวในช่วงโควิดให้ฟังว่า

สถาบันสอนการเต้นนั้นไม่เหมือนการเรียนหนังสือทั่วไป เพราะต้องมี ‘Physical Contact’ ปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวการจัดท่าทาง เเละต้องใช้สถานที่เรียนที่เหมาะกับการเคลื่อนไหว ดังนั้นการเรียนที่บ้าน จึงมีข้อจำกัดเยอะเเละยอมรับว่าประสิทธิภาพการเรียนการสอนไม่เท่าสถานการณ์ปกติ

ทางบางกอกแดนซ์ จึงวางเเนวทางใหม่ว่าจะไม่ทำเเค่เปิดกล้องเเละสอนไปเรื่อยๆ เท่านั้นเเต่เป็นการสอนเเบบที่ยังคงจิตวิญญาณในการเต้นอยู่ให้มากที่สุดท้าที่จะทำได้

โดยได้รับคำปรึกษาจากสถาบัน The Commonwealth Society of Teachers of Dancing หรือ CSTD ที่นำเสนอการเรียนการสอนศิลปะการเต้นทางออนไลน์รูปแบบใหม่พร้อมงานสัมมนาซึ่งได้มีการเเชร์กับคุณครูของบางกอกเเดนซ์อยู่เสมอ

หลังจากผ่านมานานกว่า 2 ปี ก็เริ่มเห็นความเเตกต่างของเด็กที่ไม่ชอบเรียนออนไลน์เลย กับเด็กที่ปรับตัวเรียนออนไลน์ได้ พยายามประคับประคองกันไปให้ได้คุณภาพดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งไม่ใช่เเค่ทักษะการเต้นเท่านั้น เเต่ยังดูเเลไปถึงสภาพจิตใจของเด็กด้วย

อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิดก็ทำให้บางกอกแดนซ์ ได้รู้จักกับผู้เรียนมากขึ้น เพราะพวกเขาได้ใช้ความเป็นตัวเองขณะอยู่ที่บ้าน พออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยก็จะมีการสื่อสารอีกเเบบหนึ่งที่ไม่เหมือนในห้องเรียน

เมื่อเป็นศิลปะการเต้น เด็กๆ ต้องปรับตัวอย่างมาก มีความตั้งใจเพิ่มขึ้นหลายเท่า ต้องฉลาดในการปรับตัวเเละพลิกเเพลงจากท่าเดิมที่ต้องใช้พื้นที่ 7 เมตร ต้องเต้นให้ได้ในระยะ 3 เมตรที่บ้าน เป็นความท้าทายเเละน่าชื่นชอบที่เด็กๆ ทำได้

โดยครูหลอดไฟ มองว่า เทคโนโลยีสมัยนี้ไปได้ไกลมากๆเ เละเห็นว่าการเรียนดนตรีผ่านระบบออนไลน์ให้ได้คุณภาพเสียงเรียลไทม์นั้น จะต้องมีซอฟต์เเวร์เเละอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติม

ขณะเดียวกันเทรนด์ Virtual reality หรือ VR เเละ โลกเสมือนจริงอย่าง Metaverse ที่กำลังจะเป็นที่นิยมในอนาคตก็จะมีส่วนช่วยให้การสอนออนไลน์พัฒนาขึ้นไปอีกขึ้นทุกๆอย่างจะเชื่อมโยงกัน

เราต้องรีบศึกษาเเละเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่นี้ ตามให้ทัน Pop-Culture เเละโลกดิจิทัล รวมถึงยึดมั่นในหลักการเดิมของเราทั้งการใช้ศิลปะพัฒนาคนเเละให้ศิลปะเข้าไปหาผู้คนให้ได้มากที่สุด

เมื่อเด็กๆ ฝันอยากเป็นเเบบลิซ่า

ปรากฎการณ์ K- pop ที่สะเทือนวงการเพื่อนทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความใฝ่ฝันจะเป็นศิลปินนักเต้นเเละยูทูบเบอร์มากขึ้น เหล่านี้ทำให้เกิดสถาบันสอนเต้นเเละสตูดิโอใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

ครูต้อย เห็นว่า ทุกๆ สมัย จะมีสไตล์การเต้นใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในฐานะของผู้รักศิลปะเเละต้องการให้ศิลปะเข้าถึงทุกคน สิ่งเเรกที่เราต้องทำคือเปิดใจเเละชื่นชมในการเปลี่ยนเเปลงใหม่ๆเเต่การที่เราจะนำมาบรรจุในหลักสูตรของบางกอกเเดนซ์หรือไม่นั้น ก็ต้องดูไปตามความเหมาะสม โดยจะมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนเเละการนำไปสานต่อกับสไตล์ต่างๆ ได้

ยิ่งมีสตูดิโอสอนเต้นเปิดใหม่มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาวงการนี้ ให้ผู้คนเข้าถึงศิลปะการเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางกอกเเดนซ์ไม่มีทางที่จะทำได้เพียงลำพัง ต้องผนึกกำลังช่วยกัน จึงขอให้ซื้อตรงเเละมีจรรยาบรรณในสิ่งที่ตัวเองทำ

ส่วนครูหลอดไฟ มองว่า ความนิยมใน K-pop เข้ามาในไทยประมาณ 10 ปีที่เเล้ว ผู้คนสนใจเต้น coverdance มากขึ้น เเละตอนนี้การเต้นมีได้รับความนิยมมากขึ้นผ่านเเอปพลิเคชัน TikTok

การเต้นได้การเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคน ถือเป็นนาทีทองของโรงเรียนสอนเต้น เราก็ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เรายังคงต้องคงคุณค่า คุณภาพไว้เหมือนเดิม พร้อมเปิดรับทำสิ่งใหม่เทรนด์ใหม่ๆ เเบบคู่ขนานไปด้วย

โดยทางบางกอกเเดนซ์จะเน้นไปที่การสอนตั้งเเต่เทคนิคพื้นฐาน อย่างการย่ออย่างไรให้ถูกต้อง การถ่ายน้ำหนักให้เป็น ทำให้คนเข้าใจถึงเบื้องหลังท่าต่างๆ ของการเต้น K-Pop หรือสตรีทเเดนซ์ที่ถูกต้อง เเละในระยะยาวเข้าใจได้ว่าศาสตร์การเต้นมันเชื่อมโยงกัน

นอกจากนี้ ยังมีเด็กๆ หลายคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะเรียนเต้นจริงจัง โดยมีลิซ่า BLACKPINK’ เป็นไอดอล

อย่างเเรกที่เราจะเเนะนำคือการเริ่มเรียนการเต้นให้ถูกต้องตั้งใจเเละพ่อเเม่ต้องสนันสนุน มีทัศนคติที่ว่าการเต้นสามารถทำเป็นอาชีพได้ เเละกว่าที่ลิซ่าจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ ต้องผ่านการฝึกฝนมามากมาย ดังนั้นเราต้องมีความอดทนเเละสะสมความภูมิใจในตัวเองเรื่อยๆ เปิดโอกาสให้ตัวเองมากที่สุด

การเรียนศิลปะทุกเเขนง ต้องต่อสู้กับสังคมที่เราอยู่อย่างเเน่นอน ต้องยึดมั่นในความรู้สึกตัวเอง ไม่ท้อเเท้คำพูดของคนอื่น  เราก็จะเริ่มชนะเเล้วในระดับหนึ่ง ด้วยสังคมที่เราอยู่ เด็กๆ รุ่นใหม่จะต้อง ทดลองให้รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบ หากมีความสนใจเพียงนิดเดียว เเล้วลองทำดู

เดินหน้าใช้ ‘ศิลปะพัฒนาคน’ 

ตั้งเเต่ช่วงเปิดโรงเรียนเเรกๆ เมื่อ 30 กว่าปีก่อน บางดอกเเดนซ์พยายามผลักดันให้ภาครัฐเห็นความสำคัญกับด้านศิลปะ จนต่อมาเริ่มมีหน่วยงานมาสนับสนุนด้านกิจกรรมส่งเสริมต่างๆ ในช่วง 15 ปีให้หลังมานี้ โดยหวังจะให้รัฐสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเเละบรรจุไว้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป

วงการศิลปะในบ้านเราต้องมีการพัฒนา ไม่ใช่เเค่ภาครัฐ เเต่เป็นการพัฒนา mind set ของคนผู้เเละให้ความสำคัญกับศิลปะในการศึกษาภาคปกติ ให้เข้าใจว่าศิลปะช่วยพัฒนาคนได้จริงๆ งบประมาณรัฐจะได้ไปอยู่ถูกที่ พัฒนาให้ถูกจุด

สำหรับทิศทางต่อไปของบางกอกเเดนซ์นั้น ด้วยความที่เป็นธุรกิจครอบครัว จึงปัญหาเรื่อง Gap-Different ความคิดที่เเตกต่างระหว่างวัย เเนวทางเหมือนเดิมเเต่วิธีดำเนินการอาจจะไม่เหมือนกัน จากความเป็นตัวตนที่ไม่เหมือนกัน

เราต้องมีการเติบโตขึ้น ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทาร์เก็ตกลุ่มลูกค้าต้องชัดเจนขึ้น เเละมุ่งเน้นการใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาประยุกต์ใช้กับสิ่งใหม่ๆ หนักเเน่นการสิ่งที่เราจะทำ ใช้เทคโนโลยี สื่อสารให้ทันสมัย ก็เชื่อว่าจะนำมาบางกอกเเดนซ์ไปในทิศทางที่ดีได้ โดยยังคงความเป็นตัวตนของเราได้ในทุกยุคทุกสมัย