อสังหาฯ เจ้าถิ่นเมืองนนท์ “ธนาสิริ” จับมือพันธมิตรญี่ปุ่น “อนาบูกิ” ลงทุน 3 โครงการ

ธนาสิริ อนาบูกิ
“ธนาสิริ” เจ้าถิ่นตลาดอสังหาฯ นนทบุรีและกรุงเทพฯ โซนเหนือ หลังจากพลิกกลับมาทำกำไรสำเร็จเมื่อปี 2564 แผนธุรกิจจากนี้จะเติบโตอย่างยั่งยืน โดยร่วมทุนรายโครงการกับพันธมิตรญี่ปุ่น “อนาบูกิ โคซัน” มีการลงทุนหรือเจรจาแล้ว 3 โครงการ และจะเป็นการจับมือระยะยาว พร้อมสร้างแบรนด์ชูจุดเด่นใส่ใจดูแลลูกค้า ตั้งงบอย่างน้อย 2 ล้านบาทตรวจสภาพ-ปรับปรุงโครงการเก่า

“สุทธิรักษ์ เสถียรภาพอยุทธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THANA กล่าวถึงผลประกอบการบริษัทที่สามารถพลิกกลับมาทำกำไรสำเร็จหลังขาดทุนติดต่อกันหลายปี โดยปี 2564 บริษัทมียอดขาย 843 ล้านบาท รายได้ 581 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 7.5%

หลังจากนี้บริษัทต้องการจะกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้แผน 3 ปี (2565-67) จากปีนี้ตั้งเป้ายอดขาย 1,200 ล้านบาท ไปสู่เป้ายอดขาย 2,800 ล้านบาทภายในปี 2567 และเป้ารายได้ปีนี้ 1,000 ล้านบาท สู่เป้ารายได้ 2,400 ล้านบาทในปี 2567

ธนาสิริ
เป้าหมาย 3 ปีของธนาสิริ

ธนาสิรินั้นถือเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในพื้นที่นนทบุรีจนถึงกรุงเทพฯ โซนเหนือ รวมถึงมีการขยายออกต่างจังหวัดมาแล้ว 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต, อุดรธานี และสกลนคร โดยมีการพัฒนาโครงการสะสม 28 โครงการ ในรอบ 35 ปีที่ก่อตั้งบริษัท อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการเติบโต 3 เท่าใน 3 ปี บริษัทจึงต้องมีการขยายตัวออกนอกโซนถนัดที่เป็นฐานของตนเองด้วย

สุทธิรักษ์กล่าวว่า บริษัทจะเริ่มเปิดโครงการในโซนใหม่คือฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก เช่น บางนา, จตุโชติ คาดว่าจะได้เห็นในปีหน้า ขณะนี้กำลังเล็งทำเลเพื่อจัดซื้อที่ดิน

ทีมงานบริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) : (ซ้าย) “สุทธิรักษ์ เสถียรภาพอยุทธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ (ขวา) “จรัญ เกษร” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ

 

จับมือ “อนาบูกิ” พาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์

อีกส่วนที่จะช่วยให้ธนาสิริเติบโตได้เร็วขึ้นคือการร่วมทุนเป็นรายโครงการ โดยบริษัทเลือกจับมือกับ “อนาบูกิ โคซัน” บริษัทอสังหาริมทรัพย์จากญี่ปุ่น โดยเป็นอสังหาฯ รายกลางจากจังหวัดคากาวะ พัฒนาโครงการในภาคตะวันตกของญี่ปุ่นเป็นหลัก ผลประกอบการเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมา อนาบูกิ โคซันต้องการขยายตัวออกนอกประเทศ และมีไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ทำให้มีการเลือกเจรจากับธนาสิริ และเริ่มโครงการแรกที่ อนาบูกิ ธนาฮาบิแทต สะพานมหาเจษฎาบดินทร์-ราชพฤกษ์ บ้านแฝดและทาวน์โฮม ราคา 5.59-8 ล้านบาท จำนวนเพียง 88 หลัง เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2563

ธนาสิริ
อนาบูกิ ธนาฮาบิแทต ราชพฤกษ์ เตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้

หลังประสบความสำเร็จโครงการแรกใกล้ขายหมด ทำให้มีการจอยต์เวนเจอร์อีกในโครงการที่สอง อนาบูกิ ธนาฮาบิแทต ราชพฤกษ์ มูลค่าโครงการ 1,070 ล้านบาท บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด 167 ยูนิต ราคาเฉลี่ย 6.4 ล้านบาท เตรียมเปิดขายในไตรมาส 2 ปีนี้

