บทความโดย ibit ผู้จัดการออนไลน์
สถานีต่อไป KUB Coin โดนแขวน?!! หลังพบเหรียญไม่ตรงปก ถ้ายิ่งแก้เหรียญยิ่งแย่ ก.ล.ต.ห้ามใช้เหรียญซื้อขายสินค้าและบริการ มูลค่าลดฮวบ หลัง “SCBX” ล่มดีลซื้อหุ้น “บิทคับ” มูลค่า 1.78 หมื่นล้าน ย้อนแย้ง “ท๊อป จิรายุส” เสนอรัฐบาลส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ก้าวสู่ Digital Hub แต่กลับแหกกฎเอง วัดใจ ก.ล.ต.ต้องเพิกถอน “KUB Coin” เพื่อมาตรฐานที่ถูกต้องโปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้ลงทุนรายย่อย พร้อมตั้งข้อสังเกตผู้บริหาร “PROEN” ทราบดีลเอสซีบีเอกซ์ล่มก่อนรีบชิ่งหรือไม่
หลังจากที่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ประกาศยกเลิกการลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (บิทคับ) ในสัดส่วน 51% มูลค่ากว่า 17,850 ล้านบาท โดยระบุเหตุผลที่ชัดเจนว่า เนื่องจากบิทคับยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
โดยประเด็นสำคัญที่ บิทคับ ยังคงค้างอยู่ที่ ก.ล.ต. และไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ตามคำสั่ง จนกลายเป็นที่มาของการล้มบิ๊กดีลครั้งนี้ คือ กรณีที่ ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ บิทคับ แก้ไขคุณสมบัติของเหรียญ KUB ที่บริษัทให้คะแนนเหรียญตัวเองสูงเกินมาตรฐานอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ามาเทรดในกระดาน แต่บิทคับ กลับไม่แก้ไข พร้อมทั้งยืนยันเหรียญ KUB ดีและเหมาะสมมาตั้งแต่ต้น
มาดูจุดตั้งต้นของเหรียญ “KUB” ที่ท๊อปหวังใช้เทนเงินซื้อขายสินค้า
ทั้งนี้ Bitkub Coin หรือ KUB ออกโดย บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ในไวท์เปเปอร์ระบุ จำนวนเหรียญไว้ทั้งสิ้น 1,000 ล้านเหรียญ ก่อนจะเผาหรือทำลายทิ้ง 890 ล้านเหรียญ เหลือเพียง 110 ล้านเหรียญ เพื่อใช้สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียม (ค่า Gas) ในการทำธุรกรรมบนเครือข่าย เช่น การโอนสินทรัพย์ การจัดเก็บข้อมูล และอื่นๆ รวมถึงเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้งาน Smart Contracts หรือ Decenterlized Application (dApps) รวมถึงสามารถซื้อขายบนกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบิทคับ
ขณะเดียวกัน ผู้ถือเหรียญ KUB สามารถ Lock & Drop โดยจะได้รับสิทธิพิเศษผ่านแอปพลิเคชัน Bitkub NEXT ที่เป็นกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล ที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จํากัด ที่ผู้ถือสามารถฝากเหรียญ KUB ไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อรับสินทรัพย์ดิจิทัลและรางวัลอื่นจากพันธมิตร
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการจากพันธมิตรของ “บิทคับ” และร้านค้าทั่วไปสามารถเลือกรับเหรียญ KUB เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าสินและบริการ แม้เหรียญ KUB ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ชำระเงิน แต่พันธมิตรและร้านค้าทั่วไปสามารถเลือกที่จะรับเหรียญ KUB เพื่อใช้ได้ตามความเหมาะสม
หรือนี่จะเป็นนัยสำคัญที่ซ่อนเร้นอยู่ในไวท์เปเปอร์ ที่ “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ที่คิดการใหญ่ วาดหวังไว้ตั้งแต่แรก เพื่อจะสร้างและผลักดันให้เหรียญ KUB เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เป็นเงินดิจิทัลสกุลหลักหรือไม่
