รายได้ธุรกิจ “เกม” ของยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft, Sony, Nintendo ต่างลดลงถ้วนหน้าในรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2022 หมดช่วงอานิสงส์ล็อกดาวน์ คนกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้าน รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อทำให้ต้องรัดเข็มขัด และการส่งมอบฮาร์ดแวร์ไม่เป็นไปตามเป้าจากวิกฤตชิปขาดแคลน
ไตรมาส 2/2022 (เดือนเมษายน-มิถุนายน) ถือเป็นช่วงที่ธุรกิจเกมหมดอานิสงส์จาก COVID-19 อย่างแท้จริง ในภาพกว้างจากตลาดเกมสหรัฐฯ บริษัทวิจัย NPD รายงานว่า มูลค่าตลาดลดลง -13% จากปีก่อนหน้า เหลือเพียง 1.24 หมื่นล้านเหรียญเท่านั้น (ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท)
นั่นทำให้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเกมหลายรายรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2022 ต่ำลงกันเกือบทั้งหมด เช่น
- Sony รายได้ลดลง -2% YoY และกำไรจากการดำเนินงานลดลง -37% YoY (หลังจากนั้นบริษัทมีการลดคาดการณ์กำไรสุทธิของทั้งปี 2022 ลดลง -16% จากคาดการณ์เดิม)
- Microsoft รายได้ธุรกิจเกมลดลง -7% YoY ยอดขายคอนโซล Xbox ลดลง -11% YoY รายได้กลุ่มคอนเทนต์และบริการเกี่ยวกับเกมลดลง -6% YoY
- Nintendo ยอดขายคอนโซล 43 ล้านเครื่อง ลดลง -23% YoY ยอดขายซอฟต์แวร์เกมลดลง -8.6% YoY กำไรจากการดำเนินงานลดลง -15% YoY
ไม่ใช่แค่รายใหญ่ แต่บริษัทพับลิชเชอร์เกมหลายรายก็ประสบปัญหา เช่น Activision Blizzard บริษัทเกมที่ Microsoft เข้าซื้อกิจการ และเป็นผู้พัฒนาเกมสุดฮิต ‘Call of Duty’ ก็รายงานกำไรสุทธิลดลง -70% YoY และรายได้ลดลง -29% YoY ในไตรมาสที่ผ่านมา หรือบริษัท Ubisoft ผู้พัฒนาเกม ‘Assassin’s Creed’ ก็รายงานยอดขายลดลง -10% YoY
มีแค่ Electronic Arts ที่เป็นหนึ่งในบริษัทเกมจำนวนน้อยมากๆ ซึ่งสามารถฝ่าด่านปัจจัยลบมาได้ และทำรายได้เติบโต 14% YoY ทำกำไรเพิ่มขึ้น 50% YoY
หลายปัจจัยสิ้นสุดช่วงนาทีทองของธุรกิจ “เกม”
ประเด็นแรกที่ส่งผลชัดเจนคือการผ่อนคลายกิจกรรมนอกบ้านหลังพ้นวิกฤต COVID-19 ทำให้คนหันไปใช้ชีวิตนอกบ้านเหมือนเก่า และลดเวลาเล่นเกมหรือกิจกรรมบันเทิงภายในบ้านลง
อีกประเด็นคือการขาดแคลนชิป ทำให้ตลาดไม่สามารถส่งมอบอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ได้ตามเป้าหมาย Nintendo ระบุถึงสาเหตุนี้ว่าเป็นปัจจัยหลัก ทำให้บริษัทผลิตเครื่องคอนโซล Switch ไม่ทันตามความต้องการ
ไมเคิล แพชเตอร์ กรรมการผู้จัดการ Wedbush Securities กล่าวว่า การส่งมอบคอนโซลไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้รายได้และกำไรบริษัทเกมลดลง เพราะปกติผู้ซื้อฮาร์ดแวร์เกมเครื่องใหม่มักจะซื้อเกมเป็นจำนวนมาก และทั้ง Switch กับ PlayStation ต่างประสบปัญหาเดียวกันในสายการผลิต
แม้แต่การทำงานทางไกลในช่วงล็อกดาวน์ ก็มีผลกระทบต่อเนื่องกับบริษัทเกมด้วยเหมือนกัน เพราะทำให้การผลิตเกมยอดฮิตที่คนอยากจะซื้อออกมาไม่ทันความต้องการ เช่น Microsoft ต้องดีเลย์การปล่อยเกม Starfield ออกไปจนถึงต้นปี 2023 หรือบริษัท Ubisoft ก็ต้องชะลอการเปิดตัวเกม Avatar ไปก่อน
อย่างไรก็ตาม แพตเชอร์มองว่า ตัวเลขที่น่าผิดหวังเหล่านี้เกิดจากการเปรียบเทียบกับ “ผลการดำเนินงานที่ดีเลิศ” เมื่อปีก่อนนี้ กล่าวง่ายๆ ก็คือ เมื่อปีก่อนธุรกิจเกมทำรายได้สูงมากจนเป็นไปไม่ได้ที่ปีนี้จะทำได้อีก การที่รายได้ลดลงเป็นเรื่องที่คาดหมายไว้แล้ว
ปัจจัยลบยังไม่หมด?
ปัจจัยลบของธุรกิจเกมยังไม่หมดเท่านี้ เพราะปีนี้ยังมีประเด็นเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นในทุกด้าน และอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
ปิแอร์ส ฮาร์ดิง-โรลส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยที่ Ampere Analysis เปิดเผยกับ CNBC ว่า ผลกระทบของค่าครองชีพน่าจะมีผลต่อสินค้าราคาสูงก่อน โดยเกมคอนโซลจะรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย แต่ในระยะต้น ดีมานด์ที่ยังค้างอยู่จากการขาดแคลนชิปจนผลิตไม่ทัน จะทำให้ปัจจัยนี้ยังมีผลกระทบน้อยกว่ากับสินค้าเกมคอนโซลถ้าเทียบกับสินค้าราคาสูงอื่นๆ
แต่เงินเฟ้อก็จะมีผลกดดันต่อการใช้จ่ายภายในเกมของเกมเมอร์แทน เพราะพวกเขาจะต้องปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง
บางบริษัทเกมเริ่มมีการปรับแผนเพื่อรับมือแล้ว โดยหันไปเน้นการสมัครสมาชิกแทนการขายเกมเป็นครั้งๆ Microsoft รายงานว่าแผนสมัครสมาชิก Game Pass ของ Xbox ช่วยลดความรุนแรงของดีมานด์ที่ลดลงได้มาก ขณะที่ Sony ก็มีการปรับปรุงสิทธิสมาชิก PS Plus โดยหวังว่าจะช่วยพยุงรายได้ต่อไป ปัจจุบัน ณ ไตรมาสสอง PS Plus มีสมาชิกอยู่ 47.3 ล้านราย ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย