จากที่ ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) เคยทำสถิติสูงสุดที่ 6.9 หมื่นดอลลาร์ หรือว่า 2 ล้านบาท แต่ปัจจุบันอยู่ที่ราว ๆ 2 หมื่นดอลลาร์ หรือราว 7.2 แสนบาท ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 1 ปี นับตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปี 2020 แต่ตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ใช่จุดต่ำสุด แต่มีแนวโน้มจะดิ่งต่ำกว่า 1.3 หมื่นดอลลาร์เลยทีเดียว
เอียน ฮาร์เน็ต ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการลงทุนของบริษัท แอบโซลูท สตราเทจี รีเสิร์ช (Absolute Strategy Research) คาดว่า หาก ฟองสบู่ของคริปโตฯ แตก มูลค่าของ บิตคอยน์ อาจต่ำลงอีกมาก โดยมีแนวโน้มว่าอาจแตะที่ 1.3 หมื่นดอลลาร์ หรือลดลงเกือบ 40% จากระดับปัจจุบัน
“คนจะยังเทขายคริปโตฯ และขึ้นอยู่กับสภาพคล่องจริง ๆ โดยสิ่งที่เราพบคือ คริปโตฯไม่ใช่ทั้งสกุลเงินหรือสินค้าโภคภัณฑ์ และแน่นอนว่ามันไม่มีมูลค่าอะไร”
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดคริปโตฯ ในอดีตแสดงให้เห็นว่าตอนนี้มันกำลังอยู่ในช่วง ขาลง โดยมูลค่าของบิตคอยน์มีแนวโน้มที่จะลดลงถึง 80% จากระดับสูงสุดตลอดกาล อย่างในปี 2018 สกุลเงินดิจิทัลร่วงลงเกือบ 3,000 ดอลลาร์ หลังจากแตะระดับสูงสุดเกือบ 20,000 ดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2017
และการลดลงดังกล่าวในปี 2022 จะพาบิตคอยน์ย้อนกลับไปที่มูลค่า 1.3 หมื่นดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญ เนื่องจากบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่ต้อง พึ่งพาสภาพคล่องในโลก เมื่อสภาพคล่องถูกระบายออก เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกพากันคุมเข้มนโยบายการเงิน และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บิตคอยน์ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับสินทรัพย์ในตลาดอื่น ๆ
“ช่วงที่โลกมีสภาพคล่องสูง Bitcoins จะเติบโตด้ดี เมื่อสภาพคล่องนั้นหายไป จะเห็นว่าตลาดกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างรุนแรง”
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Fed ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งเดียวที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 ลังจากนั้นธนาคารกลางอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ฮังการี บราซิล ไต้หวัน ฮ่องกง และอาร์เจนตินา ต่างก็ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน
ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับผลกระทบ มูลค่ารวมของคริปโตฯ ทั้งหมดลดลงมากกว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่การปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed แต่ตลาดคริปโตฯ นั้นเริ่มระท่อนกระแท่นตั้งแต่การล่มสลายของ terraUSD เหรียญ stablecoin และเหรียญ Luna