KitKat ออสเตรเลีย จะเปลี่ยนมาใช้ซองทำจาก “พลาสติกรีไซเคิล” นำร่องขนมอื่น ๆ ของ Nestle

KitKat พลาสติกรีไซเคิล
Nestle ผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ KitKat ในออสเตรเลียให้ผลิตจาก “พลาสติกรีไซเคิล” 30% ของตัวแพ็กเกจจิ้ง โดยจะเป็นการนำร่องสำหรับขนมแบรนด์อื่นๆ ในเครือ

บริษัท Nestle ประกาศนโยบายนี้เพื่อต้อนรับ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” วันที่ 5 มิถุนายน 2022 โดยขนมช็อกโกแลต KitKat ขนาด 45 กรัมมีการจำหน่ายในออสเตรเลียถึงปีละ 40 ล้านชิ้น และบริษัทเตรียมเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ผสมพลาสติกรีไซเคิลตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป พร้อมกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ

การปรับมาใช้พลาสติกรีไซเคิลของขนม KitKat จะทำให้บริษัทลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ 250,000 ตารางเมตร เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 200 สระรวมกัน

มาร์กาเร็ต สจ๊วต ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและความยั่งยืน Nestle Oceania กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทต้องการจะลดการใช้พลาสติกใหม่ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2025 รวมถึงมีเป้าให้พลาสติกทำแพ็กเกจจิ้งเหล่านี้สามารถรีไซเคิลหรือนำไปใช้ใหม่ได้ทั้งหมด

“เราหวังว่าห่อบรรจุภัณฑ์นี้จะไม่เพียงแต่ลดการใช้พลาสติกใหม่ แต่ยังหวังว่าจะเป็นเครื่องเตือนใจว่าการวนกลับมาใช้ใหม่ของพลาสติกประเภทอ่อนนั้นทำได้ รวมถึงความสำคัญของการรีไซเคิลแพ็กเกจจิ้งของคุณด้วย” สจ๊วตกล่าว

“เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้นก็จริง แต่เราอยากจะเห็นอนาคตที่ออสเตรเลียสามารถนำขยะพลาสติกอ่อนมาเปลี่ยนกลับเป็นแพ็กเกจจิ้งอาหารที่เป็นพลาสติกอ่อนได้อีก”

KitKat พลาสติกรีไซเคิล
ด้านหลังซองขนม KitKat ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 30%

เธอยังกล่าวด้วยว่า การที่บริษัทใหญ่อย่าง Nestle จัดซื้อและใช้พลาสติกรีไซเคิล จะทำให้มีบริษัทจำนวนมากขึ้นลงทุนผลิตวัตถุดิบแพ็กเกจจิ้งประเภทนี้ และนำไปสู่การรีไซเคิลมากขึ้น

ในกรณีพลาสติกอ่อนตัวนั้น การนำมารีไซเคิลยังไม่แพร่หลาย และเทคโนโลยีเพื่อจะนำมันมารีไซเคิลหรือใช้ใหม่ก็ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก

“เราต้องตามหาไปทั่วเพื่อจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ แต่เราก็ได้ส่งข้อความออกไปด้วยว่ามันเป็นเรื่องสำคัญในการจัดเก็บและรีไซเคิลพลาสติกอ่อน เพราะเรารู้ว่าผู้บริโภคจะต้องการสินค้าที่ยั่งยืน” สจ๊วตกล่าว

“การจะใช้วัสดุรีไซเคิล 100% นั้นเป็นไปได้แต่ยังทำไม่ได้ในตอนนี้ แต่เราเองจะเดินต่อในการใช้พลาสติกรีไซเคิลในซองบรรจุภัณฑ์สินค้าของเราทั้งหมด” โดยบริษัท Nestle จะศึกษาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่มีว่าสามารถพัฒนากับสินค้าไหนได้บ้างอย่างเหมาะสม

คริส โอดอนเนล ผู้จัดการทั่วไปแผนกขนมและของหวาน กล่าวว่า การเปลี่ยนวัสดุซองห่อขนมจะไม่มีผลต่อสินค้า KitKat จะยังคงสดใหม่และกรอบเหมือนปกติ

“ขณะที่ทุกคนเคยชินกับขวดพลาสติกที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลแล้ว พลาสติกอ่อนที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลแบบนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการ” โอดอนเนลกล่าว

“คำมั่นของเราต่อการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของเราต่อความยั่งยืน ประเด็นอื่นของเรา เช่น การสนับสนุนฟาร์มและชุมชนผลิตโกโก้ รวมถึงการเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2025”

ในออสเตรเลียนั้นมีเครือข่ายองค์กรที่เรียกว่า REDcycle ซึ่งผนึกกำลังกับร้านค้ารีเทลในการตั้งถังรับพลาสติกอ่อน เช่น ซองห่อไอศกรีมแท่ง ซองขนม ถุงขนมปังแถว บับเบิ้ลกันกระแทก ถุงใส่ของสด ฯลฯ เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยองค์กรนี้จะรณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันนำพลาสติกอ่อนมาคืน และติดต่อให้บริษัท/ราชการนำพลาสติกอ่อนไปรีไซเคิลใช้งาน

Source