การตัดสินใจส่งไอโฟนรุ่นแรกลงตลาดก่อนไอแพด ทั้งๆ ที่โครงการหลังมีต้นแบบที่เสร็จแล้วล่วงหน้าหลายปี ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกที่สุดของ “สตีฟ จ็อบส์” หลังกลับมาผงาดเป็นผู้ทรงอิทธิพลในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะเขาคือผู้นำแห่งยุค Post-PC อย่างแท้จริง!
จากตรรกะง่ายๆ ที่ว่ามือถือคือสิ่งที่คนคุ้ยเคยมาตลอดทศวรรษ และไอโฟนรุ่นแรกก็ทำให้ชื่อ “สมาร์ทโฟน” ถูกอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างที่สุด เพราะมันคือมือถือจอสัมผัสขนาด 3 นิ้วเครื่องแรกในชีวิตที่ผู้เขียนสามารถจมอยู่กับมันด้วยการเล่นเน็ต เช็กเมลได้หลายชั่วโมง! และเมื่อ 3 ปีให้หลัง ที่โลกถูกปกคลุมด้วยเน็ตบรอดแบนด์ทุกทวีป การจะส่ง “ไอแพด” ลงตลาด คนก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่ากระดานชนวนนี้ใช้ยังไง? และดีอย่างไร?
วันที่ 6 มิ.ย. 54 ที่ผ่านมา ท่านจ็อบส์ขึ้นเวทีพร้อมเสื้อสีดำคอเต่าอีกครั้ง เพื่อมาพูดถึง iOS5 ระบบปฏิบัติการที่จะเป็นสมองของทุกอุปกรณ์ตระกูลไอทั้งหมดจากแอปเปิล
การอัพเกรด iOS 5 ด้วยกว่า 200 ฟีเจอร์อย่างที่เขาพูดถึงนั้น ผู้เขียนและใครในวงการกลับมองว่า “มันไม่ใหม่!” แต่กลับเป็น Todolist ที่แฟนคลับอยากให้มีตั้งนานแล้ว แล้วทำมันให้เป็นจริง…สักที! และการอัพเกรดครั้งนี้แตกต่างกว่าทุกครั้ง เพราะมันจะกระทบกับทุกคนในระบบนิเวศของโลกไร้สาย ตั้งแต่นักพัฒนาแอพฯ รายย่อย ค่ายมือถือ หรือแม้กระทั่งบริษัทเน็ตยักษ์ใหญ่คู่พันธมิตรอย่างกูเกิล และแอมะซอนด้วย
ฟีเจอร์ | ประเภท | ตัวอย่างบริการใกล้เคียง | ข้อสังเกต & ผลกระทบ |
---|---|---|---|
Notification Center | แจ้งเตือน | แอปฯ MobileNotifier ใน Cydia | ไม่ต้องเจลเบรกเครื่องก็ใช้งานได้ |
iMessage | แชต | Whatsapp, Fring, Tango, Viber | iMessage ใช้ได้เฉพาะกับ iOS และสามารถเช็กสถานะได้ว่าผู้รับออนไลน์อยู่หรือไม่ ถ้าออนไลน์ก็จะส่งด้วย iMessage ทำให้ไม่เปลืองค่าส่ง SMS รายครั้ง |
iCloud | เก็บ/ซิงก์ข้อมูลออนไลน์ | Dropbox, Amazon Cloud, Evernote,Spotify | ตอนนี้แอปเปิลให้พื้นที่ iCloud ฟรี 5 กิกฯ สำหรับเก็บข้อมูลทุกประเภทในเครื่อง ทั้งสมุดโทรศัพท์ ปฏิทิน รูป วิดีโอ เพลง เอกสาร แต่เมื่อไม่พอก็ต้องยอมจ่ายเงินให้แอปเปิลแน่นอน เพื่อข้อมูลที่มีค่าของเรา |
Reading List | เก็บเว็บไว้อ่านทีหลัง | Readitlater,Instapaper | ผู้ทำบริการคล้ายกันนี้โดนผลกระทบทางตรง ฉะนั้นมี 2 ทางรอดคือ อัปเกรดฟีเจอร์ให้ต่างจากที่มีใน iOS5 หรือหาโฆษณามาลง |
