มองตลาด ‘Food Delivery’ ยุค ‘น้ำมันแพง’ เพิ่มโจทย์ใหม่ ‘มัดใจไรเดอร์’ ให้อยู่กับแพลตฟอร์ม

ถือเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงแต่ก็มีการแข่งขันที่สูงเช่นกันสำหรับ Food Delivery และหลังจากที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 แต่หลังจากที่การระบาดคลี่คลายลง ปัญหาใหม่ที่ทั่วโลกกำลังเจอก็คือ เงินเฟ้อ และ น้ำมันแพง ทำให้แต่ละแพลตฟอร์มต้องเจอ โจทย์ใหม่ เพราะจำนวนการสั่งที่น้อยลง และ ไรเดอร์ที่ต้องแบกต้นทุนมากขึ้น

ตลาดโตไม่เกิน 5%

จากเครื่องชี้วัดธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ Food Delivery ของ LINE MAN Wongnai พบว่าในเดือนพ.ค. 65 จำนวนผู้สมัครเป็นไรเดอร์ในระบบเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4.7 เท่า เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด แต่การเพิ่มขึ้นของไรเดอร์ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ขยายตลาดและพื้นที่บริการครอบคลุมทั่วประเทศจากเดิมที่มีการให้บริการเพียงไม่กี่จังหวัด

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดที่ลดลง ส่งผลให้การใช้ชีวิตเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ หลายคนเริ่มกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ส่งผลให้ไรเดอร์ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปริมาณงานต่อวันเฉลี่ยที่ลดลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า Food Delivery น่าจะขยายตัว 1.7-5% หรือมีมูลค่าประมาณ 7.7 – 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งชะลอลงจากที่เติบโตถึง 46.4% ในปี 2564 และ

Photo : Shutterstock

น้ำมันแพงและจำนวนไรเดอร์ 2 ปัญหาใหญ่

ในส่วนของรายได้จากค่าจัดส่งอาหารของไรเดอร์ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 คาดว่ามีหมุนเวียนในระบบเฉลี่ยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น จากแนวโน้มการสั่งอาหารไปยังที่พักที่ชะลอลง ปริมาณไรเดอร์ในระบบที่มีจำนวนสูง และราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของไรเดอร์ส่วนใหญ่

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจมุมมองและการปรับตัวของไรเดอร์ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยมีมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ปัญหาน้ำมันแพง และ จำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มขึ้น นับเป็น ปัญหาใหญ่สุด รองลงมา คือ การกลับไปทำงานและการกลับไปเรียนตามปกติ การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่น และการใช้โปรแกรมช่วยเหลือในการรับงาน
  • 94% ของไรเดอร์ระบุว่า ตนเองได้รับผลกระทบจาก ปริมาณออเดอร์ต่อวันเฉลี่ยลดลง จากผลสำรวจ พบว่า ออเดอร์เฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ประมาณ 11–15 งานต่อคน (38%) รองลงมาอยู่ที่ 5–10 งานต่อคน (32%)
  • ปัจจุบัน ราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วกว่า 54% (เทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปี 2564) ส่งผลให้ไรเดอร์ 42% มีค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันเพิ่มขึ้น 50-70 บาทต่อวัน (ขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวส่ง ระยะทาง และอัตราการกินน้ำมันของรถแต่ละรุ่น)
Photo : Shutterstock

ไรเดอร์โหมรับงาน แพลตฟอร์มแข่งเพิ่มสิทธิพิเศษ

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักจำเป็นต้องหาวิธีการรับมือ โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 70% ใช้เวลาทำงาน รับออเดอร์ให้มากขึ้น เพื่อให้รายได้กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า รวมถึงการเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นแทน หรือหาอาชีพเสริม ขณะที่บางส่วนเลือกลงทะเบียนในแพลตฟอร์มอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน

ด้านแพลตฟอร์ม Food Delivery สัญชาติไทยอย่าง โรบินฮู้ด (Robinhood) ยอมรับว่า นอกจากการแข่งขันเรื่องการทำโปรโมชันเพื่อดึงดูดผู้ใช้แล้ว อีกส่วนที่ผู้บริโภคไม่รู้ก็คือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงไรเดอร์ เนื่องจากไรเดอร์เป็นอาชีพฟรีแลนซ์ สามารถรับงานได้กับทุกแพลตฟอร์ม ทำให้ทุกแพลตฟอร์มต้องหาทางมัดใจไรเดอร์ อย่างไรก็ตาม โรบินฮู้ดมีจุดแข็งที่ ไม่คิดคอมมิชชั่นจากไรเดอร์ นอกจากนี้กำลังเร่งพัฒนาฟีเจอร์ ทิป เพื่อเป็นรายได้อีกทาง

