หากพูดถึงเครือ ‘สหพัฒน์’ เชื่อว่านี่คือชื่อที่อยู่คู่สินค้าอุปโภคบริโภคของคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะ ‘มาม่า’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เปรียบเสมือนเพื่อนยามยากเวลาหิว โดยภายในงานแถลงข่าว งานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาเปิดใจถึงวิกฤตต้นทุนสินค้า ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยว่า ครั้งนี้หนักกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อ 26 ปีที่แล้วเสียอีก
ปัญหาต้นทุนหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง
บุณยสิทธิ์ ยอมรับว่า ปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบมากกว่าช่วง 2 ปีที่เกิดวิกฤตโควิด และส่งผลกระทบรุนแรงกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือ 26 ปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นเงินบาทอ่อนตัวส่งผลให้สินค้าขึ้นราคา แต่เมื่อก่อนเป็นการ ค่อย ๆ ปรับขึ้น แต่ครั้งนี้ ขึ้นพรวดเดียว
“เราจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งแรกเมื่อช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และเวลานี้เหตุการณ์เหมือนกับ 26 ปีที่แล้ว โดยมีสงครามเป็นตัวทำให้ของขึ้นราคาและไม่รู้ว่าจะไปจบตรงไหน ซึ่งตอนนี้ สินค้าที่กระทบสุดมากที่สุด คือ ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม และนำมัน เลยทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกระทบก่อน”
ด้วยปัญหาต้นทุน ทำให้สินค้าในเครือต้องมีการปรับราคาไม่เช่นนั้นบริษัทก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงซักฟอก โดยตอนนี้กำลังรอเจรจากับกระทรวงพาณิชย์เพื่ออนุมัติเรื่องการปรับราคาเนื่องจากปัญหาต้นทุน เพราะถ้ายิ่งควบคุมนาน มีโอกาสที่สินค้าจะขาดตลาด เพราะวัตถุดิบในการผลิตไม่เพียงพอ เหมือนกรณีของ วัคซีน อย่างไรก็ตาม จะขึ้นราคามากน้อยแค่ไหนต้องรอพิจารณาจากต้นทุนวัตถุดิบอีกที
“ตอนนี้ทุกประเทศขึ้นราคาหมด เราเองตอนนี้ก็แบกต้นทุนอยู่ ดังนั้น ยังไงก็ต้องขึ้น แต่การขึ้นราคา ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับได้”
แนะดันส่งออกบรรเทาวิกฤตต้นทุน
สถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับสงคราม จากตอนแรกคาดว่าจะจบภายในไม่ถึงเดือน แต่ปัจจุบันลากยาวมากว่า 3 เดือน ดังนั้น ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เครือสหพัฒน์เองก็ไม่ได้วางแผนไว้ตายตัว เพราะต้องรอดูสถานการณ์สงครามวันต่อวัน
อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถกลับไปสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด เพราะแม้มีวิกฤตเงินเฟ้อแต่ไม่ต้องล็อกดาวน์เหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร ดังนั้น มองว่าการส่งออกเป็นอีกแนวทางบรรเทาปัญหาต้นทุน
“เชื่อว่าประเทศไทยฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นในฝั่งเอเชียด้วยกัน เพราะเราเป็นประเทศส่งออกอาหาร แม้ไทยจะเจอผลกระทบก็จริง แต่คนไทยก็ปรับตัวได้เร็ว”
จะอยู่รอดต้องเปิดทางคนรุ่นใหม่
บุณยสิทธิ์ คาดว่า เครือสหพัฒน์ต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี รายได้ถึงจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด โดยจากนี้ก็จะเน้นสินค้าในกลุ่ม เฮลท์แคร์ และเวลเนส เนื่องจากคนหันมาดูแลสุขภาพตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา และมองว่า ธุรกิจจากนี้จะอยู่รอดได้ต้องปรับตัวและต้องเปลี่ยนมือให้ คนรุ่นใหม่ มารับช่วงต่อ
“แต่ละช่วงไม่เหมือนกัน เราต้องทำใจให้เปลี่ยนทันเหตุการณ์ ตอนนี้สหกรุ๊ปแฟร์เปลี่ยนให้คนใหม่มารับต่อ ไม่ได้เอาคนเก่ามาดู เพราะเราต้องยอมรับว่ารุ่นใหม่เขามีความสามารถแบบหนึ่ง คนเก่าก็มีความสามารถอีกแบบ คนรุ่นเก่าอาจเก่าเรื่องระวังตัว คนรุ่นใหม่เก่าเทคโนโลยี เราพยายามทำให้การเปลี่ยนเเปลง ทำให้เกิดผลบวก”
สินค้าแฟชั่นปีนี้โตเพราะไม่มี Work From Home
ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนต้นทุนผ้าของบริษัทก็พุ่งขึ้นตั้งแต่ 50-100% ตั้งแต่เกิดสงครามเป็นต้นมา เนื่องจากน้ำมันขึ้นราคา ดังนั้น ไอ.ซี.ซี ก็เพิ่มไลน์สินค้าใหม่ แม้มีราคาสูงแต่ผู้บริโภคบางคนยังยอมจ่าย เพราะอั้นมาจาก 2 ปีก่อนเนื่องจากตลาดปิด
นอกจากนี้ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้าอย่าง เอสเซ้นซ์ ก็ต้องขึ้นราคาไม่ช้าก็เร็ว เพราะวัตถุดิบหลักได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเช่นกัน แต่สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังมีกลไกตลาดควบคุมอยู่ ดังนั้น อาจจะยังต้องทนแบกต้นทุนอยู่ดี
“จริง ๆ ราคามันควรจะขึ้นตอนนี้แล้วเพราะโรงงานก็ไม่ไหวแล้ว แต่ที่ราคายังไม่ขึ้นเพราะสินค้าในตลาดตอนนี้ยังเป็นล็อตเก่าอยู่ ซึ่งเราคงจะขึ้นราคาสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าควบคุม แต่คงขึ้นไม่เกินเพดานที่ตั้งไว้ เพราะราคาปัจจุบันยังมีช่องให้ขึ้นได้อยู่”
สำหรับผลประกอบการ ไอ.ซี.ซี ปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณ 20% เป็นอย่างน้อย จากปีที่ผ่านมาติดลบเกือบ -50% อย่างไรก็ตาม ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ไอ.ซี.ซี.ได้ปรับวิธีการทำงาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายได้พอสมควร ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มมากขึ้น แม้ยอดขายในปัจจุบันจะไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิดก็ตาม
“แม้จะมีปัญหาเงินเฟ้อ แต่เชื่อว่าธุรกิจแฟชั่นและ FMCG ยังไงก็โตเพราะมีปัจจัยบวกจากการเลิก Work From Home คนเลยแต่งตัวออกจากบ้านมากขึ้น เราก็มีสินค้าใหม่ที่ยังเพิ่ม Need ลูกค้าได้อยู่”