ส่วนโครงการที่สามที่จะร่วมทุนกัน สุทธิรักษ์ระบุว่าทางอนาบูกิมีการพูดคุยถึงความพร้อมที่จะลงทุนแล้ว ซึ่งบริษัทคาดว่าน่าจะเปิดตัวปีหน้า เบื้องต้นจะเป็นโครงการบ้านแฝดราคาเริ่มต้น 3 ล้านบาท เนื่องจากอนาบูกิต้องการจะพัฒนาสินค้าราคาต่ำลงเพื่อเจาะตลาดระดับแมสให้ได้มากขึ้น และในการร่วมมือกับอนาบูกิ ธนาสิริมองเป็นความร่วมมือในระยะยาว จะมีการนำองค์ความรู้ต่างๆ จากทางญี่ปุ่นเข้ามาใช้ในไทยอย่างต่อเนื่อง

ธนาสิริ

ทั้งนี้ สำหรับการเปิดตัวโครงการทั้งหมดของธนาสิริในปี 2565 จะประกอบด้วย 3 โครงการ มูลค่ารวม 2,370 ล้านบาท ได้แก่

  • อนาบูกิ ธนาฮาบิแทต ราชพฤกษ์ บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด ราคาเฉลี่ย 6.4 ล้าน มูลค่าโครงการ 1,070 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 2/65
  • ธนาเรสซิเดนซ์ บรมราชชนนี-ปิ่นเกล้า บ้านเดี่ยวหรู จำนวน 47 ยูนิต ราคาเฉลี่ย 17 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 3/65
  • ธนาวิลเลจ วงแหวนปิ่นเกล้า-ศิริราช บ้านแฝด จำนวน 115 ยูนิต ราคาเฉลี่ย 4.3 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 500 ล้านบาท เปิดขายไตรมาส 4/65

 

เน้นงานหลังการขาย ดูแลชุมชน

ด้านการสร้างแบรนด์ธนาสิริให้ชัดขึ้นพร้อมกับการขยายตัว สุทธิรักษ์กล่าวถึงการตอกย้ำเรื่องการดูแลหลังขายของบริษัทให้ชัดเจนขึ้น ตามสโลแกนบริษัท “ธนาสิริ…เราดูแล” ซึ่งจะนำทีมโดยผู้บริหารระดับสูง คือ “จรัญ เกษร” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ

จรัญกล่าวถึงโมเดลธุรกิจ “Model Total Green” ของธนาสิริที่จะทำงานให้เกิดความยั่งยืนตลอดการทำโครงการ ตั้งแต่การจัดหาที่ดินที่โปร่งใส ลดผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิม โครงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุก่อสร้างพอเหมาะไม่เหลือเศษ และบริหารชุมชนให้เป็นชุมชนน่าอยู่

ธนาสิริ

แนวความคิดเหล่านี้จะได้เห็นตั้งแต่ปีนี้ ทางธนาสิริมีการจัดตั้งทีมช่าง “Home Smile” ใช้งบลงทุน 1 ล้านบาท เพื่อเข้าไปตรวจสอบสภาพบ้านในโครงการเก่าอายุมากกว่า 10 ปีของบริษัท รวมถึงมีงบลงทุนอีกอย่างน้อย 1 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางของโครงการเก่าเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพดี และอาจมีการแก้ไขให้เหมาะกับผู้สูงวัย เป็น Universal Design

ด้านการบริหารชุมชน กำลังอยู่ระหว่างออกแบบโมเดลใหม่ ทำให้พื้นที่หน้าโครงการหมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยบางโครงการที่มีที่ดินหน้ากว้าง จะมีที่ดินเหลือ 200-400 ตารางวา ซึ่งบริษัทไม่ต้องการสร้างอาคารพาณิชย์ขาย แต่ต้องการจะสร้างเป็นพื้นที่สำหรับคนในหมู่บ้านมากกว่า เช่น เป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนนำสินค้ามาจำหน่าย หรือเปิดร้านที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ คาดว่าจะได้เห็นโปรโตไทป์แรกที่อนาบูกิ ฮาบิแทต ราชพฤกษ์ ช่วงปี 2566

“สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่าการสร้างแบรนด์ของเรา แต่ตลาดอสังหาฯ ไทยมีมูลค่าปีละ 2-3 แสนล้านบาท เราอยากจะให้เห็นว่า การดูแลชุมชนแบบนี้ไม่ได้กระเทือนตัวเลขของบริษัทขนาดนั้น และมีประโยชน์ในด้านความยั่งยืน” จรัญกล่าว