เชิญชวนการฟังแสดงธรรมกถา โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย


ขออนุโมทนาต่อท่านประธานองคมนตรีและคณะองคมนตรีที่ได้จัดให้มีการแสดงธรรมกถาเป็นพิเศษเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคมที่เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งนี้

เป็นโอกาสที่เราทั้งหลายจะได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทำบุญทำกุศลความดีถวายพระองค์ท่าน ด้วยการเดินตามรอยพระยุคลบาทขององค์บุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวกับทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้ตระหนักรู้ว่า โครงการนี้ได้แสดงออกซึ่งพระมหากรุณาธิคุณและความเป็นพุทธมามกะขององค์พระมหากษัตริย์ เพื่อที่เราจะได้ร่วมกันทำความดีด้วยวิธีการต่างๆ ในมหามงคลวโรกาสนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ที่สำคัญคือโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยนั้น เกี่ยวข้องกับการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ควรที่พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงจะได้ร่วมกันทำความดีในส่วนนี้โดยเสด็จพระราชกุศล ด้วยการบริจาคสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย

ซึ่งเริ่มตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจัดตั้งทุนนี้ขึ้นในปี ๒๕๔๖ โดยพระราชทานทุนประเดิมเริ่มแรก และมีพสกนิกรชาวไทยร่วมกันบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล อันเป็นเหตุให้มีการถวายทุนเล่าเรียนหลวงนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา เป็นการสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมสำหรับพระสงฆ์สามเณร

โดยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระอนุสรณ์ว่า การสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นพระราชกิจขององค์พระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ

คำว่า “การศึกษาพระปริยัติธรรม” หมายถึงการศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกดังนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จึงทรงให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยชำระพระไตรปิฎกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระไตรปิฎกที่ทรงให้ชำระนั้นเป็นภาษาบาลีอักษรขอมจารึกในใบลานเพื่อเป็นหลักฐานแห่งการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงให้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจากเดิมซึ่งมี ๓ ระดับ คือ บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอกปรับเป็น ๙ ชั้นอย่างในปัจจุบัน คือ เปรียญ ๑-๒-๓ จนถึงเปรียญ ๙ ประโยค

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงให้จัดสอบพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในพระบรมมหาราชวัง ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พระองค์เสด็จลงฟังการสอบเกือบทุกครั้ง สมัยนั้นเป็นการสอบแปลบาลีปากเปล่า ยังไม่มีการสอบข้อเขียน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงให้ชำระพระไตรปิฎกด้วยการนำเอาพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับอักษรขอม ที่จารึกในใบลานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ มาปริวรรตคือเขียนเป็นอักษรไทยเป็นครั้งแรก แล้วพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย

นับเป็นเป็นพระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ครบชุดเป็นครั้งแรกในโลก ทรงอุปถัมภ์การเรียนพระไตรปิฎกโดยเฉพาะการเรียนภาษาบาลี นอกจากจะให้สอบในพระบรมมหาราชวังแล้ว ยังทรงให้พระภิกษุสามเณรเรียนพระปริยัติธรรม ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเอง รับหน้าที่จัดภัตตาหารถวายพระภิกษุสามเณร ที่เรียนบาลีภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้ย้ายการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามมาตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เรียกชื่อว่า มหาธาตุวิทยาลัย ต่อมาทรงเปลี่ยนนามใหม่ในปี ๒๔๓๙ เป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทรงประสงค์ให้เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง และในปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ทรงสถาปนามหามกุฎราชวิทยาลัยที่วัดบวรนิเวศวิหาร ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้อธิบายถึงเหตุผลในการส่งเสริมการศึกษาปริยัติธรรมของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะ รัชกาลที่ ๕ ว่า มี ๓ ประการ ดังนี้

ประการที่ ๑ เพื่อสร้างศาสนทายาทสืบอายุพระพุทธศาสนา เพราะการศึกษาพระปริยัติธรรมที่เป็นภาษาบาลีอันเป็นภาษาต้นเดิมนั้น จะทำให้เข้าใจคำสอนถ่องแท้ในพระไตรปิฎก ถ้าแปลเป็นภาษาไทยเสียทั้งหมดก็อาจจะเพี้ยนไปจากต้นฉบับได้ ขณะที่ประเทศพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมักแปลเป็นภาษาของตน แต่ในฝ่ายเถรวาทนั้น ลังกา พม่า ไทย เป็นต้น คงให้ศึกษาในรูปของภาษาบาลี และศึกษาพระไตรปิฎก พระปริยัติธรรมที่เป็นภาษาบาลีนี้แหละจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ดังที่พระอรรถกถาจารย์ขยายความเป็นภาษาบาลีว่า

