ผ่าปมซื้อขายหุ้น “วินด์เอนเนอร์ยี่” จากธุรกิจดาวรุ่งสู่มหากาพย์พิพาท

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 13 ปีก่อน บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) บริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานทดแทนด้านพลังงานลมรายแรกของประเทศที่ครองสัดส่วนมากกว่า 42% ของ โควตาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศ จัดว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่ถูกจับตามองของวงการธุรกิจ-การลงทุนมากที่สุดในยุคนั้น

วินด์เอนเนอร์ยี่ เป็นบริษัทดาวเด่นขึ้นมา เพราะมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เจ้าของ “นพพร ศุภพิพัฒน์” ที่เป็นใครมาจากไหนไม่ใคร่มีคนรู้จักกลับมีชื่อไปอยู่ในทำเนียบบุคคลที่ร่ำรวยเป็นเศรษฐีหมื่นล้านอันดับต้นๆ ของเมืองไทยในเวลานั้น จากการที่ วินด์ เอนเนอร์ยี่เป็นเจ้าของพลังงานลมมากถึง 8 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมกว่า 717 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ประเมินกันว่า มูลค่าสินทรัพย์ของ วินด์ฯ มาถึงวันนี้อย่างน้อยต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และจะเพิ่มสูงมากขึ้นไปได้อีก หากความพยายามในการนำหุ้นออกเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไป หรือ IPO และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สำเร็จ

ทว่า การจะ IPO หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ของวินด์ เอนเนอร์ยี่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่า จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? และจะเกิดขึ้นได้หรือไม่? แม้โดยปัจจัยพื้นฐานไม่มีข้อสงสัย แต่ปัญหาเรื่อง “คดีความ” ที่มีการฟ้องร้องกันยุ่งเหยิงยืดเยื้อมากกว่า 4 ปี จะยุติลงเมื่อไหร่? และท้ายที่สุดแล้ว “หุ้น” ที่เป็นชนวนความขัดแย้งนั้น โดยชอบธรรมควรเป็นของใคร?

คำตอบที่ว่า ใครที่เป็นเจ้าของโดยชอบนี้ จะเป็นตัวชี้วัดตัดสินอนาคตของ วินด์เอนเนอร์ยี่ อย่างแท้จริง

จุดเริ่มของวินด์ฯ – นพพร

ก่อนที่จะไปวิเคราะห์อนาคตของวินด์เอนเนอร์ยี่ มาย้อนดูอดีตของวินด์เอนเนอร์ยี่ที่กลายเป็นมหากาพย์ลากยาวมากว่าทศวรรษจนถึงวันนี้กันก่อน

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2552 โดย “นพพร ศุภพิพัฒน์” ซึ่งต้องการจะให้เป็นโฮลดิ้งที่รองรับการขยายอาณาจักรด้านพลังงานทดแทนของกลุ่ม ซึ่งก่อนหน้านั้น ปี 2550 เขาได้เริ่มต้นลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกโดยเปิดบริษัทภายใต้ชื่อ “บริษัท เขาค้อ พลังงานลม จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ “บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด” ที่เขาก่อตั้งไว้ปูทางเอาไว้ก่อนหน้าเรียบร้อย

นพพร ในวัย 30 ปีขณะนั้น ถือว่าเป็นนักธุรกิจสายพลังงานอนาคตไกล ถึงกับถูกยกให้เป็น “Energy Tycoon” ที่มาแรงแซงทุกธุรกิจ ทั้งๆ ที่ว่ากันว่า นพพร ก่อนหน้านี้เป็นเพียงเด็กมหาวิทยาลัยที่หาลำไพ่พิเศษด้วยการเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจพลังงาน ซึ่งก็ว่ากันว่า ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ เพราะใครก็ตามที่คิดจะลงทุนทำธุรกิจพลังงานรู้กันว่าต้องพึ่งพา “เส้นสาย” หรือ “คอนเนกชัน” ที่ต้องกว้างขวางในวงราชการ และเอกชน ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนด้านการเงินที่ดีด้วย

คอนเนกชัน และ ผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินของนพพร เวลานั้น ก็คือ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ที่มี “ประเดช กิตติอิสรานนท์” อดีตวิศวกรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ “สวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์” อดีตผู้ว่าการ กฟภ. ซึ่งทั้งสองเข้ามาถือหุ้นและร่วมกันก่อตั้งบริษัทกับนพพร

