เบื้องหลัง “KUB-บิทคับ” แข็งเมือง! ถือดีเพราะมีอดีตรองเลขาฯ ก.ล.ต.นั่งกุนซือ!!?

บทความโดย ibit ผู้จัดการออนไลน์
เปิดตัว “ทิพยสุดา” อดีตรองเลขาฯ ก.ล.ต. ที่ปรึกษา “บิทคับ” กรณี “KUB Coin” ไม่ได้มาตรฐาน ก.ล.ต.สั่งให้แก้ แต่ “บิทคับ” กล้าที่จะประกาศยืนยันว่า “เหรียญเทพ” แล้ว ไม่ต้องแก้อะไร ปฏิบัติการเย้ยหยันมาตรฐานเรกกูเลเตอร์ หรือจะเป็นศึกโดยคน ก.ล.ต.กันเอง???

ยืนยันมาตรฐานสุดลิ่มสำหรับ “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด” ที่ออกประกาศผ่านเพจ Bitkub วันที่ 4 ส.ค. ว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีคำสั่งการให้บริษัท แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB ในการเข้ามาให้บริการซื้อขาย ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ โดยให้ประสานกับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (บิทคับ บล็อกเชน) ผู้ออกเหรียญ KUB ให้แก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ของเหรียญ KUB หรือ Bitkub Chain ให้เป็นไปตามคะแนนที่คณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 นั้น

ล่าสุด บริษัทฯรายงานว่า ได้ประสานงานกับ “บิทคับ บล็อกเชน” และยืนยันว่ามาตรฐานเทคโนโลยีของ โปรเจกต์ของเหรียญ KUB หรือ Bitkub Chain เป็นเทคโนโลยีที่ได้มาตรฐาน มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร และเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่พร้อมแก่การให้บริการตั้งแต่วันแรกที่มีการออกและเสนอขายให้แก่นักลงทุน

ดังนั้น บริษัทฯ จึงเชื่อว่า เหรียญ KUB เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีโครงสร้างเครือข่ายบล็อกเชนที่ได้มาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากนี้อยู่ระหว่างดำเนินการส่งหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับความเหมาะสมของการให้คะแนนเหรียญ KUB ในการนำเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตามที่ ก.ล.ต. ร้องขอ

ยืนยันมาตรฐานแต่ขอยืดเวลา

พูดง่ายๆ คือ “กลุ่มบิทคับ” ยืนยันมาตรฐานของเหรียญ และการให้คะแนนเพื่อนำเหรียญเข้ามาซื้อขายยนกระดานของตนเองนั้นมีมาตรฐานสูง คะแนนที่ได้มีความเหมาะสมทุกอย่างอยู่แล้ว แต่ที่น่าแปลกใจหากเป็นเอกสารชี้แจงฉบับเดียวกัน ทำไม ก.ล.ต.จึงต้องออกมาเป็นคำสั่งให้แก้ไข หรืออ่านหนังสือเล่มเดียวกันแต่เข้าใจกันคนละความหมาย และทำไมต้องขอยืดเวลา

งานนี้แว่วๆ ว่ากว่าจะออกมาซ่าส์ กระต่ายขาเดียวยืนยันประสิทธิภาพเหรียญ KUB ครั้งนี้ “กลุ่มบิทคับ” ก็ต้องคร่ำเครียดไม่น้อย ไม่งั้นคงชี้แจงไปตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 ตามกำหนดของ ก.ล.ต.ที่ให้เวลา 30 วันไปแล้ว แต่กลับขอยืดเวลาชี้แจงออกไปอีก จากนั้นก็ออกมาอ้างมาตรฐานที่กำหนดเองว่าถูกต้องทุกอย่างไม่จำเป็นต้องแก้ไข

แต่วงในเชื่อกันว่าเครียดหนักตั้งแต่วั้นแรกที่โดน ก.ล.ต.มีมติสั่งการ นั่นเพราะหากเกิดการแก้ไขจริงย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นในตัวเหรียญ KUB ของนักลงทุน ยิ่งทุกวันนี้ก็อยู่ในช่วงขาลงอยู่แล้ว หากต้องแก้ไขการให้คะแนน หรือถูกเพิกถอนเหรียญ KUB ออกยิ่งมีแต่แย่ลงไปอีก ไม่มีช่องทางไหนที่จะเป็นปัจจัยบวกให้ “บิทคับ” และเหรียญ KUB เลย

