ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ TPL PR Footballer

ในเดือนที่ผ่านมาชื่อของร็อบบี้ ฟาวเลอร์ หรือ “เดอะ ก็อด” กลายเป็นชื่อที่ฮอตที่สุดในจอทีวี และหนังสือพิมพ์ทั้งหน้า 1 และหน้ากีฬา ด้วยเซอร์ไพรส์ที่นักฟุตบอลระดับโลก ได้กลายเป็นหนึ่งในนักเตะประจำการแข่งขัน ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก ในฐานะศูนย์หน้าของทีมเมืองทอง หนองจอก ยูไนเต็ด

ดังเพราะใช้คนมีแบรนด์
ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ทำสัญญากับทีมเมืองทองฯ 1 ปี ด้วยค่าตัว 20 ล้านบาท ส่วนค่าเหนื่อยก็อยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งถ้าหากว่าคิดเป็นเงินปอนด์สเตอลิงตามความคุ้นเคยของฟาวเลอร์แล้วล่ะก็ ต้องบอกว่าถูกเหลือเชื่อ คิดเลขกลมๆ ที่ 50 บาทต่อปอนด์ ก็เท่ากับเขาได้แค่ 20,000 ปอนด์ต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าที่เขาเคยได้รับจากเพิร์ธ กลอรี ในประเทศออสเตรเลีย เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับฟาวเลอร์เพราะจนกระทั่งวันที่สังขารร่วงโรยขนาดนี้ ฟาวเลอร์ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นนักเตะที่มีรายได้อันดับที่ 11 ของเกาะอังกฤษ จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว แต่ที่ฟาวเลอร์เลือกมาเมืองไทยแทนที่จะเป็นสโมสรพลีมัธ ในลีกวันของอังกฤษก็เพราะชื่นชอบเมืองไทย ที่เขาเองมาเที่ยวเองเป็นการส่วนตัวบ่อยครั้ง

โมเดลการดึงซุปตาร์ที่กำลังอยูในช่วงสุดท้ายของชีวิตการค้าแข้งมาเพื่อสร้างสีสีนทั้งในและนอกสนามไม่ใช่เรื่องใหม่ เจ-ลีก ของประเทศญี่ปุ่นในยุคเริ่มต้น ก็ดึงตัวเปเล่ขาว “ซิโก้” มาเล่นให้ทีมคาชิมา แอทเลอร์ส ตั้งแต่ปี 1992

เมเจอร์ลีก ซอกเกอร์ของสหรัฐอเมริกาก็ทำเช่นเดียวกัน โดยดึงตัว เดวิด เบ็คแฮ่ม มาอยู่กับแอล.เอ กาแล็คซี่ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยมูลค่าทางการตลาดของเบ็คแฮ่มนั้นคุ้มค่า เพราะชีวิตนอกสนามของมิดฟิลด์สุดหล่อกับภรรยา วิคตอเรีย ก็เป็นสินค้าที่ขายได้ ผู้ชายอาจจะติดตามเบ็คแฮ่มในด้านที่เขาเป็นนักกีฬา แต่ในอีกด้านหนึ่งสองสามี-ภรรยาคู่นี้ก็ได้รับความสนใจจากผู้หญิงในฐานะเซเลบริตี้ได้เช่นเดียวกัน

แค่ขยับก็เป็นข่าว
สำหรับเมืองทองฯ ยูไนเต็ด การลงทุน 20 ล้านบาท บวกกับค่าจ้างเดือนละ 1 ล้านบาทต่อเดือน หากเทียบกับการลงทุนเพื่อพัฒนาทีมแล้วอาจะไม่คุ้มค่านัก เพราะร็อบบี้ ฟาวเลอร์อยู่ในช่วงปลายของชีวิตการค่าแข้ง ประโยน์ที่เมืองทองฯ จะได้จากศักยภาพในสนามของฟาวเลอร์ก็แค่การเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกทีมคนอื่นๆ พัฒนาฝีเท้า แต่ประโยชน์นอกสนามของร็อบบี้ ฟาวเลอร์กลับเป็นจุดเด่นหลักของดีลที่อิงกับการตลาด