“ประเดช” ถือว่าเป็นผู้มีส่วนผลักดันให้บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยีฯ ขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว จนใครๆ ก็อยากมาร่วมลงทุนด้วย ยกตัวอย่าง บริษัท ราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ยังได้เข้ามาลงทุนในบริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี่ฯ ของ “นพพร” ในเดือน ก.พ. ปี 2552

เมื่อธุรกิจปักหลักมั่น และเริ่มติดปีก นพพร และประเดช จึงก่อตั้ง วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ขึ้นมารองรับบริษัทในเครือดังกล่าว

นพพร ได้จัดโครงสร้างการถือหุ้นในวินด์เอนเนอร์ยี่ของเขาเองโดยใช้ บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จํากัด (“REC”) ซึ่งบริษัทนี้ มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น 3 บริษัทในเครือของเขา ได้แก่ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด คิดเป็นสัดส่วน อยู่ 98.94% โดย REC เข้าไปถือใน วินด์เอนเนอร์ยี จํานวน 64,717,411 หุ้น หรือ “59.46%” ของจํานวนหุ้นทั้งหมด

ดังนั้น ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม “นพพร” ก็คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในวินด์เอนเนอร์ยี่ ขณะที่ ประเดช และนักลงทุนคนอื่นๆ มีสัดส่วนลดหลั่นตามกันมา

เมื่อ นพพร จบเห่ กังหันลมก็สะดุด

นับจากปี 2552 นพพร และกลุ่มของเขามือขึ้น ทำอะไรก็ดีไปหมด และถือเป็นปีทองที่ใบพัดแห่งความมั่งคั่งของ วินด์เอนเนอร์ยี่ หมุนด้วยอัตราความเร็วตามแรงลมได้ดียิ่ง การดําเนินกิจการวินด์เอนเนอร์ยี่ได้เข้าถือหุ้นในกลุ่มบริษัทจํานวน 8 บริษัท โดยกลุ่มบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม เพื่อผลิตและจําหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เรียกว่า การันตีเรื่องการรับรู้รายได้อย่างมั่นคงด้วยสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคตระยะยาวอีกด้วย ขณะที่ออร่าของ “นพพร” ไทคูนคนใหม่ของวงการธุรกิจฉายแสงเจิดจ้ายิ่งขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับ “ประเดช” หุ้นส่วนที่ร่วมกันก่อตั้ง วินด์เอนเนอร์ยี่ ก็ร่ำรวยขึ้นติดอันดับเศรษฐีด้วยเหมือนกัน

ในปี 2557 นพพร คือ มหาเศรษฐีของไทยลำดับที่ 31 ถือครองมูลค่าทรัพย์สิน 26,076 ล้านบาท จากการถือครองหุ้นใหญ่ในวินด์ เอนเนอร์ยี่ ขณะที่ “ประเดช” ผู้ร่วมก่อตั้งหุ้นส่วนของนพพร ติดอันดับที่ 44 ของประเทศ

ทว่า คนคำนวณไม่สู้ฟ้าลิขิต ระหว่างที่กิจการของวินด์เอนเนอร์ยี่ และชีวิตส่วนตัวกำลังไปได้สวยเหมือนพลุไฟยามราตรี กลับปรากฏว่า พอย่างเข้าเดือนสุดท้ายของปี 2557 โดยที่ไม่มีใครคาดคิด โชคชะตาของนพพรก็พลิกผันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

วันที่ 1 ธันวาคม 2557 นพพร ศุภพิพัฒน์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้งถูกตั้งข้อกล่าวหา และศาลทหารออกหมายจับในคดีอาญาฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในคดีเป็นผู้จ้างงานกลุ่มผู้มีอิทธิพลนำตัวเจ้าหนี้มาเจรจาตกลงให้ลดหนี้ ซึ่งในระหว่างการเจรจามีการข่มขู่ผู้เสียหายโดยการแอบอ้างเบื้องสูง ซึ่งต่อมา นพพร ตัดสินใจหนีคดีหลบไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

เมื่ออนาคตของนพพรดับวูบลง ส่งผลต่อวินด์เอนเนอร์ยี่ทันที กังหันใบพัดที่เคยหมุนรับลมพลันสะดุด ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน และอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติสนับสนุนทางการเงินให้แก่ WEH ระงับการสนับสนุนทางการเงินตามมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว โครงการต่างๆ ของวินด์เอนเนอร์ยี่ก็เกิดระส่ำระสายกันไปหมด ทั้งที่กลุ่มบริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตและได้เข้าทําสัญญากับ กฟผ.ไปแล้ว นี่คือ จุดเปลี่ยนปฐมบทของมหากาพย์ วินด์เอนเนอร์ยี่!

