“กองสลาก” รีเเบรนด์ใหญ่ในรอบ 80 ปี เตรียมออก “หวยออนไลน์ 4 เเบบ” หวังเเก้ขายเกินราคา

กองสลากฯ รีเเบรนด์ในรอบ 80 ปี ให้เรียกชื่อ GLO จับมือเอเยนซี่เจ้าใหญ่สลัดภาพองค์กรเก่าให้เข้าถึงง่าย เตรียมดัน “หวยออนไลน์ 4 เเบบ” ให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง คาดทำประชาพิจารณ์ได้ช่วงปลายปี หวังแก้ไขปัญหาขายเกินราคา

รายงานของ TMB ระบุว่าในปี 2018 คนไทย 1 ใน 4 หรือประมาณ 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่และหวยรวมกัน 250,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 3 เท่าของมูลค่าซื้อกองทุน LTF และ RMF หรือเทียบเท่ากับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยคนไทยกว่า 9 ล้านคน เข้าขั้นเสพติดหวย แบ่งเป็นชื่นชอบ 7.6 ล้านคน และติดหวย 1.3 ล้านคน

สะท้อนได้ว่าคนไทยเชื่อว่า “หวยเป็นความหวังและทำให้ชีวิตดีขึ้น”  ในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีเเละรายได้น้อยเเต่ก็ยังเลือกที่จะเสี่ยงโชค

ด้วยความนิยมนี้ทำให้รายได้ของ “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2562 ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้นำส่งรัฐสูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนเงินกว่า 41,000 ล้านบาท พร้อมการออกสลากฯ
การกุศลให้กับหน่วยงานต่างๆ กว่า 16 หน่วยงาน คิดเป็นมูลค่าร่วม 8,000 ล้านบาท

เเม้ “ลอตเตอรี่” จะขายดิบขายดี เเต่ภาพลักษณ์ของ “กองสลากฯ” ก็ยังดูเข้าถึงยากเเละมีประเด็นดราม่าหลายครั้ง อย่างการโดนวิจารณ์เรื่องมาตรการควบคุมราคาขาย 80 ปี รวมถึงการออกสลากฯ เเบบต่างๆ  

มาถึงวันนี้ กองสลากฯ จึงเลือกจะ “รีเเบรนด์” ครั้งเเรกในรอบ 80 ปี ทำให้ทันสมัยขึ้นเเละเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อเตรียมเข้าสู่ตลาดออนไลน์เต็มที่ 

อยากให้เรียกชื่อกองสลากฯ ว่า “GLO” 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อสารองค์กร กล่าวถึงที่มาของการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสำนักงานสลากฯ ในรอบ 80 ปีครั้งนี้ว่า เราต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ เน้นการสื่อสารเเบบใหม่ ให้ผู้ซื้อเเละผู้จำหน่ายสลากฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย “ภูมิใจ” ที่ได้ช่วยเหลือสังคม 

สำหรับโลโก้ใหม่ที่ออกมา มีคอนเซ็ปต์ว่าต้อง “ไม่ซับซ้อนเเละสดใสขึ้น” เเม้มองผ่านๆ โลโก้ส่วนที่เป็น“นกวายุภักษ์” จะคล้ายโลโก้เดิมตามกระทรวงการคลัง เเต่ก็มีการปรับสีน้ำเงินให้เข้มขึ้น ตัดชื่อสำนักงานที่เป็นภาษาไทยออก นำโลโก้ที่ทำใหม่ครั้งเเรกมาใช้คือตัวอักษรที่เป็นตัวย่อชื่อภาษาอังกฤษของสำนักงานว่า “GLO” มีการนำสีเหลืองเเละสีฟ้ามาเพิ่มความสดใส มีความหมายถึงสีฟ้าที่ผ่องอำไพ

“เราอยากขอให้คนเรียกชื่อกองสลากฯ ว่า GLO (จี-เเอล-โอ) เพื่อความทันสมัยเหมือนองค์กรเอกชนหลายบริษัทที่รีเเบรนด์เเล้วก็ดูดีขึ้นมาก” 

เบื้องหลังการ “รีเเบรนด์” ครั้งนี้ ดูจะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ เพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้จับมือกับเอเยนซี่ด้านประชาสัมพันธ์อย่างกลุ่มบริษัท โอกิลวี่ ประเทศไทย (Ogilvy Thailand) และซูเปอร์ยูเนียน (Superunion) พร้อมทั้งสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยปรับภาพลักษณ์และโฆษณาสื่อสาร “เพื่อให้หลุดกรอบจากภาพองค์กรของรัฐเเบบเก่า” 