“บิทคับ” เหิมหนักดื้อแพ่งซ้ำซาก

ย้อนไปก่อนหน้านี้ 6 พ.ค. 65 ก.ล.ต. รายงานว่า คณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งปรับบริษัท บิทคับ ออนไลน์ (BO) และกรรมการ 5 คน ในคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของ BO ในกรณีที่คัดเลือก Bitkub Coin (เหรียญ KUB) เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI)

โดยกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย นายนิธิวัฒน์ มณีสินธุ์, นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ, นายปิยพงษ์ โคตรชนะ, นายพงศกร สุตันตยาวลี และนายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำเป็นเหตุให้ BO คัดเลือกเหรียญ KUB ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 94 ของ พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้ปรับเงินรายละ 2,533,500.00 บาท และบิทคับเอง 2,533,500.00 บาท

โดยครั้งนั้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ก.ล.ต.มาแล้วครั้งหนึ่ง ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บิทคับ ประกอบธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วนตามหลักบรรษัทภิบาลและจริยธรรมทางธุรกิจ โดยในส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเหรียญ KUB (Bitkub Coin) บริษัทพิจารณาคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำเข้าสู่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละครั้ง จากหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) เดียวกัน

พร้อมทั้งยืนยันว่า ได้พิจารณาทบทวนคุณสมบัติของเหรียญ KUB (Bitkub Coin) แล้ว เหรียญ KUB ยังคงมีคุณสมบัติเพียงพอและเป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามที่ได้เคยพิจารณาคัดเลือกไว้ และยังคงอยู่ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยบริษัทฯ ตามปกติรวมทั้ง บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. มาโดยตลอด โดยขอแจ้งดังต่อไปนี้

1. บริษัทฯ พิจารณาคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing Rule) โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักลงทุนและคำนึงถึงความเสี่ยงของเหรียญเป็นสำคัญ ซึ่งบริษัทฯ ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหรียญเพื่อให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหรียญก่อนการเปิดให้ซื้อขายทุกครั้ง

2. บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามกระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (Listing) เช่น มีการหารือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง และการขอ Profile listing ID ก่อนที่จะนำเข้าสู่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทฯ เป็นต้น เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามหลักการและขั้นตอนที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. นอกจากนี้ หลังจากที่ได้รับทราบประเด็นข้อสังเกตจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว บริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับแจ้งแล้ว

3. บริษัทฯ มีการติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่เป็นประจำ และมีการแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบผ่านช่องทางของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ

“บิทคับ ยืนยันได้ตระหนักถึงหลักบรรษัทภิบาลมาโดยตลอด ซึ่งให้ความสำคัญและยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยถือประโยชน์ของลูกค้า นักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง รวมทั้งมีการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมาตรฐานในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดีให้เกิดขึ้นต่อไป”

เจ้าของตลาดออกเหรียญเองไม่รวย?

นอกจากนี้ การกำหนดและให้คะแนนเหรียญเอง แถมยังเอามาเข้าซื้อขายบนกระดานของตัวเองมันก็ชวนให้น่าคิดว่าจะช่วยทำให้ราคาเหรียญ KUB ปรับตัวขึ้นได้ง่ายหรือเปล่า? เหมือนแข่งรถยนต์ที่เจ้าของสนามแข่งรถ มีรถแข่งของตัวเองมาเข้าร่วมแข่งขันด้วย ความได้เปรียบ หรือประโยชน์ หรือสิทธิพิเศษมันย่อมมีมากกว่าปกติ งานนี้มีแต่ได้กับได้ หรือทับซ้อนกันแบบ Conflict of interest หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม สงสารก็แต่นักลงทุนรายย่อยจะไม่ทันเกมส์ เมื่อคนคุมกระดานเป็นเจ้าของเดียวกับเหรียญ ดังนั้นแค่เรื่องนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่ก.ล.ต.จะมีคำสั่งให้ชี้แจงแก้ไข เพื่อให้มันโปร่งใส และควรเป็นเรื่องที่ “บิทคับ” ต้องทำให้กระจ่าง

