ในขณะที่หลายประเทศเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ COVID-19 แต่ไม่ใช่กับ จีน ที่มีนโยบาย Zero Covid ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมา หากเมืองไหนเกิดการระบาดของ COVID-19 ทางรัฐบาลก็จะสั่งล็อกดาวน์ และด้วยความที่จีนถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าทั่วโลกโดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน และหนึ่งในนั้นก็คือ Apple
ล่าสุด Apple ก็ได้เปิดเผยว่า บริษัทกำลังมองหา ฐานการผลิตนอกประเทศจีน เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากมาตรการ Zero Covid ของจีน ซึ่งบริษัทได้เล็ง อินเดีย และ เวียดนาม เป็นฐานการผลิตเพิ่มเติมนอกจากจีน นักวิเคราะห์มองว่า แนวคิดดังกล่าวอาจทำให้บริษัทอื่น ๆ เริ่มมองหาฐานผลิตเพิ่มเติมนอกจากจีนด้วยเช่นกัน เนื่องจากมองว่า รัฐบาลจีนกำลังสนับสนุน รัสเซีย ที่ทำสงครามกับยูเครนในทางอ้อมอยู่
นักวิเคราะห์ คาดว่า กว่า 90% ของผลิตภัณฑ์ Apple ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPads และ MacBook ผลิตขึ้นในประเทศจีนโดยผู้รับเหมาภายนอกประเทศ ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ทุกครั้งที่เกิดการระบาดย่อมส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตไม่เว้นแม้กระทั่ง Apple โดยมีการคาดการณ์ว่า มาตรการดังกล่าวกระทบโดยตรงกับรายได้ของ Apple ซึ่งตีเป็นมูลค่าถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา หรือราว 2.7 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่ผลกระทบด้านซัพพลายเชนที่หยุดชะงัก แต่มาตรการที่เข้มงวดในจีนทำให้ Apple ไม่สามารถส่งผู้บริหารหรือวิศวกรเข้าประเทศจีนได้เลยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยากต่อการตรวจสอบถึงมาตรฐานสถานที่ผลิตด้วยตัวเองได้
ทำไมต้อง อินเดีย-เวียดนาม
อินเดีย ถือเป็นหนึ่งในชื่อแรกที่ Apple ระบุที่จะใช้เป็นฐานการผลิตใหม่ เนื่องจากอินเดียมีความใกล้เคียงกับจีนในแง่การผลิต แม้ว่าแรงงานอาจจะไม่มีคุณสมบัติเท่ากับประชากรจีนก็ตาม แต่จำนวนประชากรและค่าแรงที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นฐานการผลิต iPhone อยู่แล้ว โดยมีสัดส่วนราว 3.1% ซึ่งในปีนี้มีการคาดการณ์จาก Counterpoint ว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 6-7%
นอกจากอินเดียแล้วก็มี เวียดนาม เป็นอีกตัวเลือก เพราะด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีระหว่างจีนและอินเดีย ทำให้ซัพพลายในจีนไม่สามารถเพิ่มหรือย้ายกำลังการผลิตในอินเดียได้ ซึ่งปัจจุบัน เวียดนามเป็นฐานการผลิตสมาร์ตโฟนของ Samsung อีกด้วย ซึ่งแปลว่า แรงงานอาจมีความรู้หรือทักษาเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงพอต่อการผลิตในอนาคต
ก็ไม่รู้ว่าอนาคต Apple จะขยายไปที่ประเทศไหน จะเป็นอินเดียหรือเวียดนาม แต่นี่อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับไทยก็ได้ที่ถูกมองข้ามแบบนี้