ไขข้อข้องใจ “หวยทิพย์” คืออะไร? ต่างจากลอตเตอรี่ตรงไหน ทำไมถึงผิดกฎหมาย

หวยทิพย์ เป็นคำนิยามของการปลอมแปลงหวย หรือการซื้อหวยแบบไม่มีตัวเลข มาจากคำว่า ทิพย์ ที่ในภาษาปัจจุบันแปลว่า อะไรก็ตามที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อรวมกับคำว่า “หวย” จึงแปลได้ว่า เป็นหวยที่ไม่มีอยู่จริง แม้เราจะซื้อเลข จองเลข จ่ายเงินเป็นที่เรียบร้อย แต่เรากลับไม่ได้อะไรกลับมาเลยนั่นเอง

อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ คนที่ขายหวยทิพย์ ผู้ค้าสลากบางเจ้าจะขายสลากลอตเตอรี่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย ให้คนเลือกซื้อลอตเตอรี่ จากที่มีการสแกนขึ้นโชว์เป็นรูป เมื่อเลือกซื้อแล้ว ลอตเตอรี่จะเก็บอยู่ในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์

แต่เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่า เจ้าไหนจะมีใบลอตเตอรี่จริงให้เราหรือไม่ จนกว่าผู้ซื้อจะเรียกขอสลากฉบับจริง ช่องโหว่ตรงนี้ จะทำให้ผู้ขายบางคนเลือกขายหวยทิพย์ เกิดการเวียนลอตเตอรี่ขายซ้ำ ๆ กับผู้ซื้อหลายรายได้ จากเดิมที่ปกติขายสลาก จะซื้อ 1 ใบ ต่อ 1 คนเท่านั้น เป็นต้น

สำหรับคดี “หวยทิพย์” ศาลอนุมัติหมายจับทั้งหมด 3 คน คือ ต๊ะ บอยสเกาท์ ทำหน้าที่โฆษณาชักชวน มีตำเเหน่งประธานบริษัทโดยพฤตินัย , น.ส.มินตรา ขุนสวัสดิ์ กรรมการบริหารบริษัทผู้มีอำนาจลงนาม เเละ “แอนนา” ทำหน้าที่ CEO ผู้บริหาร คอยโฆษณาเชิญชวนในเฟชบุ๊ก

โดย ทั้ง 3 คน ถูกดำเนินคดี 3 ข้อหา ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันลักลอบจัดให้มีการเล่นพนันสลากกิน รวบพนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Source