ทำความเข้าใจ ‘NFT’ ในฐานะ ‘เครื่องมือการตลาด’ ที่มีดีกว่าแค่เป็น ‘ของสะสม’

หากพูดถึงตลาด Non-Fungible Token หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า NFT หลายคนมักจะมองแต่ในฝั่งของ ‘ผู้บริโภค’ ที่ทำการซื้อ-ขายกัน หรือไม่ก็ดูในแง่ของ ‘กำไร-ขาดทุน’ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงฝั่งของ ‘แบรนด์’ ที่กระโดดเข้ามาในตลาด NFT จำนวนมาก ไม่ว่าจะแบรนด์ใหญ่หรือแบรนด์เล็ก ว่าแต่ NFT น่าสนใจแค่ไหนในฐานะ Marketing Tools ไปดูกัน

NFT = วิวัฒนาการของศิลปะ

หลายคนน่าจะพอรู้ว่า NFT ได้ถูกนำไปใช้ในวงการศิลปะไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด ภาพกราฟิก วิดีโอ และเพลง โดยถือเป็นวิธีสากลสำหรับครีเอเตอร์ในการเป็นผู้ ควบคุม และ ได้รับประโยชน์ จากการสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขา ไม่เหมือนในอดีตที่ถูกก๊อปเกลื่อนอินเทอร์เน็ต ดังนั้น NFT จึงช่วยขยายตลาดของคน รักงานศิลปะ เพราะไม่ต้องซื้อของจริงเพื่อสะสม

“ศิลปินที่ทำผลงานในรูปแบบ NFT มันทำให้เขาได้ส่วนแบ่งกลับมาเรื่อย ๆ ช่วยแสดงความเป็นตัวตน ไม่ได้ถูกก๊อปไปลงอินเทอร์เน็ตเหมือนอดีต นอกจากนี้ ยังใช้บล็อกเชนบันทึกเส้นทางร่องรอยของผลงานได้ คนเป็นเจ้าของร่วมก็ได้ประโยชน์ ถือเป็นโอกาสที่ดีของศิลปินในอนาคต” วรพจน์ ธาราศิริสกุล Chief of Technology บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด อธิบาย

ไทยมีผู้ใช้ NFT มากสุดในโลก

ที่น่าสนใจคือ ตัวเลขของปี 2021 ที่รวบรวมโดย Statista ระบุว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ NFT มากที่สุดในโลกถึง 5.65 ล้านบัญชี ตามด้วย

  • บราซิล 4.99 ล้านบัญชี
  • สหรัฐอเมริกา 3.81 ล้านบัญชี
  • จีน 2.68 ล้านบัญชี
  • เวียดนาม 2.19 ล้านบัญชี

“ส่วนหนึ่งคนไทยชอบเล่นเกม และที่ผ่านมาก็มีเกม NFT เยอะ และต้องยอมรับว่า คนไทยชอบเก็งกำไร เห็นอะไรทำกำไรได้ก็โดดเข้ามาเล่น มันเลยเติบโตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่เราเชื่อว่าตลาดจะไม่ได้ขับเคลื่อนเพราะเก็งกำไร แต่เกิดจากนักสะสม”

NFT กับ Token ต่างกันอย่างไรในมุมการตลาด

ตั้งแต่การมาบูมของตลาด คริปโตเคอร์เรนซี ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าแบรนด์เริ่มใช้ประโยชน์จากการออก Token และ NFT โดยในส่วนของการออก Token นั้น จะใช้เสมือนการแจก พอยต์ สำหรับใช้แทนอะไรบางอย่าง แต่สำหรับ NFT นั้นจะเปรียบเสมือน ของสะสม ดังนั้น จะเหมาะสำหรับการตลาดที่เล่นกับ Emotional การสร้าง Membership การสร้าง Community ของลูกค้า แฟนคลับ และกลุ่มคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่ใช้ NFT เป็นเครื่องมือการตลาด แต่ควรเป็นแบรนด์ที่มี ฐานลูกค้า หรือ ฐานแฟนคลับ ดังนั้น สำหรับประเทศไทยจะเห็นแบรนด์ในกลุ่ม คอนซูมเมอร์โปรดักส์ เพื่อใช้ NFT เป็นของสะสมหรือสร้าง Engagement ให้กับลูกค้า เพราะจะช่วยให้แบรนด์หา Real User หรือ แฟนคลับของแบรนด์จริง ๆ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลในการทำการตลาดต่อไป ไม่ใช่แค่แจกแล้วจบ

ตัวอย่างงานศิลปะ NFT บนมาร์เก็ตเพลซ OpenSea

นอกจากนี้ NFT ยังช่วยเพิ่มรายได้จากการขายสินค้า เพราะข้อดีของการทำ NFT คือ งบลงทุนที่น้อยกว่า ดังนั้น สามารถทำควบคู่กับของสะสมแบบ Physical ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับแบรนด์ที่ทำ NFT เพื่อแจกให้เป็นของสะสมในปริมาณมาก ควรจะแบ่งระดับความหายากหาง่าย (Rare, Super Rare) เพื่อให้เกิดความต้องการ

