โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์
รู้สึกกันไหมครับว่า ช่วงนี้บรรยากาศกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ไม่ว่าคุณจะไปทำอะไรที่ไหน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงหนัง ฯลฯ ผู้คนหนาแน่น ถนนหนทางเต็มไปด้วยรถรา ทุกคนออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน พร้อมปลดปล่อยแรงอัดอั้นที่ถูกเก็บกดมายาวตลอดช่วงเกิดวิกฤต Covid-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา บางคนเดินทางเที่ยวต่างประเทศกลับมากันหลายรอบแล้วด้วยซ้ำ และผมเชื่อว่าเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศเกิดใหม่คืนชีพกลับมาคึกคักไม่ต่างกัน
เศรษฐกิจบูมหลัง COVID-19 ดันเงินเฟ้อพุ่งแรง
ขณะที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว นำโดยสหรัฐอเมริกา หลังจบ COVID-19 พลิกฟื้นกลับมาแข็งแกร่งอย่างรวดเร็วเพียงเวลาข้ามปี ส่งผลให้ปี 2565 การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังพุ่งระเบิด เรียกว่าอาการ Post-pandemic Boom หรือ ‘ภาวะเศรษฐกิจบูมหลังโรคระบาดครั้งใหญ่’ นั่นเอง และกำลังก่อปัญหาดันเงินเฟ้อพุ่งแรงแบบฉุดไม่อยู่ เป็นผลพวงมาจาก ‘การบริโภคเพื่อล้างแค้น’ หรือ Revenge Spending ที่เกิดขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้คนทั่วโลกรู้สึกอึดอัดมานาน เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยมากขึ้น จึงขอเอาคืนความสุขจากการบริโภคกันอย่างเต็มที่ ภาษาเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่า ‘Pent-up Demand’ นั่นเอง
ฝั่งภาคธุรกิจต่างก็เร่งจ้างงาน เพื่อผลิตให้ทันรองรับความต้องการบริโภคปริมาณสูง รวมถึงทยอยกลับมาลงทุนขยับขยายธุรกิจอีกครั้ง หลังจากหยุดรอดูสถานการณ์กันไปหลายปีก่อนหน้านี้
ปกติสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อมี 2 ด้านครับ ด้านแรกมาจากฝั่งผู้บริโภค (Demand Side) ที่มีความต้องการใช้จ่ายบริโภคสูง สวนทางกับสายการผลิตสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อสินค้าขาดตลาด กลไกตลาดจึงผลักดันราคาพุ่งขึ้นในที่สุด และยิ่งความต้องการบริโภคสินค้ายังคงอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จึงนำมาสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นจากด้านบริโภค ในทางเศรษฐศาสตร์ว่า Demand-pull หรือ Demand-side inflation
ด้านที่สองมาจากฝั่งผู้ผลิตสินค้าและบริการ (Supply Side) หรือภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องเร่งการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภค แต่เมื่อเกิดภาวะต้นทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และค่าขนส่ง ทำให้จำเป็นต้องส่งต่อต้นทุนเหล่านี้เป็นทอดๆ ผ่านราคาสินค้าที่แพงขึ้น นำมาสู่ภาวะ Cost-push inflation
ในภาวะเศรษฐกิจแบบ Post-Pandemic Boom มักจะพบว่าเกิดเงินเฟ้อแบบ Demand-side Inflation เป็นหลัก
ในมุมมองของผม ปัจจุบันภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก เกิดจากทั้ง 2 สาเหตุผสมกันทั้งฝั่ง Demand และ Supply Side เพราะตอนนี้มีทั้งปัญหาด้านการป้อนสินค้าสู่ตลาด ขณะที่หลายประเทศก็ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว บางประเทศที่ผ่อนคลายช้ากว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะช้ากว่า แต่ได้รับผลกระทบข้างเคียงจากประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว
ในกรณีสหรัฐฯ เศรษฐกิจหลัง COVID-19 ชาวอเมริกันแห่กันจับจ่ายใช้สอยพุ่งขึ้นสูงมากจากแรงซื้อที่เก็บกดมาตลอดช่วง COVID-19 ภาคธุรกิจต้องเร่งจ้างงานเพิ่มกำลังการผลิต เศรษฐกิจเฟื่องฟูในเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยปัญหาเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปี 2565 นี้ที่ทำสถิติตัวเลขเงินเฟ้อร้อนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี นี่คือ ภาวะเงินเฟ้อของ Demand-pull ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) พยายามดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งการปรับด้านปริมาณสภาพคล่องในระบบกลับสู่ภาวะปกติผ่านมาตรการลดขนาดงบดุล (QT) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของภาวะเงินเฟ้อสูง
