คนไทยใช้ถ่านไฟฉาย รีโมตคอนโทรลเยอะสุด
แบตเตอรี่ หรือถ่านไฟฉาย ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีติดบ้านกันเลยก็ว่าได้ เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้า/เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์รอบๆ ตัวเรา เช่น นาฬิกาแขวน เครื่องเล่น MP3 และอื่นๆ อีกมากมายต่างก็ต้องใช้ถ่านไฟฉายเป็นแหล่งพลังงานทั้งสิ้น
ประเภทถ่านไฟฉาย | |
มูลค่าตลาดถ่านไฟฉาย 4,500 ล้านบาท | |
อัลคาไลน์ | 30% |
คาร์บอน-ซิ้งค์ | 65% |
อื่นๆ (ถ่าน Rechargeable และ Premium) | 5% |
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 2551 |
ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นอุปกรณ์เหล่านี้ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเราอาจจะแบ่งถ่านไฟฉาย (โดยใช้หลักของการอัดประจุไฟ) ได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้คือ
- ถ่านไฟฉายชนิดใช้แล้วทิ้งไม่สามารถอัดประจุไฟซ้ำได้ เช่น ถ่านไฟฉายธรรมดา (คาร์บอน-ซิ้งค์) และถ่านอัลคาไลน์
- ถ่านไฟฉายชนิดที่สามารถนำมาอัดประจุไฟซ้ำได้ เช่น แบตเตอรี่มือถือ/ถ่านไฟฉายแบบประจุไฟใหม่ได้ (Rechargeable Battery)
ด้วยมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 4,500 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่ผู้ผลิตแต่ละค่ายต่างก็พยายามทำการตลาดทั้งในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์แบรนด์ และการจัดกิจกรรมทางการตลาดอยู่เป็นระยะ รวมถึงความพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากต่างจังหวัดให้มีมากขึ้นเทียบเท่ากับสัดส่วนยอดขายจากกรุงเทพฯ แม้แต่บริษัท ฮาเวลส์ ซีลวาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้กระโดดลงมาสู้กับเจ้าตลาดอย่าง พานาโซนิค โดยวางกลยุทธ์ราคาที่ต่ำกว่าเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น นอกจากนั้นยังทำการสื่อสารประชาสัมพันธ์ตำแหน่งของแบรนด์ซีลวาเนีย โดยนำมาสคอตคือ แรด (ซึ่งสื่อถึงความทนทาน) เข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงเข้ากับแบรนด์
สัดส่วนตลาดถ่านไฟฉาย | |
พานาโซนิค | 80% |
ดูราเซล | 7% |
อื่นๆ (เอเวอร์เรตี้, เอเนอ ไจเซอร์ฯลฯ) | 13% |
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน 2551 |
ดังนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ ทางบริษัท ฟาร์อีสท์ ดีดีบี จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นกับกลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและเพศหญิง ที่มีอายุระหว่าง 15 – 35 ปี จำนวนทั้งหมด 200 คน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมที่มีต่อการใช้ถ่านไฟฉาย* โดยเป็นการทำการศึกษาผ่านทาง Insights Springboard ซึ่งเป็นเครื่องมือการศึกษาเบื้องลึกของผู้บริโภคที่สามารถทำให้เข้าใจเกี่ยวกับทัศนคติ และความต้องการของผู้บริโภคและสังคมแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง
รีโมตยอดฮิต…สิ่งอำนวยความสะดวกใกล้ตัว
ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า กลุ่มตัวอย่างที่เราไปสำรวจมานั้น จะใช้ถ่านไฟฉาย กับอุปกรณ์ไฟฟ้า/เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ประเภทใดมากที่สุด สำหรับงานวิจัยในครั้งนี้พบว่า 93% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่า ใช้ถ่านไฟฉายกับ รีโมตคอนโทรล รองลงไปคือ 89% บอกว่าใช้กับนาฬิกาแขวน/นาฬิกาปลุก และ 40% ใช้กับกระบอกไฟฉาย เป็นต้น
เครื่องใช้ไฟฟ้า/เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับถ่านไฟฉาย/แบตเตอรี่ | |
รีโมตคอนโทรล | 93% |
นาฬิกาแขวน/นาฬิกาปลุก | 89% |
กระบอกไฟฉาย | 40% |
กล้องถ่ายรูป | 20% |
พัดลมมือถือ | 12% |
เครื่องเล่น MP3/MP4 | 12% |
เครื่องคิดเลข | 10% |
เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า | 8% |
เครื่องเล่นเกมกด/ของเล่น | 8% |
วิทยุ | 5% |
แปรงสีฟันไฟฟ้า | 2% |
ในงานวิจัยนี้ *ถ่านไฟฉาย จะหมายถึงเฉพาะ ถ่านไฟฉายชนิดที่ไม่สามารถนำไปชาร์ตแล้วกลับมาใช้งานได้อีก โดยทั่วไปมีขนาด D,C, 2A(AA), 3A(AAA) และ 4A(AAAA) เท่านั้น |
ข้อมูลที่ควรทราบ เกี่ยวกับถ่านไฟฉาย…
คำแนะนำหรือคำอธิบายบอกวิธีใช้ด้านหลังบรรจุภัณฑ์ของถ่านไฟฉาย ก็มีส่วนสำคัญที่ผู้ใช้ควรศึกษาให้เข้าใจเพื่อการใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะถ่านไฟฉายบางชนิดอาจจะไม่เหมาะที่จะใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้า/เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์บางประเภทเช่นกัน
และสำหรับบรรดาผู้ผลิตหรือฝ่ายการตลาดที่กำลังมองหาประเด็นที่อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ในการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ถ่านไฟฉาย ตัวเลขที่แสดงใน Chart ด้านล่างนี้น่าจะพอให้ไอเดียคร่าวๆ ที่จะนำไปต่อยอดหรือพัฒนาแคมเปญการสื่อสารทางการตลาดได้บ้าง
การรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับถ่านไฟฉายในประเด็นต่างๆ
% ของผู้ที่ตอบว่า “ทราบ” ข้อมูลในประเด็นต่างๆเกี่ยวกับถ่านไฟฉาย | |
91% | ไม่ควรเก็บถ่านไฟฉายในที่ที่มีความร้อนสูง |
91% | ไม่ควรนำถ่านไฟฉายที่ชาร์จไฟไม่ได้ไปชาร์จไฟ เพราะจะทำให้เกิดอันตราย |
73% | ควรนำถ่านไฟฉายออกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานๆ |
63% | ถ่านอัลคาไลน์มีอายุการใช้งานเป็น 10 เท่าของถ่านไฟฉายธรรมดา |
56% | ถ่านไฟฉายแต่ละชนิดจะเหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างกัน |
52% | ควรเปลี่ยนถ่านไฟฉายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกันทุกก้อนในคราวเดียวกัน (ไม่ใช่ปะปนกับถ่านเก่า) |
36% | ถ่านที่ใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ควรเป็นถ่านไฟฉายที่เป็นยี่ห้อและชนิดเดียวกัน |
34% | สารที่อยู่ในถ่านไฟฉายหากเกิดการรั่วซึมอาจเป็นอันตรายต่อเม็ดโลหิตแดง และทำลายระบบประสาท |
N=200 |
รู้ปัญหา…เพื่อกำหนดกลยุทธ์ของสินค้า
บ่อยครั้งที่สินค้ารูปแบบใหม่ๆ มักเกิดจากการที่ผู้ประกอบการ/นักการตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค แล้วนำข้อกังวลใจ หรือปัญหาที่เคยเกิดจากการใช้สินค้า มาปรับปรุงพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับงานวิจัยในครั้งนี้ก็ได้รวบรวมข้อกังวลใจ และปัญหาเกี่ยวกับการใช้ถ่านไฟฉายของกลุ่มตัวอย่างที่เคยมีประสบการณ์มานำเสนอ เพื่อให้ผู้ประกอบการ/นักการตลาดได้เห็นมุมมองความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภค หรือปัญหาบางอย่างที่ผู้ประกอบการ/นักการตลาด อาจมองข้ามไป เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในโอกาสต่อไป ดังแสดงในกราฟต่อไปนี้
ข้อกังวลหรือปัญหาที่มีต่อถ่ายไฟฉาย/แบตเตอรี่ | |
ถ่านไฟฉายที่เก็บไว้นานๆ จะบวมเยิ้ม และมีคราบขาว | 61% |
ไม่มีสเกลบอกปริมาณพลังงานคงเหลือ | 59% |
ไม่มีคำแนะนำในการเลือกถ่านไฟฉายให้เหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอเนิกส์ | 42% |
ให้พลังงานได้ไม่เท่าที่กล่าวอ้างในโฆษณา | 36% |
ไม่มีตัวบ่งชี้ระหว่างถ่านไฟฉายใหม่กับถ่านเก่าที่ใช้แล้ว | 36% |
ไม่ค่อยมีสถานที่สำหรับทิ้งถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว | 35% |
ไม่บอกวันหมดอายุ | 24% |
มีความยุ่งยากในการแกะออกจากบรรจุภัณฑ์ | 8% |
