องค์กรมวยปล้ำ WWE ได้เวลาปฎิรูป เมื่อไร้ “วินซ์ แม็กแมน” Disney-Netflix แย่งสอยกิจการ

กลายเป็นข่าวฮือฮาบนหน้าสื่อทุกสำนักเมื่อช่วงหลายเดือนก่อน โดย วินซ์ แม็กแมน ที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งประธานบริหาร และซีอีโอของศึกมวยปล้ำชื่อดัง WWE ถูกออกมาแฉว่ามีสัมพันธ์สวาทกับลูกจ้างสาวถึง 4 คน ทั้งที่ตัวเองมีภรรยา อย่าง ลินดา แม็กแมน อยู่แล้ว

ตามการรายงานของ “วอลล์ สตรีท เจอร์นัล” สื่อในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า วินซ์ แม็กแมน จ่ายเงินให้ผู้หญิง 4 คนที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย คนละ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งสิ้น 12 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 440 ล้านบาท เพื่อแลกกับการปิดเรื่องนี้ให้เงียบที่สุด

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็ได้หลุดออกมาสู่สาธารณชนจนได้ เมื่อหญิงสาวบางรายจาก 4 คนดังกล่าว ออกมาแฉสิ่งที่ “ป๋าวินซ์” ได้กระทำลงไปว่ามีอะไรบ้าง จนกลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่

หนึ่งในผู้หญิงที่มีสัมพันธ์กับ วินซ์ แม็กแมน ออกมาแฉว่าเธอถูกบีบบังคับให้ทำออรัลเซ็กซ์ด้วยการใช้ปากขณะที่เธอเพิ่งเข้ามาเป็นนักมวยปล้ำของ WWE และภายหลังเธอถูกลดตำแหน่ง และไม่ได้รับการต่อสัญญาฉบับใหม่ตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งเธอปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์กับเขาหลังจากนั้น

นอกจากนี้ผู้หญิงอีกหนึ่งคนซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสัญญาของ WWE ออกมาแฉว่าเธอได้รับเงิน 1 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2008 แลกกับการส่งภาพเปลือยให้ วินซ์ แม็กแมน นอกจากนี้ผู้หญิงอีกคนซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการของ WWE ยังได้รับเงิน 1 ล้านดอลลาร์ และมีเพศสัมพันธ์กับเขา

สเตฟานี ลูกสาววินซ์ แม็กแมน

และล่าสุดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว วินซ์ แม็กแมน ได้ออกมาประกาศอำลาจากตำแหน่งประธานบริหาร รวมไปถึงซีอีโอของ WWE พร้อมส่งไม้ต่อให้ สเตฟานี แม็กแมน ลูกสาวของเขาไปดูแลต่อร่วมกับทริปเปิล เอช สามีของเธอ และนิค ข่าน ประธานคนปัจจุบัน ท่ามกลางเสียงวิพากย์วิจารณ์ที่ว่าเจ้าตัวโบกมือลาเพราะข่าวฉาวดังกล่าว

การโบกมือลาตำแหน่งของ วินซ์ แม็กแมน ส่งผลต่อหุ้นของ WWE พอสมควรในช่วงแรก แต่การส่งผลในครั้งนี้ดูจะเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำไป เพราะหุ้นขององค์กรมวยปล้ำระดับโลกดันพุ่งขึ้นสูงกว่าเดิม จาก 66.25 USD ไปเป็น 72.32 USD หรือเพิ่มขึ้นราว 8% ภายในวันเดียว ก่อนที่ปัจจุบันจะอยู่ที่ช่วง 68 USD

จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เผยกับ CNBC สื่อยักษ์ใหญ่ ว่า การสูญเสียตำแหน่งของ วินซ์ แม็กแมน อาจส่งผลเสียต่อเรื่องราว หรือบทของตัวละครต่างๆ ใน WWE เพราะต้องยอมรับว่าเขามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อเรื่องนี้

