บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลจากโครงการ RECO Young Designer Competition (รีโค่) ซึ่งเป็นประกวดแฟชั่นดีไซน์อัพไซคลิ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมจัดงานเดินแบบชุดโอกูตูร์ที่ผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
ผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 11 ทีม ได้นำเสนอผลงานออกแบบเพื่อความยั่งยืนผ่านเสื้อผ้า 33 ชุด ในงานแฟชั่นโชว์ครั้งที่ 9 ของโครงการ ที่สำนักงานใหญ่ของไอวีแอลในกรุงเทพฯ โดยเสื้อผ้าทุกชุดใช้วัสดุที่ PET และโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานแฟชั่นสุดครีเอทีฟ ภายใต้คอนเซ็ปต์ REVIVE: Start from the Street รีโค่สนับสนุนการพัฒนานักออกแบบไทยรุ่นใหม่ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ด้านการรีไซเคิล โดยผลงานต่างๆ ได้นำวัสดุรีไซเคิลที่หลากหลายมาผลิตชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยเส้นด้ายที่รีไซเคิลจาก PET เศษผ้าเหลือใช้จากโรงงาน หรือแม้แต่การนำเข็มขัดนิรภัยมาประยุกต์ใช้
ทั้งนี้ โครงการรีโค่ได้สนับสนุนผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดมูลค่ากว่า 500,000 บาท เพื่อส่งเสริมการเติบโตในสายอาชีพนี้ โดย นายเปรม บัวชุม ดีไซเนอร์งานเฟอร์นิเจอร์รุ่นใหม่ อายุ 23 ปี คว้ารางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัลมูลค่า 125,000 บาท จากคอลเล็กชัน ‘The Origin of Rebirth’ ซึ่งใช้ผ้ารีไซเคิลจากขวด PET ใช้งานแล้วเป็นวัสดุหลัก สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ นายสถิตคุณ บุญมี รับเงินรางวัลมูลค่า 75,000 บาท จากคอลเล็กชัน ‘Remembering Your Favorite Teddy Bear’ ซึ่งใช้ตุ๊กตาเก่าที่ทำจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์เป็นวัสดุหลัก ส่วนรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ นายวรเมธ มอญถนอม และนายธนกร ศรีทอง รับเงินรางวัล 50,000 บาท จากคอลเล็กชัน ‘Regeneration of Nature (into Spring)’ ซึ่งนำเศษผ้าและฟิล์ม PET ไม่ใช้แล้วมาประยุกต์ในผลงาน นอกจากนี้ นายนภัต ตันสุวรรณ ผู้เข้ารอบสุดท้ายในคอลเล็กชัน ‘Don’t Judge’ ได้เข้าร่วมออกแบบสินค้าที่ระลึกให้แก่สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งจะใช้เทคนิคการทอผ้าพื้นบ้านจากชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์
นางอาราธนา โลเฮีย ชาร์มา รองประธานอินโดรามา เวนเจอร์ส ในฐานะประธานโครงการ RECO Young Designer Competition กล่าวว่า “ตั้งแต่ปี 2554 โครงการรีโค่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการส่งเสริมการรีไซเคิล และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัสดุรีไซเคิลที่สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เราได้เห็นความคิดริเริ่มมากมายในการอัพไซเคิลผ่านคอลเล็กชันที่สร้างสรรค์โดยดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ ซึ่งการออกแบบในปี นี้แสดงให้เห็นถึงการใช้งานและนวัตกรรมที่น่าทึ่ง โดยที่ใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันความสนใจของสาธารณชนต่อการรีไซเคิลกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเรารู้สึกยินดีที่ได้กระชับความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับพันธมิตรอย่างสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด”
“อินโดรามา เวนเจอร์ส หวังว่า การแข่งขันครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันในการรักษาแนวคิดแฟชั่นที่ยั่งยืน และเพิ่มการยอมรับวัสดุรีไซเคิล โดยเฉพาะขวด PET ใช้งานแล้ว เราภูมิใจที่ได้เป็นบันไดสู่ความสำเร็จในเส้นทางสายออกแบบของคนรุ่นใหม่ และอนาคตที่ยั่งยืนของชุมชนต่อไป” อาราธนา กล่าว
นางสาวชิดชนก ชิดชอบ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าที่ระลึก บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด กล่าวว่า “เรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับไอวีแอลในโครงการรีโค่ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนจิตสำนึกการใช้ชีวิตด้วยความยั่งยืน เราได้เห็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ในการสร้างสรรค์ผลงานเชิงนวัตกรรมที่สนับสนุนความยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้ และทำให้การรีไซเคิลเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จึงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการรีไซเคิลให้เพิ่มมากขึ้น และปกป้องโลกของเรา”
ทั้งนี้ นายเปรม ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศ ต้องการสร้างแบรนด์และสตูดิโอสิ่งทอของตัวเอง เพื่อนำการออกแบบที่ยั่งยืนมาสู่ชีวิตของผู้คน และส่งต่อความรู้ของเขาไปยังผู้อื่นอีกด้วย เขากล่าวว่า “แรงบันดาลใจจากผลงานชิ้นนี้มาจากทฤษฎีบิ๊กแบง และความท้าทายในการใช้วัสดุรีไซเคิลมากกว่า 60% ในการรังสรรค์ผลงานชิ้นนี้ ผมได้นำเศษป้ายสินค้ามาอัพไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ที่สวยงาม โดยใช้เทคนิคต่างๆ ที่เพิ่มงามและทำให้สามารถใช้งานได้อย่างดี กระบวนการทอผ้าที่ใช้ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น และสามารถนำไปใช้ผลิตคอลเล็กชันเสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับตลาดในวงกว้าง ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรีโค่ และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่เกิดขึ้น และหวังว่าจะสามารถพลิกโฉมของแฟชั่นที่ยั่งยืนในประเทศไทยได้ไม่มากก็น้อย”