แต่ผลกระทบในอีกด้าน คือ ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น กระทบต่อภาคธุรกิจและผู้มีหนี้สิน ซึ่งนักลงทุนในตลาดหุ้นกำลังจับจ้องผลของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของ Fed ต่อการประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวแรงหรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะถดถอยในอนาคต และกระทบไปถึงเศรษฐกิจทั่วโลก นี่คือประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ท่ามกลางความผันผวนและการปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ตลอดช่วงที่ผ่านมาครับ
สำหรับไทย เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อฝั่ง Supply ครับ โดยจะเริ่มเห็นแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงรอบ 13 ปี เนื่องมาจากราคาต้นทุนต่างๆ ที่ปรับตัวขึ้น นำโดยราคาน้ำมัน สินค้าแพง ค่าขนส่งต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อสูงจากฝั่ง Cost-push Inflation ขณะที่ด้านกำลังซื้อของคนไทย ทุกวันนี้ยังมีรายได้ไม่เท่าช่วงก่อน COVID-19 แต่ด้านค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าต่างๆ ปรับขึ้นไปแล้ว จึงอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ คงต้องติดตามการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ว่าจะแก้ปัญหาสถานการณ์นี้ได้อย่างไรในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นี้ครับ
จริงๆ ก็น่าเสียดาย ในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวหลัง COVID-19 รอบนี้ ต้องมาสะดุด ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจควรจะกลับมาคึกคักยาวๆ ก็อาจจะต้องซบเซาลงไปบ้างในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เหมือนคนอยากวิ่งเร็วอีกครั้ง แต่ดันมีลูกตุ้มมาถ่วงขาเอาไว้ โดยเฉพาะสงครามรัสเซียและยูเครน ที่มาเติมเชื้อไฟ ผลักดัน ‘เงินเฟ้อพุ่งขึ้นรวดเร็วเกินคาด’ กดดันให้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างพาเหรดกันขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างที่เห็นกันในตอนนี้ และยังมีสะเก็ดระเบิดจากมาตรการล็อกดาวน์ในจีนจากนโยบาย Zero Covid อีกด้วย
ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ปี 2565 ลงมาเหลือ 2.9% (เดิมคาดการณ์ ณ เดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 3.7%) และในปี 2566 GDP ลดเหลือเพียง 1.7% (เดิมคาด 2.3%) และปี 2567 คาดเติบโต 0.8%
การปรับลดคาดการณ์ GDP ของสหรัฐฯ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และในรายงานของ IMF ระบุด้วยว่า สหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างเฉียดฉิว
เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับโจทย์ยากลำบากของภาวะเงินเฟ้อรุนแรงนานแค่ไหน จากผลสำรวจของ Michigan University ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ดิ่งลงสู่ระดับ 50.0 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในช่วงทศวรรษ 1940 และต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.2 หลังจากแตะระดับ 58.4 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สะท้อนว่า ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะ 5.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยสูงกว่าระดับ 4.2% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าระดับ 5.4% เป็นตัวเลขเบื้องต้นที่มีการสำรวจเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 3.1% โดยสูงกว่าระดับ 2.8% ที่มีการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ต่ำกว่าระดับ 3.3% ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่มีการสำรวจเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และอยู่ในช่วง 2.9-3.1% ที่มีการสำรวจในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