ณรงค์เดช ก้าวเข้ามาเจรจาขอซื้อหุ้นต่อจากนพพร

ประมาณต้นปี 2558 ณพ ณรงค์เดช บุตรชายคนกลางของเกษม ณรงค์เดช หนึ่งในนักลงทุนที่สนใจธุรกิจพลังงานขณะนั้น ได้เข้ามาชักชวนโน้มน้าวครอบครัวณรงค์เดช ได้แก่ บิดา เกษม ณรงค์เดช, กฤษณ์ ณรงค์เดช พี่ชาย และกรณ์ ณรงค์เดช น้องคนเล็ก ให้เข้าซื้อหุ้น WEH จํานวน 64,717,411 หุ้น คิดเป็น 59.46 % ของจํานวนหุ้นทั้งหมดใน WEH หรือในส่วนที่ นพพร ถืออยู่ทั้งหมด ตีมูลค่าคิดเป็นเงินจํานวนประมาณ 24,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการพูดคุยกันแล้ว ครอบครัวณรงค์เดชแม้จะไม่ค่อยเข้าใจในธุรกิจพลังงานทางเลือกนัก แต่ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวณพ เกษมและครอบครัว จึงตัดสินใจลงทุน โดยได้มอบหมายให้ณพเป็นตัวแทนครอบครัวณรงค์เดชเพื่อติดต่อเจรจาซื้อหุ้น วินด์ เอนเนอร์ยี่

ต้นปี 2559 ครอบครัวณรงค์เดชได้เดินทางไปประเทศเดนมาร์ก เพื่อดูโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ตามที่ครอบครัวได้ลงทุนและมอบหมายให้ณพดําเนินการเพื่อให้ได้มา ซึ่งหุ้น WEH แต่ก่อนหน้านี้ มีผู้บริหารของวินด์เอนเนอร์ยี่ทั้งคณะได้เข้ามานำเสนอโครงการที่ทำอยู่ให้กับครอบครัวณรงค์เดชเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการลงทุน

เมื่อ ตระกูลณรงค์เดช ออกหน้าจะเข้ามาเป็นเจ้าของคนใหม่ ข่าวร้ายของวินด์เอนเนอร์ยี่ที่เคยกังหันพลันสะดุด เพราะนพพรผู้ถือหุ้นใหญ่หลบหนีคดีไปก็เริ่มมองเห็นเค้าลางการฟื้นความเชื่อมั่นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ สัญญาณดังกล่าว ทำให้ ปี 2560 มีข่าวใหญ่ในวงการลงทุน เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์กลับมาปล่อยสินเชื่อ 3.7 หมื่นล้านบาทให้กับ “เคพีเอ็น” ลงทุนไฟฟ้าพลังงานลม 5 แห่ง 450 เมกะวัตต์ในนามวินด์ เอนเนอร์ยี่โฮลดิ้ง

ว่ากันว่า ดีลนี้เป็นดีลประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึง ธนาคารไทยพาณิชย์ เชื่อมั่นต่อ ครอบครัวณรงค์เดช เป็นเครดิตที่มาจากสายสัมพันธ์กันกับธุรกิจณรงค์เดชมาต่อเนื่อง นอกจากประเมินว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปัจจัยบวกดังกล่าว น่าจะทำให้ วินด์ เอนเนอร์ยี่ เดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี ทว่า ปัญหากลับเกิดขึ้นภายใน เพราะภายหลังจากเกษมผู้เป็นบิดา และครอบครัวณรงค์เดช ได้มอบหมายให้ณพเป็นตัวแทนแล้ว ณพ กลับไม่ได้รายงาน หรือ แจ้งข้อขัดข้องหรือปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ให้บิดาและครอบครัวทราบ ซึ่งเกษมและครอบครัวทราบแต่เพียงว่า ณพได้นําเงินสด รวมทั้งหลักทรัพย์ของครอบครัวณรงค์เดชไปลงทุนซื้อหุ้น WEH เท่านั้น ซึ่งการชําระเงินค่าหุ้น WEH ให้แก่กลุ่มบริษัทของนพพรมีการตกลงชําระค่าหุ้นตามสัญญาซื้อขายหุ้นกันเป็นรายงวด

โป๊ะแตกเบื้องหลังซื้อหุ้นสู่การฟ้องคดี

ณพ กับ การซื้อขายหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ ดำเนินไป 2 ปี จู่ๆ ครอบครัวณรงค์เดชถึงกับช็อกเมื่อมีหมายศาลมาถึงที่บ้าน