“สาสนฏฺฐิติยา ปน ปริยตฺติ ปมาณํ” เป็นต้น แปลความว่า “ปริยัติคือการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นหลักในการธำรงรักษาพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อคนได้ศึกษาพระไตรปิฎกหรือพระปริยัติธรรมแล้ว สามารถเทียบเคียงเอาไปปฏิบัติทำให้ปริยัติเป็นฐานของการปฏิบัติที่ถูกต้องและเกิดการปฏิเวธบรรลุผลแห่งการปฏิบัติตามมา”

ถ้าปริยัติผิด ปฏิบัติก็ผิด ปฏิเวธก็ไม่เกิดขึ้น ท่านจึงเปรียบปริยัติเหมือนแผนที่ในการแสวงหาขุมทรัพย์ ปฏิบัติเป็นเหมือนการเดินตามแผนที่เพื่อไปสู่ขุมทรัพย์ ปฏิเวธเป็นเหมือนการค้นพบขุมทรัพย์นั้น ตราบใดที่ยังมีปริยัติศึกษา ตราบนั้นก็หวังว่าพระพุทธศาสนาจะไม่เสื่อมสูญไปจากโลกนี้

ด้วยเหตุนี้ องค์บุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแต่โบราณจึงรับเป็นพระราชภาระในการอุปถัมภ์การศึกษาพระปริยัติธรรม

ประการที่ ๒ เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ประชาชน เมื่อพระสงฆ์ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาคือปริยัติที่ถูกต้องจะมีปฏิบัติที่ถูกต้อง และนำมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือหลักพุทธธรรมที่แท้แก่ประชาชน

ประการที่ ๓ เพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในสมัยรัชกาลที่ ๕ โรงเรียนส่วนมากตั้งอยู่ในวัด ได้พระสงฆ์เป็นครูสอนเด็กและเยาวชน ครูต้องมีความรู้ดีและความประพฤติดี จึงสอนเด็กและเยาวชนได้ดี ดังนั้นจึงถือเป็นพระราชภารกิจในการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ เพื่อผลิตครูที่ดีสำหรับสอนเด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในวัด

วัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ประการนี้ปรากฏชัดอยู่ในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในการตั้งโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาพระปริยัติสัทธรรมที่ถูกต้อง ดังที่มีการมอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาชั้นสูง คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และในระบบการศึกษาภาษาบาลีที่จัดโดยแม่กองบาลีสนามหลวง

เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทรงสืบสานพระราชปณิธานขององค์บุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งของพระบาท สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ตามที่ได้ประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และยังคงวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ในการดำเนินการสืบต่อโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงต่อยอดในเรื่องการถวายทุนการศึกษาเพิ่มขึ้นจากทุนการศึกษาเดิมที่มุ่งส่งเสริมการศึกษาล้วน ๆ เป็นการส่งเสริมด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงโปรดให้ท่านประธานองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการถวายทุนการศึกษาพระราชทานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในการนั้น ได้ถวายทุนการศึกษา อาจจะแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ

กลุ่มแรกเป็นฝ่ายศึกษาพระปริยัติสัทธรรม คือถวายทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก แก่พระนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และถวายทุนการศึกษาสำหรับพระสงฆ์สามเณรที่กำลังศึกษาต่อในชั้นเปรียญธรรม ๖ ประโยคถึงชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันนี้เป็นส่วนที่สืบต่อมาจากสมัยรัชกาลที่ ๙ ปณิธานหรือวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒ และข้อที่ ๓ คือการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ประชาชน และส่งเสริมการศึกษาของเด็กและเยาวชน ปรากฏในการถวายทุนการศึกษาแก่สำนักวัดประยุรวงศาวาส เพื่ออบรมพระนักเทศน์ทุนเล่าเรียนหลวงถวายแด่วิทยาเขตบาลีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เพื่ออบรมพระวิปัสสนาจารย์ทุนเล่าเรียนหลวง เพื่อให้ไปดำเนินการสอนทั้งสมถะและวิปัสสนากรรมฐานแก่ประชาชน ถวายทุนแด่วัดเบญจมบพิตร เพื่ออบรมพระธรรมจาริกทุนเล่าเรียนหลวง พระธรรมจาริกคือพระภิกษุจิตอาสาที่ขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูง การถวายทุนดังกล่าวมานี้เป็นสัญลักษณ์ที่ส่งสัญญาณให้พระสงฆ์ตื่นตัวที่จะเดินตามรอยพระบรมราโชบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ถูกต้อง ช่วยกันสนับสนุนและดำเนินการข้อนี้