โดยมีเเผนตั้งเเต่ปลูกฝังความเข้าใจเรื่องการสร้างแบรนด์ในกลุ่มพนักงาน การจัดฝึกอบรมพนักงานที่เน้นประสิทธิภาพการทำงานและการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการนำ “ภาพยนตร์โฆษณา” มาสร้างการรับรู้ของระชาชนในวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังมีการสร้าง “GLO Brand Ambassador” โดยนำพนักงานที่เป็น “คนรุ่นใหม่” มาเป็นตัวเเทนภาพลักษณ์ขององค์กร พร้อมมีการจัดทำเครื่องแบบใหม่ให้กับพนักงานด้วย เเละจะมีตัวมาสคอต “GLO Man & GLO Women” ตัวเเทนประชาชนที่เป็น “ฮีโร่” ซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

เมื่อถามว่าทำไมจึงเลือก “รีเเบรนด์” ในช่วงนี้ ดร.ธนวรรธน์ตอบว่า “เป็นโอกาสครบรอบ 80 ปีประกอบกับปีนี้เราต้องการจะเข้าถึงประชาชนทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้เข้าใจง่ายเเละเข้าถึงง่าย โดยกำลังจะมีสลากฯออนไลน์ 4 เเบบมาให้เป็นทางเลือก ซึ่งจะต้องฟังเสียงประชาพิจารณ์ก่อน คาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปีเพราะตอนนี้ติดปัญหา Covid-19″

ลุย “หวยออนไลน์ 4 เเบบ” หวังเเก้ขายเกินราคา

ย้อนไปเมื่อช่วงที่ผ่านมากองสลากฯ เคยนำเสนอผลิตภัณฑ์ “12 นักษัตร” ออกสู่สังคมเเล้ว ซึ่งตอนนั้นประชาชนต่างออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ทั้งมองว่าเป็นการมอมเมา การแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดในการควบคุมราคาจำหน่ายสลากในราคา 80 บาท ไม่สามารถแก้หวยใต้ดินได้ รวมถึงกระทบผู้ขายด้วย 

กองสลากฯ จึง “ตั้งหลักใหม่” กลับไปทบทวนและศึกษาพิจารณาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้ง 4 รูปแบบอีกครั้งในปีนี้ โดยเชื่อว่าจะครอบคลุมและดูแลได้ตรงจุดมากขึ้น

สำหรับผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ที่ศึกษาอยู่มี 4 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย สลาก 12 นักษัตร, สลากออนไลน์ตัวเลข 3 ตัว, สลากลอตโต้เหมือนในต่างประเทศ และสลากตัวเลข 6 หลักเเบบใบเดิม ใช้รูปแบบ
ผู้จำหน่ายคนเดิม แต่จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเข้าไปแก้ไขการขายเกินราคา 80 บาท

“เรามีความตั้งใจจะทำให้สลากออนไลน์ เกิดขึ้นได้ในยุคการบริหารรของบอร์ดชุดนี้ ซึ่งเหลือเวลาอยู่อีก 2 ปี เมื่อถึงเวลาทำประชาพิจารณ์จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะให้เราทำหรือไม่ หากสังคมยังปฏิเสธ ก็พร้อมที่จะหยุดดำเนินการ” ดร.ธนวรรธน์ระบุ

ทั้งนี้ ขั้นตอนการผลักดันสลากออนไลน์ให้เป็นจริงนั้น หลังจากมีการเสนอจะต้องผ่าน 3 ขั้นตอน คือ ยกร่างประกาศ/กฎกระทรวง นำไปรับฟังความเห็น และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ด้าน พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองสลากฯ จำกัดยอดพิมพ์สลากไว่สูงสุดที่ 100 ล้านใบ ซึ่งเเต่ละงวดจะไม่เท่ากัน 60-70 ล้านใบก็มี 

“คนซื้อสลากส่วนใหญ่ของเราเป็นคนรายได้น้อย ในสภาวะเศรษฐกิจเเบบนี้การจะมีเงินถึง 6 ล้านบาทของพวกเขาจึงต้องหวังพึ่งการถูกรางวัลเพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทุกงวดของเราจะมีคนถูกรางวัลอย่างน้อย 50 คน ก็ถือว่าได้เปลี่ยนชีวิตคนจำนวนหนึ่ง”

โดยยอดขายหวยทุกรูปแบบ 60% จะเป็นเงินรางวัล เเละอีก 23% จะถูกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน อีก 12-14% เป็นส่วนตัวเเทน เเละที่เหลืออีก 3-5% (ราว 200 ล้านบาทต่อปี) จะนำไปช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและสาธารณสุข 

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าในช่วงที่เศรษฐกำลังชะลอตัว พฤติกรรมการ “ซื้อสลากฯ” ของคนไทยมีเเนวโน้มเป็นอย่างไร โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ตอบว่า “ตามปกติช่วงเปิดเทอมจะมีการซื้อสลากฯ ลดลงเป็นประจำทุกปี เเละตามสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็มีเเนวโน้มจะลดลงอย่างเเน่นอน เเต่ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณการลดลงที่เเน่ชัดมากนัก”