“รัสเซีย” เปิดฉากรุกทางการทหารเข้าสู่ยูเครน ทำให้ถูกชาติตะวันตกร่วมกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ 6 เดือนหลังจากนั้นเศรษฐกิจรัสเซียซึ่งพึ่งพิงการส่งออก “น้ำมัน” เป็นหลัก พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถยืนหยัดรับมือการคว่ำบาตร รอดพ้นภาวะเศรษฐกิจพังพินาศมาได้ แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจรัสเซียก็อาจหนีไม่พ้นภาวะถดถอยอยู่ดี
“ผมขับรถผ่านกลางกรุงมอสโควก็ยังเจอรถติดเหมือนเดิม” อังเดรย์ เนชาเยฟ อดีตรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัสเซีย ช่วงต้นทศวรรษ 1990s กล่าวกับสำนักข่าว CNN
ตลาดจีนและอินเดียที่พร้อมรับซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียนั้นช่วยเศรษฐกิจประเทศนี้ไว้ได้มาก แต่ทั้งเนชาเยฟและนักวิเคราะห์อื่นๆ ต่างก็มองว่าเศรษฐกิจรัสเซียเริ่มถดถอยแล้ว และเป็นไปได้ว่าจะเกิดภาวะ ‘stagnation’ ในระยะยาว
ภาพภายนอกดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยน เชลฟ์ขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าอาจจะมีแบรนด์ตะวันตกให้เลือกน้อยลง McDonald’s อาจจะเปลี่ยนชื่อเป็น “Vkusno i tochka” และ Starbucks ก็กลับมาเปิดใหม่ในชื่อ Stars Coffee
ธุรกิจตะวันตกที่ถอนตัวออกไป การคว่ำบาตรสินค้ากลุ่มน้ำมันและทำลายระบบการเงิน มีผลกระทบกับรัสเซียแน่นอน แต่ไม่ได้มากเท่าที่ใครต่อใครคาดไว้
เนชาเยฟซึ่งเคยพาเศรษฐกิจรัสเซียฝ่าฟันช่วงที่ตกต่ำที่สุดมาแล้ว มองว่าหัวเรือที่ช่วยให้รัสเซียรอดพ้นได้มากที่สุดคือ ธนาคารกลาง
สกุลเงินรูเบิลร่วงชะลูดสู่จุดต่ำสุดเมื่อต้นปีนี้หลังจากตะวันตกแช่แข็งเงินทุนสำรองของรัสเซียมูลค่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่สุดท้ายแล้วเงินรูเบิลก็สามารถเด้งคืนกลับมาแข็งค่าได้ และแข็งมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018
สาเหตุมาจากการแก้เกมของธนาคารกลางในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยลงจนต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดสงครามแล้ว ธนาคารกลางยังบอกด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อที่เคยขึ้นไปสูงสุดเกือบ 18% เมื่อเดือนเมษายน ปัจจุบันก็ชะลอลงและน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้ลดเหลือ 12-15% เท่านั้น
ธนาคารกลางยังปรับคาดการณ์จีดีพีของปีนี้ด้วย โดยคาดว่าจะหดตัว 4-6% เป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากเมื่อเดือนเมษายนที่คาดว่าทั้งปีจะหดตัว 8-10% ขณะที่ IMF ก็คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัวประมาณ 6% เท่านั้น
รัสเซียเตรียมตัวรับแรงกระแทกมานานแล้ว
เหตุที่รัฐบาลมอสโควยังรับมือได้ดี เป็นเพราะรัสเซียมีเวลารับมือถึง 8 ปี หลังจากตะวันตกเริ่มมีการคว่ำบาตรบ้างแล้วนับตั้งแต่รัสเซียบุกเข้าสู่ไครเมียเมื่อปี 2014
“การออกจากตลาดของ Mastercard และ Visa แทบไม่มีผลอะไรกับการชำระเงินในประเทศ เพราะธนาคารกลางมีระบบชำระเงินทางเลือกเตรียมไว้อยู่แล้ว” เนชาเยฟกล่าว โดยรัสเซียเริ่มตั้งระบบบัตรเครดิต Mir ไว้ตั้งแต่ปี 2017
ส่วนเหตุผลที่ McDonald และ Starbucks ยังดำเนินธุรกิจต่อได้แม้จะต้องเปลี่ยนชื่อแบรนด์ “คริส วีเฟอร์” หุ้นส่วนผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจข้ามชาติ Macro Advisory กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2014 แบรนด์ตะวันตกจำนวนมากต้องทำตามแรงกดดันจากรัฐบาลที่ต้องการให้ใช้ซัพพลายเชนในประเทศมากขึ้น ดังนั้น เมื่อบริษัทถอนตัวออกไป แต่แฟรนไชซีในรัสเซียก็เพียงแต่ซื้อวัตถุดิบจากบริษัทเจ้าเดิม แค่เปลี่ยนหีบห่อแพ็กเกจจิ้งเท่านั้น
“คนเดิม สินค้าเดิม ซัพพลายเดิม” วีเฟอร์กล่าวให้เห็นภาพ
แต่ก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทุกเรื่องเหมือนกัน ตัวอย่างเช่นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา McDonald ภายใต้แบรนด์ใหม่ก็ต้องเผชิญปัญหามันฝรั่งในรัสเซียขาดแคลน และไม่สามารถหามันฝรั่งจากที่อื่นมาเสริมได้เพราะการคว่ำบาตร
“น้ำมัน” รัสเซียจะยังขายดีต่อไปไหม?
