การเพิ่มคุณสมบัติใหม่ๆ เข้าไปในเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต นอกจากเพิ่มจุดขายให้กับเครื่องรับโทรทัศน์แล้ว ยังเป็นการเปิดช่องทาง และสร้างการเติบโตให้กับผู้ผลิตเนื้อหาบนโลกออนไลน์อีกทางหนึ่งด้วย
อินเทอร์เน็ตที่เคยถูกจำกัดอยู่ในจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน ก็สามารถออกมาโลดแล่นบนจอโทรทัศน์ได้ และเป็นใหม่ของเครื่องรับโทรทัศน์ที่เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานส่วนนี้เข้าไป
ผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์แบรนด์ใหญ่ๆ ต่างมีทีวีอินเทอร์เน็ตออกมามากมายในช่วง 1-2 ปีนี้ แต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันออกไปเพื่อป้องกันความสับสนของผู้ซื้อ
เครื่องรับโทรทัศน์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ดันให้ทีวีอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นและเติบโตในช่วงนี้
โซนี่ก็เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ ที่ออกสินค้าในไลน์ของโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต โดยใช้ชื่อว่า Internet TV
เน็ตแรง – คอนเทนต์โดน ตัวเร่งตลาดโต
ฮิเดกิ คอนโดะ ผู้จัดการแผนกผลิตภัณฑ์โฮมเอนเตอร์เทนเมนท์ บริษัทโซนี่ ไทย จำกัด บอกว่า ตั้งแต่บริษัทเปิดตัวอินเทอร์เน็ตทีวีในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สัดส่วนการขายอินเทอร์เน็ตทีวีสูงขึ้นเป็น 60% ขณะที่โทรทัศน์ธรรมดามีแค่ 40% เห็นได้ว่าลูกค้าเริ่มมองเห็นผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของสินค้าตัวนี้
“ลูกค้าที่เริ่มมองหาซื้อทีวี จะมองไปในระยะยาว ซื้อทีวีแล้วจะครอบคลุมรองรับการใช้งานในอนาคตได้ด้วย แทนที่จะมองเรื่องราคาอย่างเดียว เพราะส่วนต่างของราคาของทีวีอินเทอร์เน็ตกับทีวีธรรมดา ไม่ถึง 3,000 บาท ราคาเริ่มต้นก็ไม่สูง ทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น”
เหตุผลที่ทำให้ตลาดทีวีอินเทอร์เน็ตเติบโต และแข่งขันกันรุนแรงในช่วงนี้ คอนโดะบอกว่า ผู้ผลิตทุกรายต่างมีสินค้ากลุ่มนี้อยู่แล้ว และมีการเปิดตัวมาก่อนหน้านี้ แต่ที่ไม่เติบโตเพราะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในการสื่อสาร คือระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งมีผลต่อการรับชม
จนเมื่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของสัญญาณที่มี ความเร็วขึ้นตั้งแต่ 1 MB จนถึง 6 MB ทำให้การรับชมทีวีอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงค่าบริการของอินเทอร์เน็ตก็อยู่ในอัตราที่เหมาะสม การได้รับความนิยมจึงเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
เมื่อรวมกับจัดเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตที่รับชมผ่านอินเทอร์เน็ตทีวีของโซนี่ มีการคัดเลือกพิจารณาผู้ผลิตเนื้อหาในประเทศที่เหมาะสม และเป็นที่ต้องการของผู้ชม จึงเป็นแรงบวกที่ช่วยเพิ่มยอดขายของอินเทอร์เน็ตทีวีด้วย