Newsstand | คลังนสพ./นิตยสาร | Book Store อิสระ, Zinio, PressReader | เป็นการดึงเอาแอปฯหมวดนิตยสารและนสพ.มารวมในไอค่อนใหม่ และเมื่อมีเล่มใหม่ออกจะดาวน์โหลดให้เราอัตโนมัติ (กรณีที่เราจ่ายเงินเป็นสมาชิก) ผู้ทำเนื้อหา และคนกลางรวบรวมเนื้อหาอาจจะมีทางที่จะต้องไปอย่างชัดเจนก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้ไม่ต้องเสีย 30% ในค่าสมัครสมาชิกให้กับแอปเปิล และคนยังเข้าถึงเนื้อหาได้สะดวก ทั้งมีช่องทางอื่นที่เก็บเงินค่าสมาชิกได้จริงและง่ายที่สุดสำหรับผู้อ่าน |
จากตารางด้านบน สามารถอธิบายด้วยคำคมมากมาย ทั้งปลาใหญ่กินปลาเล็ก รู้เขารู้เรา ทำธุรกิจไม่ใช่แค่คิดใหญ่ต้องคิดเล็กด้วย ฯลฯ จนมาถึงข้อสรุป 4 ประการที่เป็นที่มาของชื่อหัวข้อว่า “แอปเปิล คือ ผู้คุมเกม” ดังนี้
- แอปเปิลฟี้นตัวด้วยการสร้างระบบปิดที่ให้บริการครบวงจร : ตั้งแต่ทำฮาร์ดแวร์ (พีซี โน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก แท็บเล็ต มือถือ) ซอฟต์แวร์ (Mac OS, iOS) แอพพลิเคชั่น (iWork, iMessage) ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (iCloud) ศูนย์กลางเนื้อหา (iTunes, Appstore) และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการคิด สร้าง และตรวจสอบทุกเนื้อหาก่อนนำขึ้นระบบ เพื่อให้เป็นสังคมดิจิตอลคุณภาพ
- จริงจังกับหาทุกช่องทางรายได้แบบกินยาวจากทุกอย่างที่ตนลงทุนไป : ตั้งแต่ ซองไอแพด 2 Smart Cover และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ, ค่าสมัครสมาชิกเป็นนักพัฒนาแอพฯ, ค่าคอมมิชชั่น 30% จากทุกการดาวน์โหลดแอพฯเสียเงินในแอพสโตร์, เปอร์เซ็นต์จากการขายเพลง/หนังในรูปแบบไฟล์ดิจิตอลและสตรีมมิ่ง
- ฟังความต้องการลูกค้าและแปรสิ่งนั้นมาสร้างเป็นความสมบูรณ์แบบ : จึงใส่ทุกอย่างที่ยังขาดไปในทุกครั้งที่อัพเดตเฟิร์มแวร์ใหม่ ซึ่งเหมาะกับทั้งลูกค้ารายใหม่และรายเก่า เพราะทุกอย่าง “บิวท์-อิน” มาแล้วในฟีเจอร์มาตรฐานของเครื่อง จนทำให้ iOS5 กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นทางเลือกที่ฉลาดที่สุดที่ทุกคนสัมผัสแล้วต้องอยากได้
- ใครรู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งที่ไม่ใช่ Killer App ให้คิดใหม่ทำใหม่ : เพราะเมื่อไรแอปเปิลมาทำแบบเรา เราจะทำอะไรต่อไป? ฉะนั้นดูๆ ไปแล้ว ประเภทแอพฯ ที่ยังพอมีทางรอดคือ แอพฯ เกม และแอพฯ ขายเนื้อหาข้อมูลเฉพาะทาง
ฟังดูแล้วต้องยอมรับว่าการที่ไมโครซอฟท์ปรับตัวไม่ทันในยุค Mobility ที่ทุกอย่างต้องไร้สาย ก็คงต้องพร้อมเป็นเบอร์รองในศตวรรษหน้า เพราะทุกอย่างที่แอปเปิลทำในวันนี้เป็นตัวบ่งส่งสัญญาณอย่างชัดว่าถึงวันหนึ่ง…พีซีจะหายไปจากโลกอย่างแน่นอน!