แต่ไม่มีใครคาดสถานการณ์ล่วงหน้าได้ ตัวผมเองก็จะไม่คาดการณ์ตลาดหุ้นหรือตัวเลขทางเศรษฐกิจอะไรทั้งนั้นเช่นกัน แต่จะคอยหาโอกาสการลงทุนจากความผันผวนของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นในระยะสั้นมากกว่า
ท่ามกลางความวิกตกังวลถึงความเสี่ยงการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกนั้น ผมกลับมองว่า ในวิกฤตยังมีโอกาสลงทุน เพราะยังมีอีกประเทศที่กำลังเป็นดาวรุ่งเจิดจรัสของโลก นักลงทุนต่างประเทศส่องสปอตไลต์พุ่งไปยังประเทศนั้น นั่นคือ ‘เวียดนาม’ ที่ส้มหล่นทะลักใส่เต็มๆ หลังจากช่วงที่ผ่านมา เพราะจีนประสบปัญหาหลายๆ ด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ การใช้มาตรการเด็ดขาดในการจัดระเบียบต่อธุรกิจต่างๆ จนสร้างความเสียหายแก่นักลงทุน และยิ่งล่าสุด มาตรการสั่งล็อกดาวน์จากนโยบาย Zero Covid แบบสุดโต่ง
จับชีพจร ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ ว่าที่เสือตัวใหม่แห่งเอเซีย
เวียดนามกำลังถูกปลุกปั้นให้ขึ้นเป็นว่าที่ ‘เสือเศรษฐกิจใหม่แห่งเอเชีย’ ตอกย้ำด้วยธนาคารโลก ได้ออกรายงาน Vietnam Macro Monitoring ประจำเดือนมิถุนายน 2565 ชี้ว่า เศรษฐกิจเวียดนามกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยข้อมูลทางเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมพุ่งขึ้นกว่า 10.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 ด้านการเติบโตของสินเชื่อรวม 16.9% ขณะที่มูลค่าค้าปลีกขยายตัว 22.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภาคเอกชน
ด้านมูลค่าการบริการเติบโต 41% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 173,000 คน เพิ่มขึ้นกว่า 70% จากเดือนเมษายน เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงแม้ว่าจะยังต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรค Covid-19 อยู่ราว 16% ก็ตาม
มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนาม ในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ประมาณ 879 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่าต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 แต่การเบิกจ่ายงบลงทุนของนักลงทุนต่างชาติขยายตัวกว่า 8.5% จากปี 2564 ถือว่าเติบโตต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน และยังมีแนวโน้มนักลงทุนทั่วโลกต่างกรุยทาง มุ่งสู่ถนนลงทุนในเวียดนามกันไม่ขาดสาย
อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.9% ในเดือนพฤษภาคม จากตัวเลขในเดือนเมษายนที่ 2.6% โดยมีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อของประเทศอื่นทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกก็ได้เตือนให้เวียดนามให้เฝ้าระวังความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อด้วย
ธนาคารโลกยังได้แนะนำให้เวียดนามลงทุนในพลังงานทางเลือก ซึ่งจะช่วยให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้ ซึ่งเวียดนามมีแผนจะลงทุนมากกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด เนื่องจากเวียดนามต้องการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนและรอการสนับสนุนแหล่งเงิน ซึ่งจีนและสหรัฐฯ ได้เล็งเห็นโอกาสลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในเวียดนามด้วย
การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ขับเคลื่อนทั้งจากเศรษฐกิจในและนอกประเทศด้วย โดยสำนักงานสถิติเวียดนาม รายงานมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 305,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ประกอบด้วย มูลค่าส่งออก 152,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 16.3% มูลค่านำเข้า 152,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% มีดุลการค้า 5 เดือนแรกยังเกินดุลเล็กน้อย 516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักวิเคราะห์คาดกาณ์ว่า ปี 2565 มูลค่าการค้า 750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในเวียดนามหลังการเปิดประเทศ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย การบริโภคในประเทศและภาคการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการขยายการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้คาดการณ์การเติบโตของ เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 อยู่ที่ 7% ถือว่าโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการเติบโตที่กลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วง 5 ปีก่อนเกิด COVID-19 อีกด้วย