“เราไม่คิดคอมมิชชั่นไรเดอร์เลย ส่วนแพลตฟอร์มอื่นไรเดอร์ต้องเสีย 15% ดังนั้น เราไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไรให้ไรเดอร์ เพราะผลตอบแทนเราดีกว่าคู่แข่ง” สีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด

ส่วน แกร็บ (Grab) มีการมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่าง GrabBenefits จะให้บัตรกำนัลส่วนลดค่าน้ำมันสำหรับไรเดอร์ และมีการให้โบนัสพิเศษ และ การจัดโปรแกรมสินเชื่อ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับ ไลน์แมน (LINE MAN) ที่จับมือกับพันธมิตรในการมอบบัตรเติมน้ำมันฟรีรายเดือนสำหรับไรเดอร์ที่ขับเป็นประจำและเข้าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ส่วน ลาล่ามูฟ (Lalamove) นอกจากจะมีส่วนลดเงินคืนกับพันธมิตรปั๊มน้ำมันแล้ว จะมีการปรับอัลกอริทึมการรับงาน เพื่อให้ไรเดอร์สามารถรับงานได้คุ้มค่ามากที่สุด เป็นต้น

(Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

เสนอ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แก้ปัญหาระยะยาว

อีกส่วนที่หลายแพลตฟอร์มเริ่มหาทางออกให้ไรเดอร์ก็คือ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า อย่างโรบินฮู้ดก็พยายามผลักดันให้ไรเดอร์ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เนื่องจากช่วยประหยัดต้นทุนได้ 10 เท่า ซึ่งตั้งแต่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ก็เห็นความต้องการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกันกับ แกร็บ ที่ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพาร์ตเนอร์คนขับ-ผู้จัดส่งอาหารที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้ได้ 10% ของจำนวนพาร์ตเนอร์คนขับทั้งหมดภายในระยะเวลา 5 ปี

“ตอนนี้เรามีให้ไรเดอร์ผ่อนซื้อเป็นรายวันตกวันละ 120 บาท ปัจจุบันมีไรเดอร์ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าราว 400 คัน มียอดจอง 1,900 คัน จากไรเดอร์ทั้งหมด 28,000 ราย ปัญหาตอนนี้คือ พาร์ตเนอร์ทั้ง 2 รายของเราผลิตไม่ทัน เราเองก็ต้องมองหาเพิ่มอีกราย ซึ่งเรามองว่าการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะช่วยไรเดอร์ในระยะยาว” สีหนาท กล่าว

แนะปรับระบบกระจายงาน

นอกจากสิทธิพิเศษแล้ว ทางศูนย์วิจัยกสิกรได้แนะนำว่าควร ปรับระบบการกระจายงานมาใช้ระบบยิงงาน (Auto assign) ซึ่งเป็นระบบสากลที่ทำให้มีความเท่าเทียมในการกระจายงานให้กับไรเดอร์มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … เพื่อเข้ามาช่วยกำกับดูแลผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจดังกล่าว

หรือ การคิดคำนวณค่าธรรมเนียมควรมีความยืดหยุ่น เช่น ในต่างประเทศผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารนำรูปแบบ FuelSurcharge ตามระยะทางมาปรับใช้ในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูง และเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลงก็อาจมีการยกเลิกวิธีการคิดดังกล่าว นอกจากการแก้ไขปัญหาเชิงระบบแล้ว ต้องพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการธุรกิจ เช่น การเพิ่มโอกาสในการรับงานมากขึ้นและลดปริมาณการยกเลิกออเดอร์ในช่วง Peak Hour การลดระยะเวลาในการรอรับอาหารที่ร้านอาหาร

ในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงจะต้องช่วยกันออกแบบ และสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ ภายใต้กฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวสามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการต่าง ๆ อาทิ การเปิดรับลงทะเบียนไรเดอร์เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงการได้รับสิทธิต่าง ๆ จากภาครัฐ เป็นต้น