KUB ไม่ตรงปกเหตุปั่นเหรียญจากดีล “SCBX”
ขณะเดียวกันการประกาศเข้ามาลงทุนของกลุ่มเอสซีบีเอกซ์ ได้กลายเป็นจุดสร้างความสนใจให้ “บิทคับ” อีกครั้ง หลัง เอสซีบีเอกซ์ จะเข้ามาซื้อหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในสัดส่วน 51% มูลค่ารวมกว่า 17,850 ล้านบาท ทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาเก็งกำไรเหรียญ KUB เพราะคาดว่า หลังจากเอสซีบีเอกซ์ เข้ามาจะทำให้ธุรกิจของบิทคับ มีความมั่นคง และสร้างสามารถสร้างผลกำไรได้ในอนาคต
จากข่าวดังกล่าว ทำให้ราคาเหรียญ KUB ทะยานขึ้นทันที จากที่เคยลงไปต่ำสุดประมาณ 12 บาท พอมีดีลดังกล่าวเกิดขึ้น ราคาเหรียญขยับขึ้นจากเดิมที่ระดับ 30-33 บาท ขึ้นไปยืนเหนือ 500 บาท และโดนทุบลงมาเหลือเพียง 200 บาท ภายในเวลาไม่กี่วัน จนโดน ก.ล.ต. ต้องเข้ามาตรวจสอบถึงความผิดปกติว่ามีการปั่นเหรียญหรือไม่
จากความผันผวนของราคาที่เกิดขึ้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์ไม่ให้นำสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ โดยผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่ได้บริการ สนับสนุน หรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม ที่สำคัญอาจเกิดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงินได้
สิ่งที่ ธปท. และ ก.ล.ต. กังวลเรื่องความผันผวนของราคาสินทรัพย์ ได้รับการพิสูจน์อย่างเห็นได้ชัด จากขณะนี้ราคาเหรียญดิจิทัล รวมถึง KUB อยู่ในภาวะผันผวนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องยอมรับการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐทำได้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นผู้ที่ได้รับความเสียหายก็คือประชาชนทั่วไป
ท๊อปดิ้นรนหาพันธมิตรช่วยพยุงเหรียญ
หลังจากราคา KUB ผันผวนและลดลงอย่างหนัก “ท๊อป บิทคับ” ได้พยายามดิ้นรน ไม่ให้เหรียญตัวเองเหวี่ยงไปมากกว่านี้ หลังการทุบกำไรจาก 500 บาท เหลือกว่า 200 – 300 บาท จึงหาพันธมิตรเข้ามาช่วยพยุงราคาเหรียญ อาทิ บริษัท โปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) (PROEN) ลงทุนซื้อ KUB จำนวน 250,000 เหรียญ KUB มูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 72,949,815 บาท หรือคิดเป็นราคาเฉลี่ยประมาณ 291.80 บาท บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD ลงทุน 104.26 บาท/เหรียญ จำนวน 125,000 เหรียญ ใช้เงินทุนราว 13 ล้านบาท และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ลงทุน 225,000 KUB คิดเป็นเงินลงทุน 60.77 ล้านบาท โดยมีการรับประกันราคา (Price Guarantee) โดยมีการรับประกันการซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนดเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เอสซีบีเอกซ์ ประกาศล้มดีลไม่กี่วัน PROEN ได้ทำหนังสือถึงบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (Bitkub) แจ้งใช้สิทธิยกเลิกสัญญาพันธมิตร และขอยกเลิการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว
KUB เลื่อนลอยขาดความน่าสนใจ
ขณะที่ บิทคับ เอง เมื่อทางการสั่งห้าม ทำให้ความคาดหวังที่จะให้ เหรียญ KUB กลายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนใช้ซื้อสินค้าและบริการ เป็นอันต้องจบลง เพราะคุณสมบัติเหรียญไม่ตรง ทำให้แผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดูเลื่อนลอย ขาดความน่าสนใจ แตกต่างกับ DESTINY TOKEN (เหรียญบุพเพสันนิวาส ๒) ที่กำหนดไว้ชัดเจนการระดมทุนเพื่อนำไปสร้างภาพยนตร์ เมื่อมีรายได้ก็จะนำมาเป็นผลตอบแทนคืนให้แก่ผู้ลงทุน
