ก่อนหน้านี้ การที่ “ต่างชาติ” จะถือครอง “ที่ดิน” ในไทยได้ จะต้องซื้อผ่านนิติบุคคลสัญชาติไทย แต่ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดที่กำลังจัดทำเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะปลดล็อกให้ต่างชาติซื้อที่ดินไทยได้ในนามบุคคลธรรมดา
(ข้อมูลอ้างอิง: นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี)
Q: ชื่อกฎหมายและหน่วยงานรับผิดชอบ
A: ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงประเทศไทย พ.ศ. …. ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (รับผิดชอบจัดทำโดย กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย)
Q: ซื้อได้มากแค่ไหน
A: ไม่เกิน 1 ไร่
Q: เงื่อนไขก่อนจะซื้อที่ดินไทยได้
A: ต้องลงทุนในไทยด้วยเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และลงทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปี ในธุรกิจหรือกิจการที่กำหนด เช่น กองทุนรวม กองรีท พันธบัตร
Q: เงื่อนไขการใช้ที่ดิน
A: ใช้เป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น หากพบว่านำไปใช้ในจุดประสงค์อื่น จะถูกถอนสิทธิ
Q: เหตุผลที่รัฐบาลออกกฎหมายนี้
A: กฎหมายนี้ถือเป็นส่วนพ่วงที่จะช่วยจูงใจให้คนต่างชาติศักยภาพสูงเลือกมาพำนักในไทย หรือ “โครงการ Long-term resident Visa” ทำวีซ่าครั้งเดียวอยู่ได้ 10 ปี ที่จะเริ่มบังคับใช้เดือนกันยายน 2565
กลุ่มเป้าหมายศักยภาพเหล่านี้คือ กลุ่มผู้เกษียณอายุ, กลุ่มอาชีพผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากไทย ทั้งหมดต้องมีฐานะมั่งคั่ง เป้าหมายเพื่อให้มาจับจ่ายในไทย กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว
Q: คาดว่าใครที่จะสนใจซื้อที่ดิน
A: จากสถิติปี 2564 ต่างชาติที่นิยมซื้อห้องชุดคอนโดฯ ไทยอยู่แล้ว คือ ชาวจีน 59.4% รัสเซีย 3.7% สหราชอาณาจักร 3.4% สหรัฐฯ 3.4% เยอรมนีและฝรั่งเศส 2.9% เท่ากัน (ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.)
รู้หรือไม่? มีหลายประเทศในโลกที่อนุญาตให้ “ต่างชาติซื้อที่ดิน” ได้ แต่อาจมีเงื่อนไขต่างๆ ควบคุม เช่น กำหนดพื้นที่ที่ห้ามต่างชาติซื้อ กำหนดขนาดที่ดิน ห้ามต่างชาติถือครองในโครงการจัดสรรเกินสัดส่วน 50% ห้ามซื้อบ้านทิ้งไว้โดยไม่มีการอยู่อาศัยเกิน 6 เดือน เป็นต้น