AIS x Joylada’ กับภารกิจเสริม ‘ภูมิคุ้มกันไซเบอร์’ Gen Z ผ่าน ‘นิยายแชท’ 7 เรื่องราว


ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมักจะมาพร้อมกับด้านมืด ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีก็อย่างเรื่อง Cyberbully ดังนั้น การรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญอย่างมาก และ เอไอเอส (AIS) ก็พยายามจะสร้าง ภูมิคุ้มกันไซเบอร์ ให้กับเยาวชนและคนไทยทั่วไป ผ่านการร่วมมือกับ จอยลดา (joylada) แพลตฟอร์มนิยายแชทชื่อดังของไทยในการถ่ายทอดเนื้อหาที่ย่อยง่ายในแบบ Edutainment


ภูมิคุ้มกันต้องยั่งยืน

หากพูดถึงการสร้าง ภูมิคุ้มกันไซเบอร์ ของเอไอเอส ต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงปี 2018 ตั้งแต่ประกาศว่าจะเป็น Digital Service Provider ทำให้เอไอเอสจึงเริ่มหาพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนมาพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับคนไทย

“มันเกิดจากความท้าทายมากกว่าความกังวล ด้วยพฤติกรรมที่คนใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น เราจะทำอย่างไรเพื่อให้คนไทยมีภูมิคุ้มกัน และต้องต้องยั่งยืนด้วย” สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าว

สำหรับ การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทางไซเบอร์ หรือ Cyber Wellness เอไอเอสได้แบ่งเป็น 2 ด้าน

  • การป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยการพัฒนาเครื่องมือด้านเทคโนโลยี : อาทิ AIS Secure Net, Google Family Link และล่าสุดบริการสายด่วน 1185 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน AIS Spam Report Center
  • การสร้างองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมทักษะการรับมือทางดิจิทัล: โดยได้พัฒนาหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายและต่อเนื่อง อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรมสุขภาพจิต และรับรองโดย กระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นหลักสูตรด้านดิจิทัลครั้งแรกของประเทศ

“แรกเริ่มเราเคยลองนำหลักสูตรจาก Singtel มาใช้ แต่เนื่องจากหลักสูตรไม่เข้ากับบริบทคนไทย เราจึงร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายพัฒนาหลักสูตรเพื่อคนไทย และเปิดให้เรียนรู้ได้ฟรีบนแพลตฟอร์ม AIS LearnDi”


จาก 4 หลักสูตรสู่นิยาย 7 เรื่อง

หลักสูตรของเอไอเอสแบ่งเป็น 4P หรือ 4ป ได้แก่

  • Practice: ปลูกฝังการใช้งาน เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
  • Personality: ปกป้องความเป็นส่วนตัว
  • Protection: ป้องกันภัยออนไลน์
  • Participation: ปฏิสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้สื่อสารออนไลน์อย่างเหมาะสม

ที่ผ่านมา เอไอเอสได้ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ การเป็นการ์ตูนสำหรับกลุ่มเด็ก และโรลเพลย์สำหรับวัยผู้ใหญ่ ล่าสุด เอไอเอสได้ร่วมกับ จอยลดา (joylada) แพลตฟอร์มแพลตฟอร์มนิยายแชทชั้นนำเพื่อ ย่อยเนื้อหา 4P สู่นิยายแชท 7 เรื่อง

“เราต้องการให้หลักสูตรเข้าถึงคนทุกกลุ่ม แต่แน่นอนว่าการนำเสนอหลักสูตรแบบเดิมคงเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะวัยรุ่น Gen Z ดังนั้น เราจึงมองว่าควรปรับให้เป็นนิยาย เราจึงร่วมกับจอยลดา ปัจจุบันมีผู้ใช้บนแพลตฟอร์มกว่า 10 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นกลุ่ม Gen Z”

สำหรับเนื้อหานิยายแชท 7 เรื่อง ที่สะท้อนปัญหา 7 ด้านและ 7 ทักษะที่ควรรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ ได้แก่

  • เพื่อเธอ เพื่อฝัน เพื่อฉันคนใหม่: ถ่ายทอดเรื่องราวการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
  • หนึ่งคลิก… พลิกอนาคต: ถ่ายทอดเรื่องราวร่องรองบนโลกออนไลน์
  • ขอเป็นนายแค่ 5 นาที: สะท้อนเรื่องราวอัตลักษณ์ไซเบอร์และมารยาททางไซเบอร์
  • ความฝันของอันดา: ถ่ายทอดการจัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุณพ่อผู้พิทักษ์: การจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ส่วนบุคคล
  • รู้ไว้ใช่ว่า…ฉบับป้ามหาภัย: ถ่ายทอดทักษะการรู้เท่าทันสื่อ
  • อย่าลาสแกรนมา: ทักษะการจัดสรรหน้าจอ

“นิยายทั้ง 7 เรื่องถ่ายทอดโดยนักเขียนยอดนิยมทั้ง 7 คนบนแพลตฟอร์ม ซึ่งตอนแรกเรากังวลว่ามันเป็นข้อมูลที่จะย่อยยาก แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสถานการณ์ที่ต้องเจอทุกวัน ทั้งการบูลลี่ การวิพากย์วิจารณ์ เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ โดยนักเขียนก็ถ่ายทอดออกมาให้เอนเตอร์เทนต์เมนต์มาก ๆ” ศาสตรา วิริยะเจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ จอยลดา กล่าว

ปัจจุบัน จอยลดามีผู้ใช้งานแอคทีฟกว่า 3 ล้านรายต่อเดือน มียอดใช้งานเฉลี่ยวันละ 90 นาที และมีนิยายแชทใหม่ ๆ เดือนละกว่า 120,000 เรื่อง


เล็งขยายหลักสูตรสู่โรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่ง

สำหรับนิยายทั้ง 7 เรื่องคาดว่าจะมียอดผู้เข้าอ่านรวมกว่า 1-2 ล้านราย ขณะที่หลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ที่ยังอยู่ในช่วงทดลองนั้นมียอดครูและนักเรียนเข้าเรียนรู้กว่า 3 แสนรายทั่วประเทศ โดยเอไอเอสเตรียมขยายหลักสูตรดังกล่าวไปสู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และจะขยายไปสู่โรงเรียนนอกสังกัดสพฐ. อาทิ โรงเรียนในสังกัดกทม. และโรงเรียนอาชีวะ เป็นต้น

นอกจากนี้ เอไอเอสมีแผนจะร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อทำ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะไซเบอร์ของคนไทย ในอีก 6 เดือน และจะทำการวัดผลซ้ำอีก 1 ปี

“โควิดเร่งให้คนใช้ดิจิทัลเป็นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ปัญหาไม่ใช่การเข้าไม่ถึง แต่เป็นเรื่อง Wisdom คือจะใช้ยังไงให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อ มีสติในการใช้งานมากขึ้น และเราไม่หยุดที่จะหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อทำให้คนไทยมีทักษะดิจิทัลและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

สำหรับใครที่สนใจอ่านนิยายทั้ง 7 เรื่องก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “Joylada” และทาง Microsite (joylada.com/aisxjoylada)  นอกจากนี้ ทุกการอ่านของทุกคนจะช่วยสมทบทุนบริจาคให้แก่ “มูลนิธิสายเด็ก 1387”  ภายใต้แคมเปญ Let’s Level up ฝ่าภารกิจอัปเลเวลความรู้ สู่สุขภาวะดิจิทัลที่ดีอีกด้วย