เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 เติบโตอยู่ที่ 2.5% โดยพระเอกหลักในไตรมาสนี้คือภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของภาครัฐกลับชะลอตัวลง ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าปีนี้ GDP ไทยอาจเติบโตสูงสุดแค่ 3.2%
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี 2022 นั้น GDP ไทยเติบโตได้ 2.5% แย่กว่ามุมมองนักวิเคราะห์ที่ Bloomberg ทำสำรวจไว้ ซึ่งคาดไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในไตรมาส 2 ได้ถึง 3.1%
แต่ถ้าหากคิดเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 0.7%
ปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 นั้นมาจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการบริการ เช่น ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาคการขนส่ง เป็นต้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว รวมถึงการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง
ตัวเลขสำคัญของเศรษฐกิจไทย
- การบริโภคของภาคเอกชนเติบโตได้มากถึง 6.9% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา
- การบริโภคของรัฐเติบโต 2.4% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา
- การลงทุนรวมทั้งภาครัฐและเอกชนโตติดลบ 1% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา
- การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำ ในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 9.9% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2022 นี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอยู่ในช่วง 2.7-3.2% เป็นการปรับคาดการณ์จากเดือนพฤษภาคมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตในช่วง 2.5 -3.5% โดยมองว่าปัจจัยสนับสนุนเช่น มาตรการผ่อนคลายของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 9.5 ล้านคน ภาคการเกษตรที่ได้รับผลดีจากราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้อยู่ในช่วง 6.3-6.8% มากกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4.2-5.2% แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงมาก
ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2022 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมองไว้ ได้แก่ความขัดแยังด้านภูมิรัฐศาสตร์ ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วปรับดอกเบี้ยรุนแรงกว่าคาดจากปัญหาเงินเฟ้อ แนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง หรือแม้แต่ปัญหาหนี้สินของภาคเอกชนไทยที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น