Meta อาจโดนหน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษขวางไม่ให้ซื้อกิจการ Giphy

Meta ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook และ Instagram อาจโดนหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร หรือ CMA ขวางไม่ให้ดีลการซื้อกิจการ Giphy เว็บไซต์ไว้สำหรับสร้างรวมถึงแชร์ภาพเคลื่อนไหว ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับดีลกล่าวเกิดขึ้นในปี 2020 ไม่ได้เปิดเผยมูลค่าการเข้าซื้อกิจการ แต่สื่อชื่อดังอย่าง Axios คาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

การเข้าซื้อ Giphy ของ Meta เพื่อที่จะนำ Giphy ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มแชร์รูปอย่าง Instagram อย่างไรก็ดีตัวแทนของ Instagram ยืนยันว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ จะยังสามารถเข้าถึงบริการของ Giphy ได้อย่างปกติ

อย่างไรก็ดี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 มิถุนายน) หนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ (CAT) ได้มีมติเอกฉันท์ 5 ใน 6 ข้อ โดยยืนยันเหตุผลของ CMA ที่ให้ไว้ก็คือดีลการซื้อกิจการของ Meta นั้นอาจทำให้การแข่งขันลดลง เนื่องจาก Giphy สามารถที่จะขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงในด้านโฆษณาได้

นอกจากนี้ CMA ยังมองว่า Meta มีสิทธิ์ที่จะตัดการใช้งานของแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ใช้งาน Giphy หรือไม่ก็อาจให้แพลตฟอร์มที่ใช้บริการของ Giphy ส่งข้อมูลเพิ่มเติม (เช่น ข้อมูลการใช้งาน ฯลฯ) เพื่อที่จะยังคงสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการได้ แต่ถ้าหากไม่ส่งข้อมูลเพิ่มเติมก็อาจโดนตัดสิทธิ์ดังกล่าว ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลนั้นมองว่าเป็นการเอาเปรียบแพลตฟอร์มรายอื่น

สำหรับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ใช้บริการของ Giphy เพื่อแชร์ภาพเคลื่อนไหว มีตั้งแต่ Snapchat หรือแม้แต่ Twitter ไปจนถึง iMessages ของ Apple เนื่องจากคลังภาพเคลื่อนไหวของ Giphy ถือว่ามีขนาดใหญ่ รวมภาพเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบ ทั้งสัตว์หรือแม้แต่ภาพเคลื่อนไหวตลกๆ

เรื่องราวคาราคาซังระหว่าง CMA ไม่ได้เกิดแค่ในปี 2022 นี้เท่านั้น แต่ในปี 2021 ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษรายนี้เคยปรับ Meta มาแล้วเป็นมูลค่าถึง 70 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่ Meta ไม่รายงานให้กับหน่วยงานกำกับดูแลทราบถึงการเข้าซื้อกิจการของ Giphy

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของหน่วยงานกำกับดูแลที่อาจออกมาขวางดีลการซื้อกิจการของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่มากขึ้น จากเหตุผลเรื่องการแข่งขัน โดยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานี้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง Apple Meta Amazon Microsoft นั้นได้ซื้อกิจการมากถึง 1,000 บริษัท และไม่เคยถูกขวางจากหน่วยงานกำกับดูแลด้วยซ้ำ