5 เหตุผลทำไมต้องลงทุน ‘หุ้นคุณค่า’ ในเวียดนาม
ผมจึงว่า การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงเวลานี้ ถือเป็นโอกาสดีที่พอร์ตของคุณจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ มาดูข้อมูลที่น่าสนใจของ Dragon Capital เป็นบริษัทจัดการลงทุนในหุ้นเวียดนาม โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) สูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ชี้เหตุผล 5 ข้อว่า ทำไมหุ้นเวียดนามจึงเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดีในช่วงเวลานี้
(1) หุ้นเวียดนามตอนนี้ยังมีราคาถูก หลังจากดัชนี VNI ได้มีการปรับตัวร่วงลงมากกว่า 10% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง โดยคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) โตกว่า 20% ในปี 2565 ซึ่งปกติหุ้นที่มี EPS เติบโตดี มักจะเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับราคาหุ้นในอนาคต
(2) ทิศทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตราการเติบโตสูงสุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และปีนี้ยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง
(3) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามแซงหน้าจีน และยังมองไม่เห็นถึงการหดตัวของเศรษฐกิจแม้แต่ไตรมาสเดียว ถึงจะได้รับผลกระทบจาก Covid-19 อยู่บ้าง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ทั่วโลก แต่เวียดนามฟื้นตัวได้เร็วกว่า
(4) เสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายมหภาคของรัฐบาล การเติบโตอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางในเวียดนาม ทำให้เกิดโครงสร้างทางสังคมที่แข็งแกร่ง และมีโอกาสที่ GDP เวียดนามจะเติบโตได้สูงถึง 6-7% ต่อปี
(5) เวียดนามดูเหมือนว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ แม้คาดว่า ตลอดปี 2565 นี้ ภาวะเงินเฟ้ออาจจะสูงถึง 4-5% ก็ตาม
ผมเชื่อมั่นว่า โอกาสลงทุนในหุ้นคุณค่า พื้นฐานดีและราคาถูกในตลาดหุ้นเวียดนามยังมีอยู่เสมอ จะส่งผลให้การลงทุนระยะยาวในเวียดนาม สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเวียดนามยังอยู่ในกลุ่มตลาดหุ้นชายขอบ ถือว่ามีความเสี่ยงจากการกำกับดูแลของรัฐบาล การลงทุนในสินทรัพย์ใดและให้ผลตอบแทนแบบไหน ย่อมต้องขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ การยอมรับความเสี่ยง ทักษะการลงทุน รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์นั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มลงทุนเสมอ
หากคุณยังไม่มั่นใจ ผมแนะนำให้ใช้บริการจากมืออาชีพช่วยนำทางครับ ซึ่งผมมีลูกค้าเลือกลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่มีทางเลือกลงทุนหลากหลาย สำหรับ ‘หุ้นคุณค่า’ จากเวียดนาม เลือกลงทุน ‘หุ้นดี ราคาถูก’ ในนโยบาย Jitta Ranking ได้ครับ
แน่นอนว่า โดยธรรมชาติของสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น เมื่อความผันผวนสูงขึ้น ผลตอบแทนที่คาดหวังก็จะสูงขึ้นด้วย แต่ความผันผวนของราคาก็อาจไม่ใช่ความเสี่ยงของทุกคน หากคุณรู้จักสินทรัพย์ดี และเข้าใจหลักการลงทุนอย่างทะลุปรุโปร่งว่า สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่คืออะไร
ให้คุณไปลองขับรถแข่ง Formula 1 คุณอาจรู้สึกว่า มันเสี่ยงและอันตราย แต่ถ้าให้นักแข่งรถมืออาชีพมาขับก็อาจจะรู้สึกเฉยๆ ไปแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เขาทำอยู่ทุกวันจนเข้าใจและเชี่ยวชาญครับ
การลงทุนก็เช่นกัน ลงทุนในสิ่งที่คุณเข้าใจ หมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ แล้วไม่นานผลตอบแทนจะตามมาเองครับ ซึ่งไม่ใช่ High risk, high return แต่เป็น High understanding, high return ครับ