แต่การอำลาตำแหน่งของเขากลับส่งผลดีในแง่ของมูลค่าทางการตลาด เพราะได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มองว่าเดิมที WWE มีแผนที่จะขายกิจการให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สนใจอยู่แล้ว การลงจากตำแหน่งของ “ป๋าวินซ์” ก็ไม่ใช่ปัญหา และนับเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำไปเพราะองค์กรดังกล่าวอาจถึงเวลาต้องปฏิรูปกันใหม่เสียที

ระยะเวลาในการซื้อขาย WWE คาดว่าจะได้ข้อสิ้นสุดในช่วงกลางปี 2023 เวลานี้ผู้ซื้ออาจกำลังตัดสินใจว่าการซื้อขายนั้นจะสมเหตุสมผลกับราคามากแค่ไหน เพราะต้องมองไปในเรื่องของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดซึ่งปัจจุบันศึก Smackdown เป็นของ Fox และ NBAUniversal ถือลิขสิทธิ์ในศึก Raw โดยทั้ง 2 บริษัทจะหมดสัญญาในช่วงปลายปี 2024

ปัจจุบันมีข่าวว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในอเมริกากำลังสนใจเข้าไปซื้อกิจการของ WWE ไม่ว่าจะเป็น Comcast, Disney, Warner Bros Discovery, Paramount Global, Apple, Amazon และ Netflix

ซึ่งถ้าเรามองแต่ละบริษัทที่ตกเป็นข่าวว่าสนใจจะซื้อ WWE ไปดูแลต่อ ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทด้านสื่อ และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ทั้งสิ้น เพราะพวกเขาเหล่านี้มองว่าเดิมที WWE ก็เป็นมวยปล้ำสำหรับการเอ็นเตอร์เทนคนดูแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดทำคอนเทนต์ให้สอดคล้องกับแพลตฟอร์มของตัวเองได้ด้วย

รีด แฮสติงส์ ซีอีโอเน็ต ฟลิกซ์ ตกเป็นข่าวสนซื้อ WWE

หลังจากนี้เราอาจได้ดูมวยปล้ำทุกสัปดาห์ผ่านทาง Netflix, Apple TV หรือเราอาจได้เห็นภาพยนตร์แบบยาวๆ ที่หยิบเอามวยปล้ำ WWE มาทำ โดยใช้นักแสดงเป็นนักมวยปล้ำภายในค่าย ที่ถูกสร้างโดยค่ายหนังยักษ์ใหญ่ อย่าง Disney หรือ Paramount

ตามการรายงานจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ของทางสหรัฐอเมริกา ระบุว่า วินซ์ แม็กแมน มองว่าการขาย WWE ในเวลานี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่เขาจะหลุดพ้นจากข่าวฉาวต่างๆ และเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะสร้างมูลค่าให้กับองค์กรแห่งนี้ได้มากที่สุด

เพราะถึง “ป๋าวินซ์” จะอำลาจากตำแหน่งประธานบริหาร และซีอีโอ แต่ทุกคนก็ยังทราบกันดีว่า WWE ยังเป็นของตระกูล “แม็กแมน” เพราะครอบครัวนี้ยังคงถือหุ้นอยู่แบบเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว

เรสเซิลเมเนีย ศึกใหญ่ที่สุดของ WWE

ปัจจุบันมวยปล้ำ WWE ยังมีแฟนคลับที่ติดตามอยู่อย่างเหนียวแน่นทั้ง Smackdown และ Raw รวมไปถึงศึกใหญ่ทั้ง 5 อย่าง WrestleMania, SummerSlam, Royal Rumble, Survivor Series และ Money in the Bank ทั้งการดูผ่านช่องลิขสิทธิ์ รวมไปถึงการซื้อ Pay-per-view

น่าสนใจว่าหาก WWE ขายกิจการให้แก่ผู้ที่สนใจได้สำเร็จ จะเป็นการขายหุ้นในรูปแบบใด และพวกเขาเหล่านั้นที่ซื้อหุ้นไปบริหารจะหยิบองค์กรมวยปล้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกแห่งนี้ไปบริหารงานอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง