โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth
แม้ผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ครั้ง 2 ในรอบปี 2565 เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่นักลงทุนทั่วโลกยังคงปั่นป่วนกับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด ด้วยคำถามตัวโตๆ ว่าจะควบคุมเงินเฟ้อสูงได้จริงหรือไม่ และเศรษฐกิจจะไปต่อหรือถดถอย?
จากผลประชุมเฟดเมื่อวันที่ 3-4 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ออกมาตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ และถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 22 ปี เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทยานขึ้นอย่างรุนแรง พร้อมกับส่งสัญญาณชัดเจนต่อทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในระยะข้างหน้าด้วย เพื่อช่วยประคองเสถียรภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปต่อได้ไม่สะดุด
เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง แก้โจทย์เงินเฟ้อ ตลาดลงทุนป่วน
ผมขอย้อนบรรยากาศตลาดหุ้นที่ดีดขึ้นและร่วงลงแรงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากเฟดแถลงผลประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ‘เจอโรม พาวเวลล์’ ประธานเฟดได้แถลงต่อสื่อมวลชนในรอบ 2 ปีว่า ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75% – 1.00% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 พร้อมเปิดแผนปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย. จะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
หลังจากนั้นจะลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ซึ่งงบดุลดังกล่าวประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) โดยขณะนี้มีมูลค่ารวม 8.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเฟดจะปล่อยให้ตราสารเหล่านี้หมดอายุไปโดยไม่มีการซื้อเพิ่มแต่อย่างใด
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ นำโดยดัชนี S&P 500 ดีดตัวขึ้นสู่กว่า 1,000 จุดหรือ 2.8% และดัชนี Nasdaq เด้งขึ้น 3.3% อย่างไรก็ตาม ตลาดให้ความสำคัญต่อประเด็นที่คาดว่าเฟดอาจจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในครั้งถัดไป แต่ประธานเฟดได้ตอบปฏิเสธว่ายังไม่มีแผนจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75%ในอนาคตอันใกล้นี้
พร้อมกับย้ำว่า ขนาดยา 0.50% ที่ FOMC จะใช้ในครั้งนี้ หากเกิดประสิทธิผลต่อการสกัดเงินเฟ้อได้และทำให้เศรษฐกิจเป็นไปตามคาดได้ ก็จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุม 2-3 ครั้งข้างหน้าต่อไป ภายใต้การประเมินว่า เริ่มจะเห็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) ถึงจุดสูงสุดแล้ว การที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็ว ก็เพื่อจะให้กลับไปที่ดอกเบี้ย Neutral rate ที่อยู่ระดับ 2-3%
ระทึก!! เศรษฐกิจ ‘soft landing’ หรือ ‘ถดถอย’
ประธานเฟดยังเลี่ยงที่จะตอบว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ โดยระบุแค่ว่า มีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจชะลอตัวลงในลักษณะ ‘soft landing’ แต่ก็ยังขยายตัวสูงกว่า 2% เนื่องจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และตลาดแรงงานก็อยู่ในภาวะที่แข็งแกร่งมากด้วย แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นความท้าทายเช่นกัน
ถ้อยแถลงเหล่านี้ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนได้เลย เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังพุ่งแรง จากตัวเร่งจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ประกาศแบนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย ดันราคาพลังงานพุ่งขึ้นรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นผลลบต่อทิศทางการลงทุน จึงทำให้วันต่อมาหลังเฟดแถลง ก็เกิดแรงเทขายอย่างหนักจากนักลงทุน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวร่วงแรงกว่า 1,000 จุด และ Nasdaq ลบ 5%
ส่วนความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม Bond Yield อายุ 10 ปีได้ปรับตัวทะลุ 3% และดีดสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 3.12% ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบปี ถือเป็นสัญญาณว่านักลงทุนกำลังมองว่า FED มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วและสูงขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาเรื่องการจ้างงานที่แข็งแกร่งอีกต่อไป
2 ตัวแปร ‘เงินเฟ้อพุ่งต่อ-จ้างงานแข็งแกร่ง’ บีบเฟดขึ้น 0.75%
สิ่งที่ตลาดกำลังจับจ้องเวลานี้ มี 2 ตัวแปรที่จะมีผลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% หรือไม่ ได้แก่
1. ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปหรือดัชนีผู้บริโภค (CPI) เดือนเมษายนว่าจะปรับลดลงมาต่ำกว่าเดือนมีนาคมที่อยู่ระดับ 8.5% หรือไม่ เพราะดัชนี CPI มีแต่ปรับตัวขึ้นแรงตลอด ตั้งแต่เดือนมกราคม ดัชนี CPI อยู่ที่ 7.5% สูงสุดในรอบ 40 ปี และต่อเนื่องมาเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 7.9% และเดือนมีนาคมอยู่ที่ 8.5% สูงสุดนับจากเดือนธันวาคม 2524 หรือรอบ 41 ปีนั่นเอง แน่นอนว่า หากตัวเลขเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าคาด จะช่วยคลายกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง แต่หากตัวเลขเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด แรงกดดันต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันตลาดลงทุนอีกระลอก และนี่จึงทำให้ตลาดลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆเกิดความผันผวนอยู่ในช่วงเวลานี้
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นแรง มาจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและกระทบไปยังการปรับขึ้นราคาสินค้า อาหาร ราคาบ้าน ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขับเคลื่อนด้วยภาคการบริโภคสัดส่วนถึง 70% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยิ่งเงินเฟ้อสูงก็ยิ่งกระทบกำลังซื้อชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึงระดับปานกลาง
2. ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payrolls) เดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 428,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 390,000-420,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ (Unemployment Rate) อยู่ที่ 3.6% สะท้อนภาพรวมตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง เอื้อต่อเฟดในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเห็นในรอบการประชุมเดือนมิถุนายนนี้
จะเห็นว่า หลังจากที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้แล้ว ตลาดการเงินโลกเกิดความปั่นป่วนอย่างมาก เพราะเวลานี้ นักลงทุนในตลาดยังต้องจดจ่อกับ 2 ตัวแปรหลักอย่าง ‘อัตราเงินเฟ้อ – ภาวะตลาดแรงงาน’ ที่จะนำมาสู่การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ทั้งๆที่ตัวเลขแรงงานที่แข็งแกร่ง ก็ควรสะท้อนผลเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแรง และลดความวิตกกังวลต่อการเกิดภาวะ Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูงลงได้
แต่อีกด้านก็วิตกกังวลว่า เฟดอาจจะเร่งพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ซึ่งผลที่จะตามมาคือ มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแบบ soft landing ที่เฟดอยากเห็น หรืออาจเข้าสู่ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ ที่ตลาดผวากันอยู่เวลานี้ ซึ่งแน่นอนว่า ตลาดหุ้นย่อมไม่ชอบภาพความอึมครึม ที่ทำให้เกิดสภาวะความไม่แน่นอนต่อการลงทุน เมื่อไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลก จึงเห็นภาพความผันผวนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้
สถิติวัฎจักรขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้ง เศรษฐกิจถดถอย
หากถามว่า มีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากหรือน้อย ถ้ามีการปรับดอกเบี้ยแรงจริงๆ ผมขอนำข้อมูลสถิติในอดีตของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงมาให้ดูครับ
ข้อมูลสถิติการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2508 เฟดได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 11 ครั้ง พบว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) และมีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่เฟดสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ และประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้แบบ soft landing ได้แก่ ปี 2508 ปี 2526 และปี 2536 ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เงินเฟ้อ อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในเวลานั้นเงินเฟ้อสูงสุดไม่เกิน 4% เฟดจึงไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย
แต่สำหรับครั้งนี้ พบว่า สภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากอดีตอย่างมาก ทำให้การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เฟดอาจจะไม่ประสบความสำเร็จประคองเศรษฐกิจลงแบบ soft landing ได้ เนื่องมาจาก 2 เหตุผล
เหตุผลแรก สหรัฐฯ ยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงกว่า 8% เป็นแรงกดดันให้จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อสูง ขณะที่พบว่า Yield Curve (เส้นอัตราผลตอบแทน) ของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และอายุ 2 ปี (ซึ่งใช้ประเมินความเสี่ยงการเกิดภาวะถดถอยในระยะ 19 เดือนข้างหน้า) ได้เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา สะท้อนความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ราวปลายปี 2566 หรือใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี
เหตุผลที่สอง อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield/Interest) หลังหักอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ กำลังจะกลับมาเป็นบวก ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อหันมาหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหรือเสี่ยงต่ำกว่า แต่ได้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน
ผลของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ กับความเสี่ยงเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ Fed Watch ส่งสัญญาณให้น้ำหนักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%ในการประชุมรอบวันที่ 14-15 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่นักลงทุนได้คาดการณ์กันไว้ ท่ามกลางแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆทั่วโลกยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 30 ปีของสหรัฐฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 5.20% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ 3.20% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจจะช่วยชะลอเงินเฟ้อให้ลดลงได้ เนื่องจากความต้องการซื้อบ้านจะชะลอตัวลง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จึงต้องชะลอการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดความร้อนแรงลง
เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเร็วด้วย โดยปีที่แล้ว ราคาบ้านและราคาค่าเช่าบ้าน พุ่งสูงขึ้น 18.8% และ 17.6% ตามลำดับ ซึ่งประธานเฟดก็คาดว่า ดอกเบี้ยสูงจะดึงอุปสงค์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลงมา ช่วยดึงงินเฟ้อลงมาได้เร็ว ซึ่งต้องใช้เวลาพิสูจน์กันต่อไปว่า ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วแค่ไหนที่จะดึงลงมาได้สำเร็จ
ขณะเดียวกัน ผลกระทบอีกด้านก็สำคัญเช่นกัน คือ เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวขึ้นแรง แน่นอนว่า ดอกเบี้ยในตลาดเงินย่อมต้องปรับตัวขึ้นตาม เท่ากับเพิ่มต้นทุนทางการเงินในระบบสูงขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ยกู้ยืม ในส่วนของภาคธุรกิจย่อมกระทบต่อผลกำไร แม้ว่าปีที่ผ่านมา ผลดำเนินงานในภาคเอกชนจะแข็งแกร่ง แต่หากปีนี้ ผลงานออกมาต่ำกว่าปีที่แล้ว ย่อมไม่เป็นผลดีต่อราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้แน่นอน
ในด้านของประชาชนชาวอเมริกันที่มีหนี้สินครัวเรือนไม่น้อย และยังพบว่าชาวอเมริกันออมเงินน้อยลงกว่าช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 เพราะฉะนั้น ย่อมได้รับผลกระทบจากภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นแน่ ทำให้เงินจับจ่ายใช้สอยลดลง นั่นหมายความว่า ภาคบริโภคที่มีขนาดใหญ่สัดส่วน 70% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้องสะดุดลง ขาดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเกิดภาวะชะลอตัวจนถึงภาวะถดถอยได้ ซึ่งมีระยะเวลากว่า 1 ปีที่จะเห็นว่าภาพนี้เกิดขึ้นหรือไม่
แน่นอนเมื่อเศรษฐกิจหลักของโลกอย่าง ‘สหรัฐฯ’ เกิดภาวะถดถอย ประเทศคู่ค้าต่างๆ ย่อมได้รับผลกระทบทางการค้าอย่างหลีกเลียงไม่ได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศที่เพิ่งสร่างไข้จากผลกระทบโควิด-19 อาจต้องถูกกระแทกซ้ำ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจึงมีความเสี่ยงตามไปด้วย
นี่คือผลของการขึ้นดอกเบี้ยแรงของเฟดในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อสู้กับเงินเฟ้อสูง แต่กลับเอาไม่อยู่ กลายเป็นผลักเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย นับเป็นรอบวัฎจักเศรษฐกิจของโลกที่มีช่วงเวลาสั้นมาก
ช่วงที่เหลือปีนี้ รับมือกับความผันผวนการลงทุน
สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผมก็มองว่า นักลงทุนยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนที่จะเกิดขึ้นตามการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะข้างหน้านี้
หากเป็นการลงทุนระยะยาวแล้ว จะเชื่อว่าความเสี่ยงที่กำลังเผชิญอยู่ จะจบลงได้อย่างแน่นอน ในที่สุดทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เช่นกัน แต่หากใครที่มองว่า ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสของการเพิ่มทุน เพื่อเลือกซื้อหุ้นดี และ ETF ในราคาที่ถูกกว่าเดิมก็ย่อมทำได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับจิตใจของนักลงทุนจะแข็งแกร่งเพียงใด