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจรัสเซียจะเสถียรแค่ไหนขึ้นอยู่กับธุรกิจ “พลังงาน” ธุรกิจที่ส่งรายได้ให้กับรัฐบาลมากที่สุด และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นคือฉนวนป้องกันให้กับรัสเซีย
International Energy Agency ระบุว่า รายได้การขายน้ำมันและก๊าซให้กับยุโรประหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคมปีนี้กลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเทียบกับปีก่อน ทั้งที่การส่งก๊าซให้กับยุโรปลดลง 75% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
ส่วนน้ำมันที่เหลือขายวันละ 3 ล้านบาร์เรลนั้นก็ถูกส่งออกไปที่ตลาดใหม่ในเอเชียแทน Kpler บริษัทที่ปรึกษาด้านสินค้าโภคภัณฑ์ ระบุว่า น้ำมันที่ส่งออกทางทะเลส่วนใหญ่ของรัสเซียนั้นถูกส่งไปเอเชียแทนตั้งแต่เริ่มมีสงคราม
ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคมปีนี้ “จีน” นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 40% และมีการเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติด้วย แม้ว่าจีนจะพยายามทำตัวเป็นกลางในสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ตาม ส่วน “อินเดีย” นั้นนำเข้าน้ำมันรัสเซียเพิ่มถึง 1,700% ทั้งหมดนี้เป็นเพราะรัสเซียลดราคาน้ำมันอย่างหนัก
แต่จุดที่น่าสนใจคือเมื่อยุโรปตัดการซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก จะทำให้น้ำมันรัสเซียมีซัพพลายเหลืออีกวันละ 2 ล้านบาร์เรล ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าส่วนใหญ่น้ำมันนั้นจะถูกขายให้ตลาดเอเชีย แต่ดีมานด์จะมากพอที่จะดูดซับน้ำมันรัสเซียทั้งหมดหรือไม่ Kpler ประเมินว่าจีนคงจะไม่ซื้อเพิ่มอีกเพราะเศรษฐกิจในประเทศก็เริ่มชะลอลง
“ราคา” ก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ขณะนี้รัสเซียส่งออกน้ำมันได้ไม่ยากเพราะลดราคาได้มาก ทำให้ตลาดใหม่ๆ สนใจซื้อ
“การลดราคา 30% จากราคา 120 เหรียญต่อบาร์เรลนั้นก็เรื่องหนึ่ง” อดีตรัฐมนตรีเนชาเยฟชี้ให้เห็นจุดต่าง “แต่การลดราคาจากราคาตั้ง 70 เหรียญต่อบาร์เรลจะเป็นหนังคนละม้วนเลย”
“เศรษฐกิจรัสเซีย” จะถูกกัดกินอย่างช้าๆ
แม้ว่าเงินเฟ้อทั่วโลกจะเป็นผลดีกับภาคพลังงานของรัสเซีย แต่มันก็สร้างความเดือดร้อนให้คนรัสเซียเองด้วย เหมือนๆ กับที่เกิดขึ้นในยุโรป ชาวรัสเซียต่างต้องทนทุกข์กับวิกฤตค่าครองชีพ
“ถ้าเราเทียบมาตรฐานการครองชีพ ถ้าวัดกันด้วยรายได้ที่ได้รับจริงๆ ละก็ ตอนนี้เราเหมือนกับเดินถอยหลังไปประมาณ 10 ปี” เนชาเยฟกล่าว
รัฐบาลรัสเซียพยายามจะแก้สถานการณ์ด้วยการใช้เงินคลังต่อสู้ เมื่อเดือนพฤษภาคม รัฐบาลประกาศจะเพิ่มเงินบำนาญและเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีก 10%
รัฐบาลยังมีระบบที่ทำให้ลูกจ้างในบริษัทซึ่ง “จำต้องหยุดการดำเนินกิจการชั่วคราว” สามารถโอนย้ายไปอยู่กับบริษัทอื่นได้โดยไม่ต้องลาออกหรือฉีกสัญญาทำงานกับที่ทำงานเก่า รวมถึงรัฐบาลยังใช้เงิน 1.7 หมื่นล้านรูเบิล เพื่อซื้อหุ้นกู้ของสายการบินรัสเซียต่างๆ เป็นการพยุงภาวะวิกฤตของสายการบินจากการถูกแบนห้ามบินผ่านนานฟ้า และการคว่ำบาตรไม่ให้ซื้ออะไหล่ซ่อมเครื่องบินจากโรงงานผลิตในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม จุดที่หนักที่สุดที่คาดว่าจะซึมลึกในเศรษฐกิจระยะยาว คือการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยี เมื่อเดือนมิถุนายน “จีน่า ไรมอนโด” รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ บอกว่าการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปให้รัสเซียร่วงลง 90% ตั้งแต่เกิดสงคราม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการผลิตรถยนต์จนถึงคอมพิวเตอร์ ทำให้รัสเซียเสียความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีลงไปอีก
“ผลกระทบจากการคว่ำบาตรจะเป็นผลซึมลึกมากกว่าการพังทลายครั้งเดียว” วีเฟอร์ ที่ปรึกษาทางธุรกิจกล่าว “รัสเซียมองเห็นแล้วด้วยว่า เป็นไปได้ที่ประเทศจะต้องเจอภาวะ stagnation”
เนชาเยฟยิ่งฟันธงลงไปมากกว่านั้นอีก “ขณะนี้เศรษฐกิจรัสเซียเริ่มต้นถดถอยแล้ว” เขากล่าวปิดท้าย