ซ่าส์ได้เพราะมีกุนซือช่วย

ย้อนกลับมาที่คำสั่งแก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาซื้อขายบนกระดาน “บิทคับ ออนไลน์” แว่วมาว่าในการประชุมครั้งนั้น (30 มิ.ย.2565) เฉพาะเรื่องเหรียญ KUB ที่ประชุมคณะกรรมการก.ล.ต.มีการถกเหตุผลกันแบบมาราธอนร่วม 3 ชั่วโมงกว่าจะมีมติเคาะออกมาเป็นคำสั่งดังกล่าวได้ ลือกันว่ามีความคิดเห็นที่แยกกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการแก้ไขชี้แจง แต่อีกฝ่ายออกตัวแทน “บิทคับ” ว่าที่ทำมาตลอดนั้นถูกทางแล้ว

รายงานว่าในฝั่งที่ออกกมาแก้ต่างให้ “บิทคับ” ล้วนเป็นทีมงานของอดีตมือดีของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต.มาตั้งแต่ต้น ได้ลาออก และผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาให้กับ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ “บิทคับ” จึงมีความเกรงใจหรือให้ความเคารพในฐานะเจ้านายเก่า

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2562 ก่อนจะลาออกจาก ก.ล.ต. และผันตัวมาเป็นที่ปรึกษาและกรรมการให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่ง อาทิ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 63 ถึงปัจจุบัน,กรรมการอิสระ ประธานกรรมการ ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน บริษัท โกลบอลคอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลูชิต้า คอนซัลติ้ง จำกัด รวมถึงที่ปรึกษา บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และอีกหลายบริษัท

ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองเลขา สำนักงาน ก.ล.ต.นั้น ทิพยสุดา นับเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญและโดดเด่น รวมเป็นคีย์สำคัญคนหนึ่งของ ก.ล.ต. โดยก่อนลาออกนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มอบโล่ประกาศเกียติคุณ ในพิธีเชิดชูเกียติ เพื่อแสดงความขอบคุณในฐานะผู้มีคุณูปการต่อ ก.ล.ต.ด้วย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562

ว่ากันว่า “ทิพยสุดา” หลังจากลาออกจากรองเลขาฯ ก.ล.ต. ยังคงคลุกคลีอยู่ในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี ที่ตนเองมีความชำนาญ โดยได้เข้าไปช่วยงานในสมาคมฟินเทคประเทศไทย ที่มี “กรณ์ จาติกวณิช” เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและชักชวนให้เข้ามาร่วมงาน ซึ่งในสมาคมฯ เองก็มีนักธุรกิจรุ่นใหม่ในแวดวงคริปโตฯ เข้ามาร่วมงานด้วย ซึ่งรวมถึง “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็นั่งเก้าอี้กรรมการบริหารของสมาคม ทำให้ไม่น่าใช่เรื่องแปลกใจที่อดีตมือดี ก.ล.ต.จะเข้ามาให้คำแนะนำช่องทางต่างให้แก่ “บิทคับ” เพื่อให้สะดวกโยธินในการตรวจสอบของ ก.ล.ต.

ความจริงผู้เล่นกับกรรมการไม่ควรร่วมก๊วนเดียวกัน เพราะนั่นย่อมช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้เล่นรู้ลึกถึงช่องทางต่างที่ๆ จะหลบเลี่ยง เกณฑ์หรือกฎในการควบคุมของ regulator อย่าง ก.ล.ต.ได้ รวมไปถึงความเกรงใจแฝงที่เกิดขึ้นในบรรดาทีมงานที่ยังอยู่ในก.ล.ต.ของอดีตมือถือ ทำให้ไม่กล้าที่จะดำเนินการหรือเกรงใจเสมอหากมีเรื่องที่ชวนสงสัยเกิดขึ้น ดังนั้นงานนี้หนีไม่พ้นที่ก.ล.ต.จะถูกครหาว่าโดนล้วงลูก เมื่อเจ้าหน้าที่เกรงใจผู้เล่น จนอาจกลายเป็นสปายแฝงอยู่ในองค์กร ย่อมทำให้การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดขึ้น เพื่อเอื้อเฟื้อ หรือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และถือเป็นเรื่องสำคัญที่ Regulator ควรออกมาแสดงความโปร่งใส งานนี้ คนที่ได้กับได้มีแต่ “บิทคับ” สร้างสัมพันธ์กับคนแค่คนเดียว ก็เหมือนได้คนของ ก.ล.ต.มาครึ่งโต๊ะ

Source