เพียงแค่ก้าวแรกหลังจากลงเครื่องบิน ภาพของร็อบบี้ ฟาวเลอร์ที่ยกมือ “ไหว้” ผู้บริหารทีม กับแฟนบอลที่มาต้อนรับก็ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ 2 สัปดห์แรก เขาตระเวนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมากกว่าลงซ้อมในสนาม ทั้งรายการกีฬาโดยตรง เช่น ช็อตเด็ด กีฬาแชมป์ ทางช่อง 3 และสปอร์ตแฟน ทางช่อง 7 ที่การันตีความฮอตของเดอะก็อดได้ดีก็คงเป็นการออกรายการวาไรตี้อย่าง “เช้าดูวู้ดดี้” และ “วู้ดดี้ เกิดมาคุย” ทางช่อง 9 ภายในสัปดาห์เดียว

ฟาวเลอร์ ยังกลายเป็น Brand Ambassador ของทีม เพียงแค่วันแถลงข่าว เสื้อหมายเลข 9 พร้อมกับชื่อ R.FOWLER ก็ขายหมดเกลี้ยง 3 พันตัว คิดเป็นมูลค่า 2.5 ล้านบาท และสร้างพื้นที่ข่าวมากขึ้นเมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีร่วมเดินทางมางานแถลงข่าวเปิดตัว พร้อมกับมีช็อตเด็ดให้นักข่าวได้ชักภาพเมื่อฟาวเลอร์มอบเสื้อ เบอร์1 ให้กับน้องไปป์ ลูกชายของว่าที่นายกฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลเป็นการส่วนตัว เมื่อฟาวเลอร์ลงซ้อมหรือว่าเดินทางไปอยู่ข้างสนามเพื่อเชียร์เพื่อนร่วมทีมกองทัพนักข่าวกีฬาก็พุ่งความสนใจมาที่ม้านั่งสำรองข้างสนาม พอๆ กับผลการแข่งขัน

นักเตะต่างชาติทางลัดสร้างแบรนด์
การดึงฟาวเลอร์เข้าสู่ทีม ยังทำให้แฟนบอลที่เคยดูแต่บอลนอก สาวกลิเวอร์พูล ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ทีมที่มีคนเชียร์มากที่สุดในไทย หันกลับมามองฟุตบอลไทย และมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะเชียร์ทีมเมืองทองฯ ยูไนเต็ด ซึ่งนับวันมูลค่าของสินค้าที่ระลึกจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ไม่น้อยไปกว่าตั๋วเข้าชม ดังที่จะเห็นได้จากวันที่แมตช์สำคัญๆ รายได้จากอุปกรณ์เชียร์กับมูลค่าบัตรแทบจะอยู่ในสัดส่วน 50-50%

ผลพลอยได้ประการสุดท้ายของการซื้อตัวร็อบบี้ ฟาวเลอร์เข้าสู่ทีมก็คงเป็นการสนองความสะใจของรณฤทธิ์ ซื่อวาจา ผู้จัดการทีมกิเลนผยอง ที่ตัวเขาเองก็เป็นเด็กหงส์ตัวจริงคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความพยายามดึงนักฟุตบอลแบรนด์เนมที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตค้าแข้งในไทย ชื่อของ ไรอัน กิ๊กส์ ยังถูกพูดถึงอยู่เสมอเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ หรือแม้แต่ในแง่ของสโมสรที่พยายามดึงนักเตะสโมสรดังเข้ามาเตะในบ้านเรา ทั้งจากสินค้าระดับโกลบอล เช่น โค้ก ที่ดึงเชลซี ยอดทีมจากอังกฤษเข้ามาได้ หรือบุรีรัมย์ พีอีเอก็มีข่าวเจรจาเอาทีมดังทั้งจากอังกฤษ, อิตาลี เขามาเตะเพื่อฉลองเปิดสนามใหม่ให้ได้

