รู้จักนักช้อปออนไลน์

การช้อปปิ้งออนไลน์กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น (อย่างแท้จริง) หลังจากล้มลุกคลุกคลานมานาน โดยมีตัวที่ช่วยทำให้ธุรกิจนี้มีชีวิตชีวาอย่างดีคือการซื้อเป็นกลุ่มแล้วได้ดีลราคาลดพิเศษ หรือ Group Buying และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่เข้ามาเปิดเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์เอง ทำให้ธุรกิจเติบโตจากมูลค่าไม่กี่ร้อยล้านบาท กลายเป็นหลักหลายหมื่นล้านบาทในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปี ดังนั้น ใครอยากกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ จึงไม่ควรพลาดในการทำความรู้จักว่าใครบ้างคือผู้ซื้อตัวจริง ไลฟ์สไตล์ จะขายพวกเขาได้ตอนไหน และด้วยวิธีการอย่างไร

ปัจจัยที่ทำให้การช้อปปิ้งออนไลน์ หรือ e-Commerce เติบโต www.weloveshopping.com ระบุว่ามาจาก 6 ปัจจัยหนุน คือ 4 อย่างแรกที่มีมากขึ้น 1.ความรู้ ความนิยมของผู้ใช้ 2.ความเร็วของอินเทอร์เน็ต 3.อายุเฉลี่ยผู้ใช้ และ4.เซ็กเมนต์สินค้า ขณะที่อีก 2 ข้อที่อยู่ในโหมดลดลง คือราคาหรือต้นทุนผู้ประกอบการร้านค้าในออนไลน์ และความยุ่งยากในการใช้งานลดลง

ความเร็วของอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดคอนเทนต์ที่น่าสนใจกว่าเดิม พัฒนาจากการนำเสนอเพียงตัวอักษร ภาพนิ่งกลายเป็นภาพวิดีโอที่ทำให้เพลิดเพลินยิ่งขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมช้อปปิ้งออนไลน์มากที่สุด คือกลุ่ม 18-35 ปี ที่มีกำลังซื้อ มีความต้องการหลากหลาย และคุ้นเคยกับไลฟ์สไตล์ในการออนไลน์

เชื่อเพื่อนและข้อมูลบอกต่อมากกว่าโฆษณา
เทรนด์หนึ่งที่ทำให้สินค้าออนไลน์เกิดได้ง่าย คือการเติบโตของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ที่ทำให้พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ “สรรเสริญ สมัยสุต” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงาน Web Business บริษัททรูดิจิตอล คอนเทนท์ แอนด์ มีเดีย จำกัด ผู้บริหาร www.weloveshopping.com พบคือผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อจากการบอกต่อหรือแนะนำของเพื่อนและข้อมูลที่ลูกค้าบอกต่อในออนไลน์ มากกว่าโฆษณา ดังนั้นหากใครทำสินค้า นำเสนอได้น่าสนใจคนในโลกออนไลน์บอกต่อ ก็มีโอกาสในการขายได้มากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสของ Group buying ที่เพื่อนมักแนะนำต่อให้เพื่อนถึงดีลสินค้าที่น่าสนใจ

การตัดสินใจซื้อจากการรับสื่อ
90% สิ่งที่เพื่อนแนะนำ
70% ลูกค้าโพสต์ในออนไลน์
70% เว็บไซต์ของแบรนด์
69% บทความ เช่น จาก นสพ.
64% การเป็นสปอนเซอร์
62% ทีวี
61% หนังสือพิมพ์
59% นิตยสาร
55% บิลบอร์ด สื่อนอกบ้าน
55% วิทยุ
54% อีเมลที่สมัครรับข้อมูลข่าวสาร
52% โฆษณาก่อนหนังฉาย
41% ผลการค้นหาในเว็บเสิร์ช
37% โฆษณาวิดีโอออนไลน์
33% แบนเนอร์โฆษณา
24% ข้อความโฆษณาในมือถือ
ที่มา : Nielsen

เว็บช้อปปิ้งติดท็อป5
เว็บไซต์เกี่ยวกับช้อปปิ้งเป็นเว็บที่คนเข้าดูเป็นอันดับ 5 นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่บ่งบอกว่าคนสนใจการช้อปปิ้งพอๆ กับสนใจข่าวสารเลยทีเดียว

