พนักงาน Apple Store ลงมติก่อตั้ง “สหภาพแรงงาน” สำเร็จเป็นสาขาแรกในสหรัฐฯ

Photo : Shutterstock
พนักงาน Apple Store ในสหรัฐฯ ลงมติก่อตั้ง “สหภาพแรงงาน” สำเร็จเป็นสาขาแรก เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกิดกระแสก่อตั้งสหภาพต่อจาก Alphabet, Amazon และ Starbucks

Apple Store สาขาเมืองโทว์สัน รัฐแมริแลนด์ มีการลงมติเพื่อก่อตั้ง “สหภาพแรงงาน” เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลปรากฏว่า จากพนักงาน 110 คน มีผู้โหวตรับมติ 65 คน และไม่รับ 33 คน การนับคะแนนมีการถ่ายทอดสดโดยหน่วยงานจากรัฐบาลกลางเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบความโปร่งใส

ก่อนหน้าที่จะถึงการโหวตนี้ พนักงานของ Apple Store มีการรวมกลุ่มกันในชื่อ AppleCORE (ย่อมาจาก Coalition of Organized Retail Employees) และเริ่มรณรงค์เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น

“เราทำได้แล้วโทว์สัน! เราชนะการโหวตตั้งสหภาพ! ขอบคุณทุกคนที่ทำงานอย่างหนักและทุกคนที่คอยสนับสนุน! ตอนนี้เราจะฉลองกัน…พรุ่งนี้เราจะบริหารจัดการกันต่อ” AppleCORE ระบุในทวีต

การตั้งสหภาพแรงงานของพนักงาน Apple Store เป็นไปเพื่อรวมกลุ่มกันเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าแรง ชั่วโมงทำงาน และมาตรฐานความปลอดภัยร่วมกับบริษัท

Photo : รอยเตอร์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พนักงาน Apple Store มีความพยายามที่จะสร้างสหภาพแรงงานขึ้นมา แต่เป็นครั้งแรกที่มาจนถึงขั้นตอนการโหวตได้สำเร็จ

ก่อนหน้าจะมีการโหวตเกิดขึ้น เดรเดรอ โอไบรอัน ผู้อำนวยการด้านทรัพยากรบุคคลของ Apple เคยไปเยี่ยมสาขาโทว์สันมาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม และมีบันทึกเสียงการพูดคุยบางส่วนหลุดออกมาตีพิมพ์บนสื่อสำนักข่าว Vice คำพูดที่โอไบรอันกล่าวกับพนักงานคือ

“ฉันอยากจะเริ่มต้นด้วยการบอกว่า คุณมีสิทธิที่จะร่วมเป็นสมาชิกสหภาพ แต่คุณก็มีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันที่จะไม่เป็นสมาชิกสหภาพ” โอไบรอันกล่าว “ถ้าคุณกำลังเผชิญกับการตัดสินใจเลือก ฉันอยากขอแนะนำให้คุณปรึกษากับคนให้หลากหลายที่สุด และศึกษาข้อมูลเพื่อให้เข้าใจว่าการทำงานที่ Apple โดยอยู่ภายใต้สัญญาการต่อรองผลประโยชน์ร่วมกันนั้นน่าจะเป็นอย่างไร”

เธอกล่าวด้วยว่า การมีคนกลางในเรื่องนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง Apple กับพนักงานมีความซับซ้อนมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท Apple ยัง “ขอไม่แสดงความเห็น” อย่างเป็นทางการต่อข่าวการตั้งสหภาพ จากการสอบถามโดย AFP

 

ข้อดีข้อเสียของการมี “สหภาพแรงงาน”

หน้าที่ของการมีสหภาพแรงงาน คือ การมีตัวแทนโดยชอบธรรมในการเข้าไปเจรจาต่อรองค่าจ้างและสภาวะการทำงานกับนายจ้าง หลายครั้งการประท้วงที่นำโดยสหภาพแรงงานจะมีการนัดหยุดงานเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม รวมถึงสหภาพยังดูแลกรณีพนักงานต้องการฟ้องร้องนายจ้าง ไปจนถึงการเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงต่อรองกับนักการเมืองในการออกนโยบายด้านแรงงาน

การประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงาน (Photo: Shutterstock)

อย่างไรก็ตาม การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ กลับอยู่ในช่วงขาลงมาหลายทศวรรษ โดยอัตราส่วนผู้เข้าเป็นสมาชิกเคยอยู่ที่ 20% เมื่อปี 1983 แต่ในปี 2020 ลดลงเหลือ 10.8% เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานของภาครัฐ เช่น ครู ตำรวจ ที่ยังคงเป็นสมาชิกสหภาพอย่างเหนียวแน่น

สาเหตุที่สหภาพแรงงานเป็นเทรนด์ขาลงในช่วงก่อนหน้านี้ เกิดจากหลายเหตุผล ส่วนใหญ่จะถูกวิเคราะห์ว่าเมื่ออยู่ในสหภาพแรงงาน แรงงานจะต้องเคารพมติที่โหวตแล้วของสหภาพ ทำให้การแสดงออกความเห็นรายบุคคลที่อาจจะแตกต่างไปทำได้ยาก ในขณะที่สังคมอเมริกันนั้นมีความหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรม ทำให้ความเห็นในสหภาพมักจะไม่ค่อยตรงกัน อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การเป็นสมาชิกแปลว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 1-2% ของรายได้

สหภาพแรงงาน มาได้รับความนิยมอีกครั้งในไม่กี่ปีมานี้ โดยมีพนักงานบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งที่รวมตัวกันลงมติ เช่น ปี 2021 Alphabet มีการรวมตัวพนักงานกว่า 200 คนทั้งในสหรัฐฯ และแคนาดา เพื่อตอบโต้เรื่องการรับมือคำร้องเรื่องการคุกคามทางเพศที่ไม่เป็นธรรมของบริษัท

(Photo : Shutterstock)

ต่อมาในเดือนธันวาคม 2021 สาขา Starbucks สองแห่งในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์กก็ทำสำเร็จเช่นกัน และเปิดทางให้พนักงานมากกว่า 160 คนในสาขาอื่นๆ เริ่มโหวตเพื่อตั้งสหภาพ โดยระหว่างเส้นทางการต่อสู้ มีพนักงาน Starbucks ที่ถูกให้ออกเพราะความพยายามจะตั้งสหภาพ

ถัดมาคือเดือนเมษายน 2022 พนักงาน Amazon ในคลังสินค้าเมืองนิวยอร์ก มีการโหวตที่ลงมติท่วมท้นให้จัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นครั้งแรก แต่บริษัทได้ร้องขอให้มีการโหวตใหม่

การจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่บริษัทอเมริกันกังวลใจและไม่ต้องการให้มีขึ้น แน่นอนว่าเพราะการมีตัวแทนมาต่อรอง จะทำให้บริษัทเสียสิทธิเด็ดขาดในการกำหนดค่าจ้างและสวัสดิการ และมีแนวโน้มว่าบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างแพงขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น จึงไม่มีบริษัทไหนต้องการให้มีสหภาพแรงงาน

Source: Economic Times, TRT World