เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของสหรัฐอเมริกานั้นยังคงสูงถึง 8.3% ลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 8.5% แต่ก็ยังแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนนี้นั้นจะอยู่ที่ 8.1% อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจต้องงัดยาแรงออกมาอีกครั้ง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อลดลงมาก็คือราคาพลังงานที่ลดลง อย่างไรก็ดีค่าบริการในหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นค่าบริการด้านขนส่ง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปารวมถึงค่าบำบัดน้ำเสีย ราคารถยนต์มือ 1 ค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษากลับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมนั้นลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
อย่างไรก็ดีถ้าหากเทียบตัวเลขกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้วเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นถึง 0.57% ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นของสหรัฐปรับตัวลดลงเมื่อคืน (13 กันยายน) ขณะที่ตลาดหุ้นในทวีปเอเชียก็ปรับตัวลดลงตาม
ผลกระทบสำหรับประเทศไทยจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังไม่ปรับตัวลดลง อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสอ่อนค่าลงหลังจากนี้ได้อีก เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยกับ Fed ห่างกันมากกว่าเดิมหลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ย และยังเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิม
ทางด้านมุมมองจากสถาบันการเงินต่างๆ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป 0.75% และอาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วงเดือนธันวาคมอีก 0.5% แต่ก็ในบทวิเคราะห์ยังมองว่าบริษัทในสหรัฐฯ ยังสามารถปรับตัวได้ดีเนื่องจากผู้บริหารในแต่ละบริษัทไม่ได้แสดงความกังวล รวมถึงปรับลดเป้าหมายยอดขายบริษัทลงมา
ขณะที่บทวิเคราะห์ของ Bank of America สถาบันการเงินรายใหญ่อีกแห่ง คาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป 0.75% และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะอยู่ในช่วง 4-4.25% ในบทวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่สภาวะถดถอยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 และจะมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 5% ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาสู่สภาวะปกติอีกรอบในปี 2024