วันที่ 23 มกราคม 2561 3 บริษัทของนพพร ได้แก่ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด บริษัท เน็กซ์โกลบอลอินเวสต์เมนท์ส จํากัด และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ได้เป็นโจทก์ฟ้องณพเป็นจําเลยที่ 1 กับพวกรวม 13 คน โดยมีกฤษณ์ ณรงค์เดช เป็นจําเลยที่ 4 เกษม ณรงค์เดช เป็นจําเลยที่ 13 ในข้อหาหรือฐานความผิดโกงเจ้าหนี้ต่อศาลแขวงพระนครใต้ คดีหมายเลขดําที่ 157/2561 ระหว่างบริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน โจทก์ กับ ณพ ณรงค์เดช ที่ 1 กับพวกรวม 13 คน จําเลย

หลังจากนั้น เกษม และ ครอบครัวจึงได้เรียก ณพ มาสอบถามเกี่ยวกับหุ้น WEH ที่ได้รับโอนมาจากนพพรรวมทั้งข้อเท็จจริงที่ถูกฟ้องร้องดําเนินคดีดังกล่าว เนื่องจากตามคําฟ้องของผู้ขายกล่าวอ้างว่า ในวันที่ 25 เมษายน 2559 ณพได้ดําเนินการโอนหุ้นจาก KPNET ในฐานะผู้ขายมาให้เกษมในฐานะผู้ซื้อ ตามสัญญาซื้อขายหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ แต่มีรายงานว่า ครอบครัวไม่ได้ข้อเท็จจริงที่มีความชัดเจนจากณพแต่อย่างใด

ว่ากันว่า ณพ แจ้งเพียงว่า นพพรอยากได้หุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่กลับคืน ดังนั้น เกษมจึงได้มอบหมายให้ลูกชายสองคน กฤษณ์ -กรณ์ และทนายความตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหุ้น WEH ที่ให้ณพเป็นตัวแทนไปซื้อมาจากนพพร

ต่อมา มีรายงานว่า เกษมและครอบครัวได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคดีโกงเจ้าหนี้ ภายหลังจากครอบครัวถูกกลุ่มบริษัทของนพพรที่ขายหุ้นฟ้องแล้วนั้นเกี่ยวกับการดําเนินการของณพเพื่อซื้อหุ้น WEH ว่า ณพได้จัดตั้ง บริษัท ฟูลเลอร์ตัน เบย์ อิน เวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด (“Fullerton”) ขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 โดย ณพ ถือหุ้น 100% และได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เคพีเอ็นเอนเนอยี โฮลดิ้ง จํากัด (“KPNEH”) ขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 โดย ณพ ถือหุ้น 40% Fullerton บริษัทส่วนตัวของณพ ถือ 20% นางเอม่า ลูอิส คอลลินส์ ถือ 20% นายธันว์ เหรียญสุวรรณ ถือ 20% เพื่อให้ทั้งสองบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเข้าทําสัญญาซื้อหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่จากกลุ่มบริษัทของนพพร โดยทําสัญญาซื้อขายหุ้น กับ บริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น หรือ REC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน วินด์ เอนเนอร์ยี่ให้ นพพร เป็น 2 ฉบับ ได้แก่

ฉบับที่ 1 สัญญาซื้อขายหุ้น REC ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2558 และ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ระหว่างบริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด ผู้ขาย กับ Fullerton ผู้ซื้อจํานวน 6,492,500 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 49 ของจํานวนหุ้นทั้งหมดใน REC โดยตกลงซื้อขายหุ้นในราคา 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐ

ฉบับที่ 2 สัญญาซื้อขายหุ้น REC ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2558 และ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ระหว่างบริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จํากัด และบริษัทไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ผู้ขาย กับ KPNEH จํานวน 6,617,570 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 49.94 ของจํานวนหุ้นทั้งหมดใน REC โดยตกลงซื้อขายหุ้นในราคา 89.25 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายหุ้นทั้งสองสัญญาดังกล่าวมีข้อตกลงว่า หากโครงการของกลุ่มบริษัทที่ WEH เข้าไปถือหุ้นสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ครบตามแผนงานของบริษัท และ วินด์ เอนเนอร์ยี่สามารถเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering หรือ IPO) ได้ กลุ่มบริษัทนพพรซึ่งเป็นฝ่ายผู้ขายจะได้รับเงินเพิ่มอีกเป็นเงินจํานวน 525 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้น เมื่อได้ทําสัญญาซื้อขายและนพพรโอนหุ้น REC ให้ผู้ซื้อแล้ว Fullerton และ KPNEH ซึ่งเป็นบริษัทที่ณพตั้งขึ้นมาซื้อหุ้นจากนพพรแทนครอบครัวจึงเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน วินด์ เอนเนอร์ยี่ผ่านทาง REC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จํานวน 64,717,411 หุ้น คิดเป็น 59.46% ของจํานวนหุ้นทั้งหมดใน WEH

