วิเคราะห์ตัวตน “แนนซี เปโลซี” ผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุดในการเมืองสหรัฐฯ!

(Photo by Sarah Silbiger/Getty Images)
หลายคนรู้แล้วว่า Nancy Pelosi หรือ “แนนซี เปโลซี” มีอาชีพบนเส้นทางการเมืองที่ยาวนาน และชีวิตของผู้หญิงวัย 82 ปีที่นั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนนี้ก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญหลังจากได้รับเลือกเข้าสู่สภาครั้งแรกในปี 1987 แต่ที่บางคนยังไม่รู้ คือ อิทธิพลของเปโลซีที่ฝังแน่นในแผ่นดินลุงแซมนั้นไม่ได้อยู่ที่การมาจากครอบครัวนักการเมืองคนสำคัญ แต่มาจากส่วนผสมหลากสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงสูงวัยคนนี้มีรูปแบบการบริหารอำนาจที่ไม่ธรรมดา

อำนาจของเปโลซีถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะการเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงค่ำวันอังคาร 2 ส.ค. 2022 โปรแกรมเยือนที่วางจุดประสงค์เพื่อแสดงออกถึง “พันธสัญญาอันคงเดิมของอเมริกา” ที่มีต่อเกาะปกครองตนเองซึ่งจีนเคลมว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนมังกร ผู้ที่เดินทางไปเยือนไม่ใช่ประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา แต่เป็นนักการเมืองหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของสหรัฐฯ นั่นคือแนนซี เปโลซี

(Photo by Chien Chih-Hung/Office of The President via Getty Images)

ไฮไลต์ชีวิต แนนซี เปโลซี

อิทธิพลของเปโลซีที่เห็นชัดจากภายนอกคือการเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสหรัฐอเมริกา เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเป็นสมัยที่ 4 ในปี 2022 ถือเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่เป็นผู้นำสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่น่าสงสัยเมื่อเปโลซีได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดจากนิตยสาร Forbes ในปี 2021

ก่อนจะมาเป็นนางเปโลซี ลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 7 คนนั้น เติบโตในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ ซึ่งพ่อของเธอรับหน้าที่เป็นนายกเทศมนตรี จนกระทั่งไปเรียนที่วิทยาลัยในวอชิงตัน จึงได้พบกับนักการเงิน “พอล เปโลซี” (Paul Pelosi) ทั้งคู่แต่งงานกันและตัดสินใจย้ายไปสร้างครอบครัวที่ซานฟรานซิสโก โดยที่นางเปโลซีรับหน้าที่เป็นแม่บ้าน ทั้งคู่มีลูก 5 คน เป็นลูกสาว 4 คนและลูกชาย 1 คน

แนนซี่ เปโลซี เริ่มอาชีพทางการเมืองของตัวเองในปี 1976 โดยก้าวเข้าสู่ชายคาพรรคเดโมแครตที่แคลิฟอร์เนีย และได้รับเลือกตั้งในเข้าสู่สภาด้วยวัย 47 ปี ในฐานะผู้แทนของเขตซานฟรานซิสโก จนอีก 20 ปีต่อมา เธอก็ได้ก้าวสู่ตำแหน่งประธานสภาในวัย 67 ปี ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้

(Photo by Win McNamee/Getty Images)

หนึ่งในภาพการทำงานที่โดดเด่นของเปโลซี คือการทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรงข้ามตัวหลักเรื่องการรุกรานอิรักของสหรัฐฯในปี 2546 โดยเรียกการรุกรานครั้งนั้นว่า “grotesque mistake” เพราะเป็นการตัดสินใจสุดผิดพลาดที่ไม่ได้ทำให้อเมริกามั่นคงขึ้นเลย นอกจากนี้ เปโลซี่ยังมีโมเมนต์ที่ทำให้มีภาพแพร่กระจายเป็นมีมที่ได้รับความนิยมบนอินเทอร์เน็ต นั่นคือช่วงเวลาที่เปโลซี่ปรบมืออย่างแดกดันหลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์จบเมื่อปี 2018 ขณะเดียวกัน เปโลซี่ยังมีชื่อเสียงในการตอกหน้าทรัมป์ต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ในอีก 1 ปีต่อมา

ล่าสุด เปโลซีออกมาปกป้องการเยือนไต้หวันของเธอด้วยการแสดงความคิดเห็นใน The Washington Post โดยเปโลซีเรียกร้องให้ชาวอเมริกันจดจำความมุ่งมั่นระดับชาติในการสนับสนุนประชาธิปไตยในไต้หวัน และพื้นที่อื่นทั่วโลก แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เปโลซีท้าทายรัฐบาลจีน เพราะกว่า 30 ปีที่แล้ว เปโลซีเคยปรากฏตัวขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกางป้ายให้เกียรติผู้ไม่เห็นด้วยที่ถูกสังหารในการประท้วงปี 1989 ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