ปัจจุบันกฎเกณฑ์ของไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก ว่าด้วยเรื่องโควต้านักฟุตบอลต่างชาติ แต่ละทีมสามารถมีนักเตะได้ 7 คน ใส่ชื่อลงสนามได้จริงในแต่ละนัดทั้งตัวจริงและตัวสำรองรวม 5 คน (มีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงในอนาคต) นักเตะที่ได้รับความนิยมอิมพอร์ตเข้ามามากที่สุดก็คงจะเป็นสัญชาติแอฟริกามี 4 ชาติหลัก คือ กานา ไนจีเรีย ไอวอรีโคสต์ และแคเมอรูน เพราะสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกันรวมทั้งค่าเหนื่อยที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ก็มีนักฟุตบอลจากยุโรป ทั้งอังกฤษ สกอตแลนด์ โรมาเนีย เซอร์เบีย ฝรั่งเศส และฟินแลนด์ ส่วนอเมริกาใต้ก็เช่นบราซิลและอาร์เจนตินา นอกจากนี้ก็ยังมีประเทศในเอเชียด้วยกัน นักเตะจากเกาหลีใต้ที่เข้ามาเล่นเฉพาะไทยลีกถึง 15 คน ตามด้วยญี่ปุ่นอีก 13 คน จีน 2 คน ลาว 2 คน และปากีสถานอีก 1 คน

สปอนเซอร์แรกของ Stadium Name
ฤดูกาล 2011/2012 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ดีลเปลี่ยนชื่อสนามให้สอดคล้องกับชื่อสปอนเซอร์ที่แพงที่สุดต้องยกให้กับทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้เซ็นสัญญากับสายการบิน Ethihad มูลค่า 642.2 ล้านเหรียญสหรัฐภายในกรอบเวลา 10 ปี เพื่อเปลี่ยนชื่อสนามเหย้าจาก “ซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์” ให้กลายเป็น “Etihad Stadium” พ่วงกับดีลที่แบรนด์สายการบินแห่งนี้จะปรากฏอยู่บนหน้าอกเสื้อของทีมเรือใบสีฟ้า และก่อตั้ง Ethihad Campus ศูนย์กีฬาเยาวชนเข้าไปด้วย อีกหนึ่งความภูมิใจของคนไทยที่โลดแล่นอยู่ในลีกดังของอังกฤษก็คือชื่อ คิง พาวเวอร์ สเตเดี้ยมของทีมเลสเตอร์ซิตี้ ที่งานนี้กลุ่มคิง พาวเวอร์ซื้อทั้งสโมสรซื้อทั้งชื่อสนาม

แต่ถ้าจะย้อนกลับไปดีลแรกที่ปิ๊งไอเดียการเปลี่ยนชื่อสนามแข่งให้เป็นชื่อเดียวกับผู้สนับสนุนก็คือสนาม McCain stadium ของทีม Scarborough ที่เปลี่ยนชื่อสนามจาก Athletic Ground ให้เป็นไปตามชื่อบริษัทอาหารแช่แข็งที่เข้ามาซื้อสิทธิ์ในปี 1988

ในไทย ยามาฮ่า สเตเดี้ยม ความจุ 20,000 ที่นั่งของเมืองทองหนองจอก ยูไนเต็ดเป็นต้นตำรับ ด้วยมูลค่า 100 ล้านบาท พร้อมทั้งดีลที่ปรากฏชื่อยามาฮ่าบนหน้าอกเสื้อของทีมกิเลนผยอง 3 ปี ทีมเต็งแย่งแชมป์ที่ตอนนี้อยู่ตำแหน่งจ่าฝูงอย่าง บุรีรัมย์ พีอีเอ ก็มาทีหลังดังกว่าใช้ความได้เปรียบของคนที่เห็นตัวอย่างจากเมืองทองฯ จึงขยายจาก ไอ โมบาย สเตเดี้ยม ที่เดิมจุผู้คนได้ 17,000 คน ให้กลายเป็น นิว ไอ โมบาย สเตเดี้ยม ที่มีความจุ 24,000 คน พร้อมเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ ครบครัน จนกลายเป็นสนามฟุตบอลที่ดีที่สุดในประเทศไทย ด้วยระยะเวลาการสร้างปีเดียว ส่วนมูลค่าสปอนเซอร์นั้น ได้รับการเปิดเผยเพียงแค่ว่าในปี 2011 บุรีรัมย์ พีอีเอ มีผู้สนับสนุนทั้งหมด 10 รายรวมมูลค่า 100 ล้านบาท