IMF ปล่อยกู้ให้ประเทศที่เกิดวิกฤตการเงินมากสุดเป็นประวัติการณ์ หลังเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ

ภาพจาก Shutterstock

รายงานล่าสุดชี้ว่า IMF ได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงินไปแล้วอย่างน้อย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งทำลายสถิติในการปล่อยกู้ของ IMF นับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของสภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ด้วย

Financial Times ได้รายงานว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่ประสบปัญหาด้านการเงินเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา ซึ่งข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น IMF ได้ปล่อยกู้ไปแล้วอย่างน้อย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ประสบปัญหาดังกล่าว

สื่อธุรกิจจากอังกฤษรายนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากการปล่อยกู้เงินให้กับประเทศต่างๆ นับตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมา มีอย่างน้อย 5 ประเทศที่เข้าสู่สภาวะล้มละลายไปแล้ว และต้องได้รับการช่วยเหลือจาก IMF ไม่เพียงเท่านี้สื่อรายดังกล่าวยังชี้ว่ายังจะมีอีกหลายประเทศตามมา หลังจากต้นทุนการเงินอาจเพิ่มสูงขึ้นหลังจากนี้

สาเหตุที่ทำให้ IMF ต้องปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือจำนวนมากนั้นสาเหตุสำคัญมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น รัสเซียได้ประกาศบุกยูเครน หรือแม้แต่การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งผลทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนา และยังทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้หลายประเทศเองยังมีสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบาง และยังไม่ฟื้นตัวดีจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสำหรับประเทศในทวีปเอเชียนั้น เราจะเห็นวิกฤตเศรษฐกิจในทวีปเอเชียใต้หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ศรีลังกา ปากีสถาน เป็นต้น

ไม่เพียงแค่ในเอเชียเท่านั้นแต่วิกฤตครั้งนี้ยังลามไปยังหลายประเทศในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็น แซมเบีย ตูนิเซีย กาน่า อียิปต์ เป็นต้น หรือแม้แต่ประเทศที่ต้องขอความช่วยเหลือ IMF อย่างเช่น อาร์เจนตินา ที่กำลังจะได้เงินกู้ก้อนใหม่เกือบ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา IMF ได้เตือนให้ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศนั้นดำเนินมาตรการผ่อนปรนหนี้ หลังจากประเทศกำลังพัฒนาหลายพื้นที่ทั่วโลกในเวลานี้ประสบปัญหาไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลต่อประชาชนประเทศเหล่านี้อย่างมาก