ผลสำรวจจากศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) ได้จัดทำผลสำรวจบริษัทไต้หวันที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนในช่วงเดือนกรกฎาคม ก่อนการเยือนของ แนนซี่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าบริษัทไต้หวันมีแผนที่จะย้ายการผลิตออกจากประเทศจีน และหลายบริษัทเองได้ย้ายกำลังการผลิตออกจากจีนบางส่วนแล้ว
รายงานของ CSIS ได้ชี้ว่าเป้าหมายของบริษัทไต้หวันที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนนั่นก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือการย้ายกลับไต้หวัน รวมถึงย้ายไปยังประเทศในเอเชียเหนือ อย่าง ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เกาหลีใต้
ไม่เพียงเท่านี้ในรายงานฉบับนี้ยังชี้ถึงการทำธุรกิจในประเทศจีนนั้นแม้ว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศจีนเพื่อลงทุนอย่างมหาศาล แต่การดำเนินธุรกิจในประเทศจีนเองกลับไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด รวมถึงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีนก็ทำให้หลายบริษัทในไต้หวันที่มีการลงทุนในจีนก็เริ่มที่จะทนไม่ไหวกับนโยบายนี้
การที่บริษัทไต้หวันสนใจมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลที่ผลักดันนโยบาย New Southbound Policy ที่เปิดความร่วมมือใหม่ๆ กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน ไปจนถึงการท่องเที่ยว ฯลฯ
สำหรับนโยบายด้านการค้าที่บริษัทไต้หวันต้องการมากที่สุดคือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบไปด้วยจีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงอาเซียน รองลงมาคือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่มีสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นประเทศหลักในข้อตกลงดังกล่าว
ด้านมุมมองที่บริษัทในไต้หวันมองว่าการที่จะทำให้ไต้หวันยังได้เปรียบและเป็นผู้นำด้านต่างๆ ได้คือไต้หวันจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ ในแผ่นดินของไต้หวัน รองลงมาคือห้ามส่งออกด้านเทคโนโลยี รวมถึงการห้ามบริษัทจีนไม่ให้ลงทุนในไต้หวัน
ที่มา – รายงานของ CSIS