และต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อ REC เป็นบริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จํากัด (“KPNET”) แต่เมื่อครบกําหนดระยะเวลาชําระราคาค่าซื้อหุ้นสัญญาซื้อขายหุ้นฉบับที่ 2 งวดแรกของ บริษัท เคพีเอ็นเอนเนอยี โฮลดิ้ง จํากัด ของณพ จํานวน 89.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 25 กันยายน 2558 ณพได้ชําระค่าซื้อหุ้นล่าช้าจนต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดให้กับผู้ขายหุ้น และยังมีข้อโต้แย้งเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดอีกบางส่วน ทั้งที่ ครอบครัวได้ให้ณพนําเงินสด ทรัพย์สิน และหลักทรัพย์ของครอบครัวไปเป็นเงินลงทุนเพื่อชําระเงินค่าหุ้นตามสัญญา

เมื่อครบกําหนดระยะเวลาชําระราคาค่าซื้อหุ้นสัญญาซื้อขายหุ้นฉบับที่ 1 งวดแรกของ Fullerton ซึ่งเป็นบริษัทของณพ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2558 จํานวน 85.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ณพก็ไม่ได้ชําระราคาค่าซื้อหุ้นให้ผู้ขาย โดยไม่ได้รายงานหรือชี้แจงข้อขัดข้องหรือปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการชําระเงินค่าหุ้น WEH ให้บิดาและครอบครัวทราบแต่อย่างใด โดยเกษมและครอบครัวเข้าใจว่า การซื้อขายหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่ที่ได้มอบหมายให้ณพไปดําเนินการแทน และนพพรได้โอนหุ้นมาแล้วนั้นไม่มีปัญหาใดๆ

เมื่อณพไม่ชําระค่าซื้อหุ้นตามสัญญา ในวันที่ 26 มกราคม 2559 บริษัท ซิมโฟนี่พาร์ตเนอร์ส จํากัด ผู้ขาย ได้เสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับการประพฤติผิดสัญญาต่อศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติ (“ศาล ICC”) และ วันที่ 25 มีนาคม 2559 บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จํากัด และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ของนพพรผู้ขาย ได้เสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับการประพฤติผิดสัญญาต่อศาล ICC เช่นกัน

ประมาณกลางปี 2561 เกษมได้รับหนังสือจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ว่า เกษมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด จํากัด (“GML”) และ ศาลฮ่องกงได้มีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้าม GML โอนหุ้น วินด์เอนเนอร์ยี่ไปจาก GML จึงทราบว่า ณพได้โอนหุ้น วินด์เอนเนอร์ยี่ที่ได้รับโอนมาแล้วโอนไปอีกเป็นทอดๆ จนถึง GML โดยมีเกษมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน GML ทั้งๆ ที่เกษมไม่ได้รับรู้เลย เพิ่งมารับทราบภายหลังจากถูกฟ้องคดีโกงเจ้าหนี้แล้ว นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ข้อพิพาทการฟ้องคดี

เพราะเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้น วินด์เอนเนอร์ยี่ การซื้อขายถ่ายโอนล้วนมีความลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเกิดขึ้นระหว่างทาง ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่หมดเพียงเท่านี้

ว่ากันว่า กระบวนท่า และวิธีการอันน่าตระหนกยิ่งยังมีอีกหนึ่งจุดที่สำคัญ คือ นิติกรรม การปลอมลายเซ็นเกษม และ เอกสารปลอม ซึ่งต่อมา ครอบครัวณรงค์เดช ที่มีเกษม กฤษณ์ และ กรณ์ สู้สุดตัว เพื่อพิสูจน์ให้ความจริงปรากฏ กับ อีกฝ่ายที่มี ณพ และ คุณหญิงกอแก้ว แม่ยาย จนกลายเป็นคดีที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง.

โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 “คดีปลอมลายเซ็นต์” !! ได้ในวันพฤหัสบดีหน้า

Source