จึงเห็นได้ว่าเมื่อได้รับทุนไปแล้ว ทุกฝ่ายกระตือรือร้นในการจัดการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ดังจะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์มีการเน้นการศึกษาพระปริยัติสัทธรรมมากขึ้น ตื่นตัวในการศึกษาเรื่องพระศาสนาในคณะพุทธศาสตร์ที่สำคัญคือการจัดตั้งวิทยาลัยเพื่อการศึกษาบาลีโดยเฉพาะ ตั้งชื่อว่า “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย” อันเป็นนามพระราชทาน โดยได้รับพระราชทรัพย์บริจาคจากสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นทุนประเดิมในการก่อสร้างราชวิทยาลัยแห่งนี้ที่จังหวัดนครปฐม เพื่อจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมโดยเฉพาะ ในรูปของภาษาบาลีและภาษาอังกฤษนี้ทำให้ผู้รับผิดชอบในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้นทุ่มเทกำหนดทิศทาง ในการจัดการศึกษาได้ชัดเจนขึ้น การอุปถัมภ์ของพระองค์ท่านยังเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์สามเณรที่กำลังศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นั่นคือการที่รัชกาลปัจจุบันทรงอุปถัมภ์การสอบบาลีสนามหลวง ด้วยการถวายภัตตาหารในสนามสอบทั่วประเทศ ถวายอุปถัมภ์พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วยภัตตาหารเป็นประจำ ทรงพระราชทานอุปกรณ์การเรียนแก่พระภิกษุสามเณรในสำนักเรียนปริยัติธรรมต่าง ๆ เหล่านี้แสดงถึงพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการสืบอายุพระพุทธศาสนา มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ไปถึงประชาชน เด็ก และเยาวชน ซึ่งเป็นกิจกรรมมหากุศลที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยโดยรวม เพราะในที่สุดผลกระทบก็จะมาถึงแก่ผู้รับผลของการเผยแผ่พระศาสนา คือประชาชน เด็ก และเยาวชน ดังนั้น กิจการอันเป็นกุศลนี้ต้องมีทุนสนับสนุนจำนวนมากจึงจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อนจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ที่ได้ดำเนินการมอบทุนมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน ใช้เงินเพื่อการนี้ไปกว่า ๑๐๐ ล้านบาทแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ได้มาจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ผู้เห็นคุณค่าของการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม และโดยเสด็จพระราชกุศลบริจาคสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงตั้งคณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เพื่อการระดมทุนและมอบทุน ซึ่งมีท่านประธานองคมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีองคมนตรีทั้งนั้นเป็นรองประธานและกรรมการมหาเถรสมาคมได้มีมติตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ให้วัดทุกวัดทั่วประเทศจัดทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เราจึงได้เห็นภาพอันงดงามที่วัดทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการนี้ และทางคณะองคมนตรีร่วมกับมหาเถรสมาคมจัดการทอดผ้าป่าทุนเล่าเรียนหลวงนี้ โดยได้รับผ้าไตรพระราชทานไปเป็นองค์ประกอบการทอดผ้าป่าทุกจังหวัดทั่วประเทศ เปิดโอกาสให้พสกนิกรชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๙ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังนั้น ในมหามงคลวโรกาสที่วันเฉลิมพระชนมพรรษาในสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เวียนมาบรรจบครบอีกครั้งหนึ่ง จึงควรที่พสกนิกรชาวไทยจะได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาท สืบสานพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ ๙ สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันด้วยการร่วมกันบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลสมบททุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ที่สำคัญคือ เป็นการบริจาคทานเพื่อธรรมทาน

โดยทั่วไปเราบริจาคอามิสทานคือสิ่งของถวายไว้ในพระศาสนาแล้วจบ แต่ครั้งนี้ การบริจาคจตุปัจจัยของเราเป็นไปเพื่อธรรมทาน คือการจัดถวายความรู้เกี่ยวกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแด่พระสงฆ์ เพื่อพระสงฆ์จะได้นำเอาธรรมที่ศึกษานั้นไปเผยแผ่เป็นธรรมทานในสังคมไทย นี่เป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าเรียกว่า อัคคมหาทาน ทานที่ยิ่งใหญ่อันเป็นเลิศ เพราะธรรมทานนั้นสืบอายุพระพุทธศาสนา ธรรมทานนั้นสร้างสังคมไทยให้มีสันติสุขด้วยพุทธธรรม ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญว่า

“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง”

ในวโรกาสแห่งวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่เราทั้งหลายได้พร้อมใจกันบำเพ็ญมหาทาน ธรรมทานในครั้งนี้เป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่

ขอพวกเราทุกคนได้พร้อมใจกันถวายพระพรชัยมงคล ด้วยการอ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัย และมหากุศลที่เกิดจากอามิสทานและธรรมทานทั้งนี้ ขอจงมารวมกันเป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัยสำเร็จสัมฤทธิ์เป็นพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระบรมวงศานุวงศ์ขอให้ทรงพระเกษมสำราญ สถิตยิ่งยืนนานในมไหศวรรย์ เป็นพระมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมของพสกนิกรชาวไทย ตลอดจิรัฐิติกาล เทอญ