5 ส่วนผสมเพิ่มอิมแพคอิทธิพล

ตั้งแต่สงครามในอิรัก ไปจนถึงการมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือการจับมือบารัค โอบามาระหว่างร่างกฎหมายตามนโยบายโอบามาแคร์ (Obamacare) และการเป็นฝ่ายต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ออย่างจริงจัง ทุกอย่างสะท้อนว่าเปโลซีมีส่วนผสมในการปรุงอิทธิพลของตัวเองไม่น้อยกว่า 5 ส่วน

ส่วนแรกคือ มรดกทางการเมือง เพราะแม้ว่าเปโลซีมักจะยืนยันว่าเธอไม่เคยตั้งใจจะลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ชัดเจนว่าเปโลซีมาจากครอบครัวที่มีฐานเสียงที่สำคัญ พ่อของเธอคือ โธมัส ดาเลซานโดร จูเนียร์ (Thomas D’Alesandro Jr) นั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบัลติมอร์และเป็นตัวแทนของเมืองนี้เป็นเวลา 5 วาระในสภาคองเกรส นอกจากนี้ โธมัส ดาเลซานโดรที่ 3 น้องชายของเธอยังดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบัลติมอร์ด้วย

Photo : Shutterstock

โดยเปโลซีก็เคยเข้าร่วมในแคมเปญของพ่อมาก่อน

เดวิด อาเซลร็อด (David Azelrod) อดีตหัวหน้านักยุทธศาสตร์ของแคมเปญโอบามา เคยถามเปโลซีเกี่ยวกับสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากคุณพ่อ เธอตอบว่าได้เรียนรู้ “วิธีการนับคะแนน” เพราะได้รับการฝึกในระดับสูงเกี่ยวกับวิธีการนับคะแนนเสียงโหวต วิธีการลงคะแนน และวิธีสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม

ส่วนที่ 2 คือการเป็นผู้หญิงในหมู่ผู้ชาย เรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อเปโลซีได้รับเลือกเข้าสู่สภาครั้งแรกในปี 2530 มีผู้แทนสตรีเพียง 23 คนในสภาที่มีสมาชิก 435 คน ในเดือนมกราคม 2550 เปโลซีกลายเป็นผู้หญิงคนแรกของสภา ซึ่งเวลานั้นเธอกล่าวว่า “ดิฉันรอสิ่งนี้มากว่า 200 ปี” กลายเป็นวลีมีชื่อเสียงที่ทำให้เธอได้คะแนนความนิยมท่วมท้น

ส่วนที่ 3 คือการร่วมผลักดันโครงการที่ประชาชนประโยชน์ นั่นคือการจับมือกับโอบามาเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการดูแลสุขภาพระดับชาติที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ในราคาไม่แพงหรือที่รู้จักในชื่อโอบามาแคร์ นักยุทธศาสตร์ทำเนียบขาว รวมทั้งโอบามาต้องพยายามจูง ส.ส. ทั้ง 2 พรรคให้ร่วมผ่านร่างกฎหมาย เนื่องจากต้องเผชิญกับการคัดค้านจากบุคคลภายในพรรคการเมืองจำนวนมาก จุดนี้มีลักษณะคล้ายกับส่วนที่ 4 นั่นคือการตัดสินใจออกแรงอุ้มเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่หนักขึ้นอีกในปี 2551

เมื่อปี 2551 นั้นมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก มุมมองส่วนใหญ่ในพรรคเดโมแครตไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือหรืออุ้มชูผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากรัฐบาลบุชกำลังจะหมดวาระในเวลาอีกเพียง 2 เดือนถัดมา เวลานั้นมีข่าวว่าแทนที่จะช่วยรัฐบาลและสังคมอเมริกันด้วยเงินช่วยเหลือเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ พรรคเดโมแครตนั้นลังเลว่าควรปล่อยให้เศรษฐกิจพังทลายและตำหนิทุกอย่างว่าเป็นผลจากการบริหารของบุช แต่เปโลซีไม่เห็นด้วย และโทรต่อสายหารัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เพื่อให้ความร่วมมืออย่างทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในบ้านเกิด

เปโลซีให้ความเห็นว่าการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นเพราะมุมมองว่านี่เป็นความรับผิดชอบของสภา ที่ควรจะช่วยหลีกเลี่ยงทุกหายนะที่อาจเกิดขึ้น สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นประเด็นที่ปักหลักในวอลล์สตรีท แต่เธอเชื่อว่าวิกฤตนี้มีโอกาสจะลุกลามไปสู่ทุกเมืองในสหรัฐอเมริกาด้วย

ส่วนสุดท้ายคือการวางโจทย์หลักอันดับ 1 ไว้ที่การให้ความสำคัญกับเยาวชน เรื่องนี้เปโลซีบอกว่าเด็กน้อยทุกคนจะเป็นลูกหลานของชาติ และสำหรับลูกๆ ทุกคนในอเมริกา บ้านจะต้องเป็นไปตามระเบียบ โดยเปโลซีได้สาบานตนกับกลุ่มเยาวชนคนอื่นๆ ที่ยืนข้างประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2019 ด้วย

Nancy Pelosi จึงเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุดในการเมืองสหรัฐฯ ด้วยประการฉะนี้

ที่มา Indiatoday, Livemint, Ndtv