“อย่างหัวเว่ย ทำ NFT แจกเฉพาะลูกค้าที่ซื้อมือถือ แปลว่าคนที่ถือ NFT เป็นแฟนคลับจริง ๆ ต่อไปการทำโฟกัสกรุ๊ป หรือจะทำการตลาดอื่น ๆ เราก็สามารถต่อยอดกับคนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งเราเชื่อว่า NFT มันเป็นตัวเชื่อมโลกดิจิทัลและเทรดดิชันนอล โดยที่แบรนด์เข้ามาโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ โดยเราเชื่อว่า NFT มันจะแมสมากขึ้น เพราะเข้าใจง่ายกว่าคริปโตฯ”

Use Case การใช้ NFT ของแบรนด์ไทย

  • ไปรษณีย์ไทย : ถือเป็นหนึ่งใน Use Case ที่เห็นภาพการใช้ NFT ได้ชัดที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ไปรษณีย์ไทยจำหน่าย แสตมป์ เพื่อสะสม โดยล่าสุดได้ทำ แสตมป์ NFT ส่งผลให้จำนวนลูกค้ากว่า 80% ที่เข้ามาซื้อเป็นผู้เล่น NFT ไม่ใช่นักสะสมแสตมป์ แสดงให้เห็นว่า NFT ช่วยขยายฐานลูกค้าให้กับไปรษณีย์
  • Index Creative Village : การจำหน่าย NFT Collection พิเศษในงานตอนเสิร์ต แสตมป์ อภิวัชร์ รวมถึงใช้ NFT เป็นตั๋วแบบ Excrusive ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้จากเดิมที่ขายบัตรและสปอนเซอร์ โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มแฟนคลับและวัยรุ่น
  • Pixel Paint : การนำเอา NFT มาใช้เป็นสื่อกลางในการสร้างประสบการณ์การซื้อขายสิทธิ์ เพื่อยืนยันว่าใครคือผู้ที่ซื้องานศิลปะ เพื่อยืนยันตัวตนในการรับรูปภาพ โดยหลังจากเปิดขายรอบแรกมียอดจองขายหมดภายใน 24 ชั่วโมง
  • เจมาร์ท โมบาย : ที่ออก Jaybird NFT Collection 2022 จำนวน 7,777 ชิ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์  Enjoy MetaWorld

“อย่างงาน หมู่ วาไรตี้โชว์ ที่ Jmart Group เป็นสปอนเซอร์เราก็ใช้ NFT เป็นตั๋วเข้างาน และจะเป็นของสะสมจากงานนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าโลกจากนี้จะเป็นการไฮบริดระหว่างดิจิทัลและประสบการณ์บนโลกจริง ช่วยสร้างแวลู และประสบการณ์ใหม่ ๆ ในยุคที่คนรุ่นใหม่ต้องการความแตกต่าง ความแปลกใหม่”

เดินหน้าขยายลูกค้า B2B

สำหรับเป้าหมายของ JNFT ในปี 2566 ตั้งเป้าที่จะขยายความร่วมมือระหว่างธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) เพื่อนำเอา NFT เข้าสู่ธุรกิจและองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเดินหน้าผลักดันแพลตฟอร์ม NFT Marketplace ของตัวเองที่เปิดมาประมาณ 1 ปี โดยปัจจุบันมีทรานแซกชั่นประมาณ 50,000 – 100,000 ครั้ง/เดือน จากผู้ใช้ประมาณ 5,000 บัญชี โดยตั้งเป้าปีหน้าเติบโตหลายเท่าตัว

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้มันเป็นช่วงขาลง แต่เราเชื่อว่าตลาดยังกลับมาได้ เพราะ NFT เป็นของสะสม มูลค่าอาจไม่มีตอนนี้แต่อนาคตมันอาจมีมูลค่าเหมือนของสะสมอื่น ๆ”

ปัจจุบัน มีแบรนด์ที่สนใจทำ NFT กับบริษัทประมาณ 2 ราย/เดือน นอกจากนี้ เริ่มมีเอเจนซี่การตลาดเริ่มมาปรึกษาการทำ NFT ให้กับลูกค้า ซึ่งถ้าแบรนด์ใช้ NFT ในการทำการตลาดมากขึ้น ต่อไป NFT ก็จะแมสและผู้ใช้แพลตฟอร์ม Marketplace ก็จะตามมา

ตอนนี้ความท้าทายการประยุกต์ใช้ NFT กับการตลาดคือเรื่องความเข้าใจ แบรนด์ยังคิดว่ามันเป็นเรื่องการเก็งกำไรนำ แต่เป็นในแง่ของสะสมซึ่งมันแมสมากกว่า การแจก NFT มันสามารถสร้างแวลูได้มากกว่าแทนที่จะแจกเป็นสิ่งของแล้วเขาเอาไปทิ้ง แต่ให้ NFT เราสามารถเก็บข้อมูลลูกค้ากลับมาได้ด้วย