พฤติกรรมการดูเนื้อหาเว็บไซต์ (10 อันดับแรกที่คนดูสูงสุด)
สัดส่วนเพจวิว % ประเภทเว็บไซต์
39.90 เว็บบันเทิง
10.64 เกม
8.62 บุคคล สังคม
7.24 ข่าว สื่อ
6.24 ช้อปปิ้ง
5.06 อินเทอร์เน็ต
3.78 ธุรกิจ
2.74 กีฬา
2.59 ยานยนต์
2.31 การศึกษา

คนรุ่นใหม่เปิดช้อปออนไลน์
สำหรับกลุ่มที่เข้ามาในธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์หรือเป็นผู้ขายสินค้านั้นมีแนวโน้มจริงจังกับอาชีพนี้มากขึ้น ส่วนใหญ่ทำเป็นอาชีพหลัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ คือเฝ้าหน้าจอตลอดเวลาเพื่อรับออเดอร์และดำเนินการส่งสินค้า ที่เหลือเป็นอาชีพเสริม ตรงข้ามกับอดีตที่ส่วนใหญ่เป็นอาชีพเสริม ซึ่ง “สรรเสริญ” บอกว่า การที่มีผู้ที่ทำอย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันสูง และมีการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายตอบสนองทุกกลุ่มลูกค้า

ผู้ขายสินค้าออนไลน์
64% เป็นอาชีพหลัก
36% เป็นอาชีพเสริม

ขายใคร ตอนไหน จึงจะได้ชัวร์
จากสถิติของ www.weloveshopping.com พบกลุ่มคนที่เป็นนักช้อปออนไลน์ดังนี้

Who
 
 
 
 
• กลุ่มครีมในช้อปปิ้งออนไลน์ คือ 24-35 ปี คิดเป็น 65% ของลูกค้าทั้งหมด
• รายได้เฉลี่ยของกลุ่มเป้าหมาย 25,000 บาทต่อเดือน
• ผู้หญิงช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่าผู้ชาย มูลค่าการซื้อต่อชิ้นน้อยกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงซื้อสินค้ามูลค่าไม่สูง เช่นเสื้อผ้า ของตกแต่งเล็กๆ น้อย ส่วนผู้ชายซื้อสินค้าแพงกว่าเช่น Gadget
When
 
 
 
• เวลาที่คนเข้าเว็บช้อปปิ้งมากสุดคือ 15.00-15.59 น.(ในวันทำงาน ส่วนเสาร์-อาทิตย์น้อยตลอดทั้งวันเพราะคนไปช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้ามากกว่า)
• เวลาที่คนเข้าเว็บช้อปปิ้งน้อยสุดคือ 05.00-05.56 น.
• ความถี่ในการเข้าเว็บสัปดาห์ละครั้ง
How much • มูลค่าการซื้อต่อครั้งเฉลี่ย 1,000-1,200 บาท
What • สินค้าที่ขายดีที่สุดในช้อปปิ้งออนไลน์คือ เสื้อผ้า เครื่องประดับแฟชั่น เครื่องสำอาง

ปิดการขายด้วยการจ่ายเงิน
วิธีการชำระสินค้า คืออุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตช้ามาโดยตลอด เพราะผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อในอดีตห่วงเรื่องความปลอดภัยในกรณีที่ต้องชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิต แต่เมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้น ความกังวลนี้เริ่มลดลง เพราะคนรุ่นใหม่พร้อมจ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ดังนั้นเมื่อจะขายสินค้าใดกับกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันจึงควรพิจารณาวิธีการชำระเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้าย คือการปิดการขายด้วยคำสั่งซื้อในที่สุด

3 วัยจ่ายคนละแบบ
กลุ่มอายุมากกว่า 35 ปี รู้สึกดีกว่าถ้าให้ชำระค่าสินค้าบริการผ่านเอทีเอ็ม
กลุ่ม 25-30 ปี สะดวกพร้อมจ่ายผ่านบัตรเครดิต
กลุ่มเด็ก ใช้บัตรเงินสด หรือบัตรเติมเงินเป็นหลัก