บันเทิงก่อนขายทีหลัง! สู่เทรนด์ ‘Shoppertainment’ แก้ปัญหาลูกค้ายี้โฆษณา

หากพูดถึงตลาด อีคอมเมิร์ซ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็อยากจะเข้ามา ไม่ใช่แค่กับแพลตฟอร์ม E-Marketplace แต่รวมถึง Social Media ด้วย ดังนั้น เราจะได้เห็นคำใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น แชทคอมเมิร์ซ, ไลฟ์คอมเมิร์ซ แต่ไม่ว่าจะมีแพลตฟอร์มสำหรับขายของมากน้อยแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ยังสำคัญเสมอคือ คอนเทนต์ เมื่อผู้บริโภคเบื่อการขายของแบบเดิม ๆ จนนำไปสู่เทรนด์ Shoppertainment

ลูกค้ายี้โฆษณาแบบเดิม ๆ

จากงานวิจัยของ TikTok ที่ทำร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) โดยสำรวจความคิดผู้คนกว่า 2,000 ราย ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่แสดงให้เห็นว่า ประสบการณ์ออนไลน์ของกลุ่มผู้บริโภคถึงจุดอิ่มตัวในแง่ของการโฆษณา โดย

  • 34% ของผู้บริโภคไม่ไว้วางใจเนื้อหาที่มีความเป็นแบรนด์มากเกินไป รู้สึกถูกยัดเยียด จนตัดสินใจไม่ซื้อแบรนด์นั้น ๆ
  • 26% ของผู้บริโภคต้องการเวลามากขึ้นในการตัดสินใจซื้อ
  • 46% จะตัดสินใจซื้อในวันอื่น
  • 89% ของผู้บริโภคจะหาข้อมูลทั้งในและนอกแพลตฟอร์มที่ตัวเองกำลังใช้อยู่
  • 63% จำเป็นต้องได้รับชมคอนเทนต์ 3-4 ครั้งถึงจะซื้อ
  • 85% ของผู้บริโภคจะท่องไปในหลายแพลตฟอร์มก่อนจะตัดสินใจซื้อจริง

บันเทิงก่อนขายทีหลัง

กลับกันหากให้ ความบันเทิง เป็นหัวใจของการค้าขาย หรือ บันเทิงก่อนขายทีหลัง จะนำไปสู่เส้นทางนำไปสู่การซื้ออย่างเป็นธรรมชาติ โดย

  • 81% ของผู้บริโภคคาดหวังว่าจะเห็นคอนเทนต์ที่เน้นเล่าเรื่องและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก่อน
  • 76% ของผู้บริโภคสนใจคอนเทนต์ที่เน้นภาพเคลื่อนไหวเป็นหลัก เช่น วิดีโอ หรือ livestream พร้อมมีเนื้อหาความบันเทิงเพื่อดึงดูดผู้บริโภค
  • 71% ของผู้บริโภคเห็นว่าข้อมูลจริงและถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เนื้อหาดึงดูดน่าสนใจ และคอนเทนต์ที่จะ ช่วยกระตุ้นคือ การรีวิวหรือถ่ายวิดีโอแกะกล่องสินค้า
  • 71% ของผู้บริโภคคาดหวังว่าแบรนด์จะไม่บังคับให้ตัดสินใจซื้อในระหว่างนำเสนอคอนเทนต์
  • 65% ของผู้บริโภคอยากได้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับแบรนด์จากโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้น แบรนด์ควรให้ความสำคัญกับเสียงของผู้เชี่ยวชาญในคอมมูนิตี้ออนไลน์และอำนวยความสะดวกให้เพื่อนและผู้ใช้งานได้คุยกันเกี่ยวกับแบรนด์

 

ไลฟ์ขายของขึ้น TOP5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิต

อีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยชี้ชัดถึงเทรนด์ Shoppertainment ได้เป็นอย่างดี ก็คือ การที่ Live Commerce ติด TOP 5 กิจกรรมออนไลน์ยอดฮิตที่คนไทยทำมากที่สุด โดยพบว่ามีชาวเน็ตถึง 41.51% เคยดูและซื้อสินค้าและบริการผ่านไลฟ์ จากการสำรวจของ ETDA หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

และถ้าใครเป็นนักช้อปก็จะรู้ว่า e-Marketplace เช่น Shopee, Lazada, JD.Central ต่างก็ใช้กลยุทธ์ Shoppertainment มาช่วยในการขายหรือดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาในแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นการมีฟีเจอร์ไลฟ์ให้กับร้านค้า, การไลฟ์เองโดยการดึงดาราและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังมาเป็นตัวชูโรง รวมไปถึงการมีเกมให้ผู้ใช้ได้เล่น หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Metaverse เพื่อเพิ่มประสบการณ์การซื้อสินค้าของผู้บริโภค ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น

ทำไม TikTok ถึงให้ความสำคัญ Shoppertainment

เนื่องจากการตอบรับของผู้บริโภคของเทรนด์ Shoppertainment ทาง TikTok และ BCG ก็มีการคาดการณ์ว่า เทรนด์ดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสให้กับการช้อปปิ้งออนไลน์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกถึง 1 ล้านล้านเหรียญ ส่วนไทยเองก็มีโอกาสถึง 12,000 ล้านเหรียญ ภายในอีก 3 ปี เติบโตถึง 54%

แน่นอนว่าว่าตัวเลขดังกล่าวถือเป็นโอกาสของแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะเกาะเทรนด์ Shoppertainment ส่วน TikTok ที่พึ่งจะปล่อยฟีเจอร์ TikTok Shop มาหมาด ๆ ก็ต้องพยายามจะดึง ร้านค้า ให้มาขายของบนแพลตฟอร์ม โดย TikTok เองก็พยายามจะชูความเป็น Entertainment แพลตฟอร์มมาขาย แน่นอนว่าหากมีร้านค้ายิ่งเข้ามามากเท่าไหร่ โอกาสที่ TikTok จะทำรายได้จาก โฆษณา ก็มากขึ้น

สุดท้ายแล้ว ยิ่งมีแพลตฟอร์มมาก โอกาสเข้าถึงผู้บริโภคของแบรนด์ก็ยิ่งมาก แต่หากพูดถึง Shoppertainment แม้จะเป็นเทรนด์ที่มาแรงแต่แก่นแท้ของมันคือ Content ที่จะเป็นโจทย์ของแบรนด์ต่อไปว่าจะทำให้ Content มัน Entertain ลูกค้าจนอยากซื้อได้อย่างไร