ทั้งนี้ภาพยนตร์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส ๒” ได้ระดมทุนผ่านการซื้อ DESTINY TOKEN (เหรียญบุพเพสันนิวาส ๒) ที่เสนอขายรวม 16,087 โทเคน มูลค่ารวม 256.23 ล้านบาท ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิการรับคืนเงินต้นเมื่อจบโครงการพร้อมผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 2.99% ต่อปี และจะมีโอกาสได้ผลตอบแทนพิเศษเพิ่มอีก 2.0% ต่อปี ของมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น รวมเป็น 5% ต่อปี เมื่อภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส ๒ มีรายได้ Box Office ทั่วประเทศตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
รวมทั้งผู้ที่ซื้อเหรียญจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกมากมาย และรอชมภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส ๒ ในโรงภาพยนตร์ก่อนใคร
เหรียญไม่ตรงปก “บิทคับ” แข็งเมือง ก.ล.ต. ทำดีล “SCBX” ล่ม-เหรียญ KUB รูดกราว
ก่อนที่ เอสซีบีเอกซ์ จะประกาศล้มดีลซื้อ บิทคับ นั้น ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งให้ บิทคับ แก้ไขคุณสมบัติเหรียญ KUB ที่ให้คะแนนสูงเวอร์ จนขาดคุณสมบัติที่จะเข้าเทรดในกระดาน แต่เมื่อครบกำหนด บิทคับ ได้ขอขยายเวลาในการแก้ไขคุณสมบัติ ซึ่งก.ล.ต. ก็ขยายให้ถึงวันที่ 4 ส.ค. แต่เมื่อครบกำหนด บิทคับ กลับไม่แก้ไข และยืนยันเหรียญมีคุณสมบัติครบถ้วนตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว
คำถามที่ตามมา คือ จากการที่ ก.ล.ต. สั่งให้ บิทคับ แก้ไขคุณสมบัติเหรียญ KUB แต่ไม่สามารถดำเนินการ ทั้งๆ ที่มีเวลากว่า 1 เดือน ตามที่ ก.ล.ต.กำหนด และขยายเวลาให้ถึงวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นเพราะเหตุใด หรือเป็นเพียงเพราะเหรียญไม่มีคุณสมบัติ หรือเป็นเพียง “เหรียญทิพย์” ที่เสกขึ้นมาไม่ “ตรงปก” ตั้งแต่ต้น
หรือในทางกลับกัน มองว่า เมื่อไม่สามารถแก้ไขคุณสมบัติของเหรียญได้ตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ทางบิทคับ ไม่รู้จะแก้อย่างไร เพราะรู้อยู่แก่ใจ เหรียญไม่ตรงปก “ยิ่งแก้ยิ่งแย่” กว่าเดิม
จากเหตุนี้ทำให้เอสซีบีเอกซ์ ที่ไม่อยากจะร่วมทุนอยู่แล้ว หลังจากตลาดคริปโตอยู่ในช่วงขาลง ความน่าสนใจหมดไป จึงอาศัยเหตุที่ค้างคากับ ก.ล.ต. กรณี “เหรียญไม่ตรงปก” ประกาศล่มดีลดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการล้มดีลของ SCB ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนและเก็งกำไรเหรียญ KUB ที่หวังราคาจะเพิ่มขึ้นหากดีลสำเร็จ แต่เมื่อมีการยกเลิกจึงได้เทขาย KUB ออกมาอย่างหนัก ทำให้ราคาร่วงทันทีกว่า 30% ราคาต่ำสุดที่ 48.59 บาท ก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อย ณ เวลา 18.12 (25 ส.ค.) อยู่ที่ 62.03 บาท ลดลงกว่า 16.12% สวนทางกับราคาหุ้น SCB ปรับขึ้นทันที 5 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 110.50 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 6 บาท หรือ 5.74% ซึ่งนับเป็นราคาปิดสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน เมื่อรับทราบข่าวล้มดีลดังกล่าว เนื่องจากนักลงทุนมองว่า เป็นการลงทุนไม่คุ้มค่า