n=200 ตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ |
ทิ้งถูกที่ ลดมลพิษ ช่วยโลก ช่วยเรา
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ซากถ่านไฟฉายถือเป็นขยะพิษ ซึ่งถ้าเราทิ้งแบบไม่ถูกวิธี จะทำให้โลหะหนักที่เป็นส่วนประกอบของขยะพิษเหล่านั้นกระจายลงสู่พื้นดิน น้ำ และอากาศ จนสร้างมลพิษให้กับโลก และท้ายที่สุดมันก็จะย้อนกลับเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และมาถึงตัวเรา
จากการศึกษาพฤติกรรมการทิ้งซากถ่านไฟฉาย ของกลุ่มตัวอย่างในครั้งนี้พบว่า :
พฤติกรรมการทิ้งถ่านไฟฉายเก่า (ที่ใช้พลังงานหมดแล้ว) | |
68% | ฉัน/ผมจะนำถ่านไฟฉายไปทิ้งในถังขยะทั่วไป |
25% | ฉัน/ผมจะนำถ่านไฟฉายใส่ถุงขยะแยกต่างหาก แล้วค่อยนำไปทิ้งในถังขยะทั่วไป |
7% | ฉัน/ผมจะเก็บรวบรวมแล้วนำไปทิ้งในกล่องรับทิ้งซากถ่านไฟฉายที่ใช้แล้ว |
n=200 |
อย่างไรก็ตาม ทีมงานวิจัยคิดว่าปัญหาส่วนหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังคงนำซากถ่านไฟฉายไปทิ้งรวมกันในถังขยะทั่วไปก็คือ สถานที่ทิ้งขยะพิษที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งถ้าหากมีผู้ประกอบการ/นักการตลาดรายใด ทำการรณรงค์ให้ความรู้ถึงผลกระทบจากขยะพิษเหล่านี้ให้มากขึ้น หรือผลิตถังขยะ/กล่องใส่ซากถ่านไฟฉาย ณ บริเวณจุดขาย (ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป) ก็น่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงสินค้ากับแบรนด์ และยังจะทำให้ผู้บริโภคเกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับแบรนด์นั้นๆ ที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้อีกทางหนึ่ง
นำถ่านไฟฉายเก่าไปรับส่วนลด กันดีกว่า…
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างกว่า 88% ยังเห็นด้วยในประเด็นที่ว่า ควรจะนำถ่านไฟฉายเก่าไปเป็นส่วนลดในการซื้อถ่านไฟฉายใหม่ในครั้งต่อไป ซึ่งประเด็นนี้น่าจะไปสอดคล้องกับเรื่องสถานที่ทิ้งซากถ่านไฟฉายที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยที่ผู้ประกอบการอาจจะนำไปพิจารณาเสริมกิจกรรมทางการตลาด เช่น จัดโปรโมชั่นสำหรับสินค้าประเภทดังกล่าว
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการจัดวางสินค้าประเภทถ่านไฟฉายที่ชั้นวางสินค้านั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 54% เห็นด้วยว่าไม่ควรวางถ่านไฟฉายปะปนกับสินค้าบางประเภท (เช่นถุงยางอนามัย เป็นต้น) โดยความน่าจะเป็นแล้ว หลายๆ คนคงคิดว่ากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวคงจะเป็นเพศหญิงเสียมากกว่า แต่สำหรับการวิจัยในครั้งนี้กลับพบว่า มีจำนวนกลุ่มเพศชายเท่าๆ กันกับกลุ่มเพศหญิงที่เห็นด้วยในประเด็นดังกล่าว
ความคิดเห็นเกี่ยวกับถ่านไฟฉายในประเด็นต่างๆ
% ของคนที่เห็นด้วยในแต่ละข้อความเกี่ยวกับถ่านไฟฉาย | |
88% | ควรจะสามารถนำถ่านไฟฉายเก่าไปเป็นส่วนลดในการซื้อถ่านไฟฉายใหม่ |
79% | ควรแถมกล่องพลาสติกเพื่อใช้เก็บถ่านไฟฉายใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้ |
54% | บนชั้นวางสินค้าไม่ควรจัดวางถ่านไฟฉายปะปนกับสินค้าบางประเภท (เช่น ถุงยางอนามัย เป็นต้น) |
37% | ควรมีการจำหน่ายถ่านไฟฉายในร้านฟาสฟู้ดทั่วไป |
n=200 |
ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้ผู้ประกอบการและนักการตลาด โดยเฉพาะในแง่ของมุมมองและความเข้าใจในตัวผู้บริโภค ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะนำมาซึ่งการพัฒนาปรับปรุงถ่านไฟฉาย/แบตเตอรี่ รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดและประชาสัมพันธ์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคต่อไปในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น