“โซนี่มีคอนเทนต์ที่แตกต่าง แน่อนนอนว่าเรามีโกลบอลคอนเทนต์ที่ทุกรายเข้าถึงได้หมด แต่ว่าตลาดไทย คนนิยมดูคอนเทนต์ของไทยมากกว่า เราก็ต้องนำเสนอคอนเทนต์ที่ลูกค้าเราสนใจด้วย ตอนนี้เรามี 3 รายใหญ่ๆ คือช่อง 7 เนชั่น และเอ็มไทย ซึ่งแต่ส่วนเสนอเนื้อหาที่แตกต่างกันและค่อนข้างที่จะครอบคลุม ความหลากหลาย” คอนโดะ อธิบายถึงเนื้อหาอินเตอร์บน Platform ของโซนี่
จุดแข็งของโซนี่ในเรื่องเนื้อหา กลุ่มเนชั่น และเอ็มไทย เป็นผู้ผลิตเนื้อหาที่เปิดกว้างสำหรับทุกรายอยู่แล้ว ใครก็สามารถเชื่อมต่อเข้าไปดูได้ แต่ในส่วนของช่อง 7 คือจุดขายหลัก เพราะละครของช่อง 7 นั้นมีกลุ่มแฟนละครติดตามอย่างเหนียวแน่น และเป็นทีวีอินเทอร์เน็ตรายเดียวที่มีช่อง 7 ร่วมอยู่ด้วย
โซนี่ได้ทำการสำรวจการติดตามชมเนื้อหาบนเครื่องรับอินเทอร์เน็ตทีวีของโซนี่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากการเปิดตัวผ่านพ้นไป 1 เดือน ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ช่วงเวลาวันที่ 20 – 23 เมษายน ที่เก็บข้อมูล มีการดูวิดีโอคลิปรวมแล้วประมาณ 2,000 คลิป เวลาการดูทั้งหมด 12,000 นาที เฉลี่ยใช้เวลาในการดูคลิปละ 6 นาที
แสดงให้เห็นว่า ผลตอบรับดี และผู้บริโภคก็คอยดูอยู่แล้วว่ามีเนื้อหาอะไร แต่ถ้าเป็นของต่างประเทศ เช่น Youtube ทางโซนี่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ประเมินว่าน่ามีคนดูมากกว่าเนื้อหาของไทย เพราะความหลากหลายของเนื้อหาที่ถูกโพสต์ขึ้นไปบน Youtube
การแข่งกันในส่วนของเนื้อหาคือการหาผู้ผลิตเข้ามาไว้ในระบบ โดยทำให้เฉพาะโซนี่เพียงรายเดียวก็เป็นช่องทางหนึ่งที่สร้างความต่างให้กับทีวีอินเทอร์เน็ตแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจากับผู้ผลิตเนื้อหาว่าตกลงหรือไม่
เขาบอกว่า การที่มีคอนเทนต์เฉพาะ ก็มีข้อดี ข้อเสีย ในแง่ของผู้บริโภคอาจมองว่าต้องการชมความหลากหลาย แต่ในแง่ของโซนี่การมีเนื้อหาเฉพาะก็อาจจะแคบ เข้าถึงได้กลุ่มบางกลุ่มเท่านั้น
เนื้อหาที่เสนอให้กับผู้บริโภคช่วงแรก โซนี่ถือว่ายังไม่มาก และหลากหลายพอ ต้องเพิ่มในส่วนของภาพยนตร์ เพลง และมีความเป็นไปได้ที่จะมีเนื้อหาเฉพาะของบริษัทในเครือโซนี่เอง และปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้ผลิตเนื้อหาใน Platform โซนี่ประมาณ 10 ราย
พัฒนาต่อยอดต่อไปต้องจ่ายค่าดู
Model ของโซนี่ในการคัดผู้ผลิตเนื้อหาให้กับโซนี่ ในช่วงแรกคือการเปิดฟรีทั้งหมด เพื่อให้มีผู้ชม และผู้ผลิตเข้ามาอยู่ใน Platform ของโซนี่ แต่เมื่อไปถึงระยะหนึ่ง ถึงจุดที่ผู้บริโภครับทราบ และคุ้นเคยกับทีวีอินเทอร์เน็ต พร้อมๆ กับข้อมูลเกี่ยวกับการชมเนื้อหาถูกวิเคราะห์ออกมา ก็จะสามารถคัดกรองเนื้อหาที่ตรงกับผู้ชมได้
ระหว่างที่กำลังช่วยกันสร้างตลาดทีวีอินเทอร์เน็ต โซนี่กับผู้ผลิตเนื้อหาก็สามารถประสานผลประโยชน์ที่ลงตัว
ผู้ผลิตเนื้อหา จะได้ Brand Awareness จากเดิมที่อินเทอร์เน็ตต้องชมผ่านคอมพิวเตอร์ มีลูกค้าจำกัด เมื่อเข้ามาใน Platform ของโซนี่ มีฐานลูกค้าจำนวนมาก ก็จะได้มีโอกาสในการประกาศแบรนด์ผ่านลูกค้าของโซนี่ และเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้ลูกค้าเข้าไปชมรายการด้วย เป็นการสร้างความต้องการสร้างลูกค้าของผู้ผลิตเนื้อหาแต่ละรายในอนาคต
