ปตท. คลายข้อสงสัย ทำไมสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ถึงส่งผลต่อพลังงานโลก


ตอนนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เจอกับปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผลกระทบดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าสถานการณ์ดังกล่าวนั้นทำไมถึงส่งผลต่อตลาดพลังงานทั่วโลก คุณดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ได้กล่าวถึงประเด็น “สงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” กับพลังงานโลก” ให้คนไทยได้เข้าใจกัน


น้ำมันแพงเพราะผลิตน้อย ไม่ใช่เพราะคว่ำบาตร

หลายคนอาจไม่รู้ว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำมันราว 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหลายคนอาจไม่รู้ด้วยว่า รัสเซีย เป็นผู้ผลิต น้ำมันดิบอันดับ 2 ของโลก โดยช่วงก่อนเกิดสงครามสามารถผลิตได้เฉลี่ย 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 11% ของความต้องการทั่วโลก ส่วนผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา โดยผลิตได้วันละ 11.5 ล้านบาร์เรล ส่วน อันดับ 3 ได้แก่ ซาอุดิอาราเบียโดยผลิตที่ 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

หากดูจากตัวเลขคงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัสเซียถือเป็นประเทศที่สำคัญต่อพลังงานโลก แต่ตั้งแต่เกิดสงคราม ปริมาณการผลิตของรัสเซียก็ลดลงมาเหลืออยู่ราว 9-10 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น หรือหายไปประมาณ 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ตัวเลขเหมือนจะน้อยแต่ก็ส่งผลกระทบหนักมาก เพราะแค่ประเทศไทยประเทศเดียวก็ใช้น้ำมันวันละ 1 ล้านบาร์เรลแล้ว

ประเด็นคือ ในขณะที่รัสเซียผลิตน้ำมันได้น้อยลง แต่ กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ที่รวมแล้วคิดเป็นประมาณ 40% ของน้ำมันดิบโลก ไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อมาอุดช่องที่หายไปของรัสเซีย เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มโอเปก ได้พยายามจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันให้อยู่ในจุดที่เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้ราคาน้ำมันไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ที่มีการใช้น้ำมันน้อย กลุ่มโอเปกก็ได้ลดกำลังการผลิตลง เพื่อประคองราคาน้ำมัน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามกดดันให้ประเทศสมาชิกโอเปกพลัสที่เหลือเพิ่มกำลังการผลิต แต่ก็ไม่สามารถกดดันได้ เพราะต้องเกรงใจรัสเซีย ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกโอเปกพลัส ดังนั้น เมื่อรัสเซียผลิตได้น้อยลง กลุ่มโอเปกไม่ผลิตเพิ่ม ราคาน้ำมันก็ลงยาก เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันในตลาดอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าความต้องการของตลาดนิดหน่อยอยู่ตั้งแต่แรกแล้ว จากความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวหลังจากโควิด-19


รัสเซียสำคัญเกินกว่าจะคว่ำบาตร

แม้จะมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นในหลาย ๆ ส่วน แต่ยังไม่มีประเทศไหนคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย 100% โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปที่ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียถึง 90% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ภายในประเทศ

โดยเฉลี่ยแล้ว ยุโรปนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอยู่ที่ราว 25-35% ส่วน ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 45% และ ถ่านหิน 45% โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ยุโรปมีปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอยู่ที่ 37% และนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่แปรรูปเป็นของเหลวแล้วหรือ LNG อยู่ที่ 23% ซึ่งสาเหตุที่ยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียก็เพราะรัสเซียมีท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค

หากประเทศในยุโรปตัดสินใจคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียทั้งหมดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าจะมีการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปก็ตาม เพราะหากประเทศในยุโรปเลือกจะคว่ำบาตรรัสเซีย สิ่งที่ต้องเจอคือ ต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะต้องขนส่งมาทางเรือ อย่างน้ำมันที่เป็นของเหลวอาจจะไม่มีปัญหามาก แต่กับก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก

หรือหากจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อรองรับการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ดังนั้น แค่สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกภาคส่วนอยู่แล้ว เนื่องจากราคาพลังงานที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น หากจะคว่ำบาตรก็จะยิ่งกระทบมากขึ้นไปอีก


ทำไมไทยไม่นำเข้าน้ำมันรัสเซียที่ลดราคา

สำหรับไทยเองนำเข้าน้ำมันกว่า 80% โดยจัดหาน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางประมาณ 55% ส่วนการนำเข้าจากรัสเซียประมาณ 5% เท่านั้น แต่เมื่อยุโรปมีปัญหาจากการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ความต้องการก็จะหันไปยังภูมิภาคอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ ตะวันออกกลางอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูง ไทยเองก็ได้ผลกระทบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็ไม่สามารถนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียได้ แม้รัสเซียลดราคาน้ำมันดิบลง เพราะราคาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะใช้ในการตัดสินใจ ยังมีประเด็นด้านคุณสมบัติของน้ำมันและการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะหากเลือกซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ไทยอาจถูกมองว่าสนับสนุนสงคราม แม้แต่ เกาหลีและญี่ปุ่น ที่แหล่งส่งออกน้ำมันรัสเซียอยู่ติดกับ 2 ประเทศยังเลือกที่จะไม่ซื้อแม้จะได้ราคาที่ดีมากก็ตาม


ราคาน้ำมันไทยแพงเพราะอะไร

สำหรับราคาน้ำมันของบ้านเรา 67% มาจากราคาน้ำมัน 28% มาจากภาษีและกองทุนต่าง ๆ อีก 5% เป็นค่าการตลาด หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องมีภาษีและหักเข้ากองทุน ซึ่งความจริงแล้วการหักเข้ากองทุนน้ำมันนั้นเป็นความจำเป็นเพื่อเป็นเกราะป้องกันหากเจอราคาน้ำมันที่สูงอย่างไม่คาดคิด ซึ่งส่วนนี้ได้นำมาช่วยเหลือให้สามารถตรึงราคาน้ำมัน รวมถึงอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม

สุดท้าย คุณดิษทัต กล่าวว่า จากมุมมองของนักค้าน้ำมันแล้ว สถานการณ์ของรัสเซีย-ยูเครนคงไม่จบลงเร็ว ๆ นี้ แปลว่าผลกระทบจะยังอยู่ต่อไปอย่างน้อยอีก 6 เดือน ดังนั้น ทั้งประเทศต้องช่วยกันบริหารจัดการเพื่อให้ราคาลดลงได้ รัฐเองต้องพยายามควบคุมราคาเพื่อให้ไม่กระทบต่อต้นทุนสินค้า ภาคประชาชนเองก็ช่วยได้โดยการลดใช้พลังงานในครัวเรือน โดยมีการวิจัยแล้วว่าช่วยให้ลดการใช้น้ำมันถึง 10% เลยทีเดียว