ขณะที่วันที่ 26 ส.ค. ราคาเหรียญ KUB อยู่ที่ 56.71 บาทต่อเหรียญ จากระดับ 71.28 บาทต่อเหรียญ (ช่วงเช้าวันที่ 25ส.ค.) คิดเป็นการลดลงของราคาเหรียญประมาณ 20% อย่างไรก็ตามหลายคนเชื่อว่าการลดลงของราคาเหรียญ KUB จะยังมีออกมาอย่างต่อเนื่องเพราะข่าวที่เป็นปัจจัยบวกและสร้างสีสันให้กับเหรียญ KUB มากที่สุดหนีไม่พ้นการประกาศเข้าซื้อซื้อหุ้น 51% ใน “บิทคับ ออนไลน์” ของกลุ่มไทยพาณิชย์ เมื่อ 2 พ.ย.2564และปัจจุบันข้อมูลดีๆทางธุรกิจของ “บิทคับ” ในระดับนี้ก็แทบหาไม่เจออีกแล้ว
KUB เสี่ยงสูงถูก ก.ล.ต.สั่งแขวน
คำถามต่อมาคือ เมื่อเหรียญไม่ตรงปก ได้สะท้อนจากราคาเหรียญ KUB ที่ตกต่ำช่วยย้ำชัดถึงคุณสมบัติของเหรียญที่กลุ่ม “บิทคับ” การันตีในคุณภาพและมาตรฐานนั้นไม่ได้เป็นดังราคาคุยที่กล่าวอ้าง เพราะหากเป็นจริงความเชื่อมั่นต่อราคาเหรียญของนักลงทุนย่อมมีมากกว่านี้ และโอกาสในการปรับตัวลดลงย่อมเป็นไปได้น้อย โดยเรื่องดังกล่าวช่วยยืนยันได้ว่าสิ่งที่ ก.ล.ต.ออกมาเตือน และสั่งให้แก้ไขนั้นเป็นเรื่องจริง ขณะที่คุณสมบัติที่ทางกลุ่มได้กล่าวอ้างมาเป็นเพียงแค่การอุปโลกน์ หรือ “คุณสมบัติทิพย์” จากทางผู้บริหารของ “บิทคับ” เท่านั้น
ดังนั้น หากเปรียบเทียบเหรียญ KUB เป็นดั่งอาหาร-เครื่องดื่ม ซึ่งเวลาจะผลิตออกมาจำหน่ายผู้ประกอบการจำเป็นต้องขอเลข อย.มากำกับเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเมื่อ อย.มีคำสั่งให้แก้ไขสินค้า แต่เจ้าของเครื่องดื่มกลับไม่ยอมแก้ไข ก็ไม่มีหนทางไหนจะเกิดขึ้นนอกจาก ถูก อย.สั่งเก็บสินค้า ฉันใดก็ฉันนั้นโอกาสที่เหรียญ KUB จะถูกสั่งเก็บเหมือนสินค้าไร้คุณภาพจาก อย.ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ นำไปสู่ความเสี่ยงที่มีแต่นับวันรอให้เหตุการณ์นั้นมาถึง
เฉกเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะสิงคโปร์ อยู่ภายใต้การควบคุมของ The Monetary Authority of Singapore (MAS) ซึ่งมีความเข้มงวดและเด็ดขาด หากตรวจสอบพบการกระทำผิด เหรียญไม่ตรงปก ขาดคุณสมบัติจะมีการลงโทษเพิกถอนอย่างแน่นอน หาก ก.ล.ต.ไทย ตรวจพบความผิดครบองค์ประกอบ ก็อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะโดน ก.ล.ต.แขวน หรือเพิกถอน เช่นเดียวกัน
หวังเป็น Digital Hub ต้องแขวน KUB
ขณะเดียวกัน ล่าสุด “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้คิดการใหญ่เสนอแนะรัฐบาลส่งเสริมโครงสร้างพื้นและและให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อก้าวสู่ความเป็น Digital Hub
หากต้องการรัฐบาลส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจจริงจังอย่างที่ “ท๊อป จิรายุส” กล่าวอ้าง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกกฎเกณฑ์และมาตรฐานควบคุมผู้ประกอบการอย่างเข้มงวดด้วยหรือไม่ เพราะการดำเนินธุรกิจจะต้องอยู่นพื้นฐานและกฎกติกาที่ถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม สำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนเหมือนที่ผ่านมา
ดังนั้น ก่อนที่จะพัฒนาก้าวสู่ Digital Hub หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องถาม “ท๊อป จิรายุส” และ ก.ล.ต. ต้องเล่นตามกฎกติกา ไม่มีความผิดครบองค์ประกอบจะต้องใช้มาตรการเด็ดขาดแขวนเหรียญ หรือเพิกถอนเหรียญ KUB ก่อน รวมถึงต้องถอนใบอนุญาตของ “บิทคับ” ด้วยหรือไม่