ส่วนของโซนี่เองก็เป็นการเพิ่มช่องทางใหม่ในการนำเสนอเนื้อหาให้ผู้บริโภค และเป็นการขยายฐานลูกค้าของโซนี่ดวยเหมือนกัน
เขาบอกว่าหากมองไปในอนาคต ถ้าทีวีอินเทอร์เน็ตมีความเข็งแรง และมีความต้องการระดับหนึ่งแล้ว ก็มีโอกาสที่โฆษณาจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เหมือนกับโฆษณาออนไลน์ ทางผู้ผลิตเนื้อหาก็มองอยู่เช่นกัน
โซนี่มองด้วยว่า การมีผู้ที่เข้ามาทำอินเทอร์เน็ตทีวีจำนวนมาก ก็ต้องช่วยกันสร้างตลาดขึ้นมา และเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคน ต่อไปแทนที่จะไปซื้อของที่หน้าร้านอย่างเดียว ก็จะสร้างรูปแบบของการขายออนไลน์ ผ่านอินเทอร์เน็ตทีวี ช่วยเปลี่ยนวงการอินเทอร์เน็ต จากเดิมที่ผู้ผลิตทำเนื้อหาเพื่อสนับสนุนแค่ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ กลับมามองเพื่อผลิตเนื้อหาให้กับทีวีอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่จะสร้างกระแส หลายๆ กลุ่มกำลังทำให้เปลี่ยนแปลงขึ้น
“ในอนาคตต้องมองว่า ผู้ผลิตเนื้อหาแต่ละราย จะทำธุรกิจกับเนื้อหาเหล่านี้อย่างไร ต่อไปการเข้าชมเนื้อหา ต้องเป็นระบบสมาชิก และเสียเงินเข้าไปชม รวมไปถึง อาจมีเรื่องของการโฆษณามารวมอยู่ด้วย” นี่คือความคิดของคอนโดะ ในการพัฒนาเนื้อหา และ Platform ของโซนี่ในอนาคต
เมื่อ Software ช่วยดัน Hardware
การมีเนื้อหา และความหลากหลายในการชมโทรทัศน์ คือความตั้งใจของโซนี่และผู้จำหน่ายทีวีอินเทอร์เน็ตทุกราย ที่กำลังแข่งขันกันอยู่ในขณะนี้ เพราะองค์ประกอบส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มยอดขายของเครื่องรับโทรทัศน์
“ปีที่แล้วเรามีส่วนแบ่งในตลาดทีวีโดยรวมที่ 25% ในปีนี้เราคาดว่าความต้องการอินเทอร์เน็ตทีวีที่เพิ่มขึ้น จะช่วยทำให้เรามีส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 30%” ผู้บริหารโซนี่บอกถึงเป้าหมายของบริษัท
เขาบอกด้วยว่า โซนี่ไม่ได้แยกวางตำแหน่งสินค้าของอินเทอร์เน็ตทีวีเป็นพิเศษ เพราะเป็นฟังก์ชันที่มีอยู่ในทุกรุ่น โดยการเปิดตัวเครื่องรับโทรทัศน์รุ่นใหม่ 24 รุ่น ในจำนวนนี้เป็นรุ่นที่มีอินเทอร์เน็ตทีวีถึง 20 รุ่น
แต่ในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์แบบเดิม ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตทีวี โซนี่ก็ยังมีอยู่เพื่อเป็นตัวแข่งขันกับคู่แข่ง และตอบสนองผู้ที่ไม่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่มีความเป็นไปได้สูงว่า อินเทอร์เน็ตทีวีจะเติบโตได้จนถึง 70% ลูกค้าตัดสินใจซื้ออินเทอร์เน็ตทีวีมากขึ้น
การเปิดตลาดอินเทอร์เน็ตทีวี โซนี่มองลูกค้ากลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีอยู่กว่า 8 ล้านคนในขณะนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจ และพร้อมที่จะเปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เน็ตทีวี เพราะมีความคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว
นอกจากนี้กลุ่มที่ชอบแชร์เรื่องต่างๆ กับเพื่อนผ่านเครื่องมือต่างๆ ถ้าโซนี่เจาะเข้าไปได้ ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ
ในลูกค้ากลุ่ม Mass ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่กว้างที่สุด คอนโด๊ะบอกว่าต้องสร้างให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้จักว่าอินเทอร์เน็ตทีวีคืออะไร โดยใช้ทั้งสื่อโฆษณา บิลบอร์ด และทำทั่วประเทศ
“สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดคือ หน้าร้านของเรา จะต้องให้ความหมายของอินเทอร์เน็ตทีวีได้ว่าคืออะไร และรู้ว่านี่คืออะไร พนักงานคนขายสำคัญมาก ต้องสาธิต อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ เป็นจุดที่ลูกค้าจะตัดสินใจเปลี่ยนมาอินเทอร์เน็ตทีวี”
การใช้หน้าร้านมาเป็นจุดเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เพราะความคุ้นเคยของผู้ซื้อบางส่วนไม่คุ้นเคย และมองว่าอินเทอร์เน็ตทีวีซับซ้อน คนสูงอายุใช้งานไม่เป็น จึงเป็นความท้าทายที่จะสื่อสาร และเปลี่ยนทัศนคติกับลูกค้าว่า อินเทอร์เน็ตทีวีเป็นฟังก์ชันหนึ่ง เป็นช่องทางการชมเหมือนเคเบิลทีวี โซนี่ต้องการสร้างทัศนคตินี้กับผู้บริโภค
สำหรับปัจจัยในการซื้ออินเทอร์เน็ตทีวี คอนโดะบอกว่า ผู้บริโภคจะเลือกจากแบรนด์เป็นหลัก จากนั้นก็ดูเนื้อหารายการเปรียบเทียบกัน ส่วนราคา หากคนมองแบรนด์ ราคาก็เป็นรอง กลุ่มผู้ซื้ออินเทอร์เน็ตทีวีจะเน้นเรื่องแบรนด์
ปีนี้ตลาดจะเป็นอินเทอร์เน็ตทีวี ทุกรายเริ่มบุกตลาดอย่างเต็มที่ และจะทำให้ตลาดโทรทัศน์โดยรวมเติบโตมากกว่า 15% ในปีนี้
“โซนี่ ไม่ได้มองว่าผู้บริโภคซื้อทีวีเพราะฟังก์ชัน อินเทอร์เน็ตทีวี เป็นแค่การเพิ่มมูลค่าเท่านั้น ไม่ว่าเขาจะดูอินเทอร์เน็ตหรือไม่ ก็ต้องซื้อทีวีอยู่ดี ตลาดทีวีโตอยู่แล้ว แต่ฟังก์ชันนี้จะยอมรับหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงอย่างไรเครื่องรับโทรทัศน์ก็ยังขายได้เหมือนเดิม” ผู้บริหารโซนี่กล่าวทิ้งท้าย
- 4 ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของโซนี่ไทยปี 2554
- Product Redefined ออกสินค้านวัตกรรมใหม่ ในส่วนของ Total 3D Solutions และอินเทอร์เน็ตทีวี
- Content Redefined เสนอคอนเทนต์พิเศษสำหรับอินเทอร์เน็ตทีวี จากพันธมิตรผู้ผลิตเนื้อหา เช่นช่อง 7, เครือเนชั่น, ผู้ผลิตเว็บไซต์ในเครือ M Thai และรายอื่นๆ
- Customer Focus Redefined พัฒนาสิทธิประโยชน์และการบริการในด้าน CRM
- Retail Marketing Redefined พัฒนาระบบการจัดจำหน่ายเพื่อเสริมประสิทธิภาพ ให้ผู้แทนจำหน่าย และลูกค้า
Official Launch | มีนาคม 2554 |
Positioning | ทีวีอินเทอร์เน็ต |
Product Details | บราเวีย อินเทอร์เน็ตทีวี 24 รุ่น 8 ซีรี่ส์ ขนาด 22 – 65 นิ้ว อินเทอร์เน็ตบนจอโทรทัศน์ มี Content กว่า 100 ราย รวมทั้งผู้ผลิตเนื้อหาของไทยเข้า Youtube Facebook Twitter Skype จากทีวี |
Target | คนทั่วไป |
Strategy | Television Redefined |
Competitor | ซัมซุง แอลจี |
ปี | ยอดขาย (ล้านยูนิต) |
---|---|
2552 | 3.2 |
2553 | 5.2 |
2554 | 6.8 |
แบรนด์ | สัดส่วน (%) |
---|---|
ซัมซุง | 33 |
แอลจี | 22 |
โซนี่ | 18 |
พานาโซนิค | 10 |