“ฟู้ด แฟคเตอร์” หนุนคนไทยต่อยอดไอเดีย จากเวทีนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis Innovation Contest 2022

สำหรับมหกรรมการแข่งขันชิงแชมป์นวัตกรรมอาหารแห่งปี หรือโครงการ Food Innopolis Innovation Contest 2022 ที่เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไป สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมอาหาร ด้วยการเพิ่มคุณค่าและใส่ไอเดียด้านนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนวงการอาหารของไทยให้เติบโตได้ในอนาคต รวมถึงช่วยเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดไทยและตลาดโลกได้ ซึ่งการประกวดในปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อนวัตกรรมอาหารสตรีทฟูดสู่ผู้บริโภคยุค New Normal  หรือ Street Food Innovation และนวัตกรรมอาหารหมักพื้นถิ่นสำหรับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน หรือ Local Fermented Food Innovation

ทั้งนี้ มีผู้ผ่านเข้าสู่โครงการ 40 ทีม จากกว่าร้อยทีมทั่วประเทศ หลังจากการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น ที่สุดได้ทีมผู้ชนะจากเวที Food Innopolis Innovation Contest 2022 เรียบร้อยแล้ว ดังนี้

รุ่นมัธยมศึกษา (Flyweight) ทีมเหนียวนุ่มนิ่มหนึบหนับนุ้บนิ้บ ผลิตภัณฑ์ไทจิ-ไทจิ การผสมผสานไอศกรีมโมจิสไตล์ญี่ปุ่นกับ ข้าวหมาก‘ ขนมหวานภูมิปัญญาไทยจากเชื้อจุลินทรีย์ อุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย มีสารต้านอนุมูลอิสระจากข้าวเหนียวดำลืมผัว และโพรไบโอติกส์ที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ขจัดจุลินทรีย์ก่อโรคในลำไส้ จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี, ทีม Power Ranger ผลิตภัณฑ์ Worage ไส้อั่วหนอนไหม โปรตีนทางเลือกเพื่อสุขภาพ จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา

รุ่นมหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี (Lightweight) ทีมผัดไทยสมรรค์ ผลิตภัณฑ์ผัดไทยยากิ ผัดไทยห่อไข่ในรูปแบบที่แปลกใหม่ สะดวกพร้อมรับประทาน ผลงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ทีม MUDEE MAK ผลิตภัณฑ์ KOME drink เครื่องดื่มรูปแบบใหม่ ที่มีการนำ ข้าวหมาก” อาหารหมักพื้นถิ่นของไทยมาพัฒนาให้เป็นเครื่องดื่ม Probiotic ไม่เติมน้ำตาลและมีคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่รักสุขภาพและกลุ่มวีแกน  ซึ่งเป็นผลงานจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์ และ

รุ่นบุคคลทั่วไป (Heavyweight) ทีม 51025103 ผลิตภัณฑ์เต้าหู้ก้อนไข่ขาวในน้ำพะโล้ มีโปรตีนสูงถึง 14 กรัมต่อแพค เทียบเท่ากับไข่ขาว 3.5 ฟอง ไม่มีไขมัน ไม่มีคอเลสเตอรอล มาในรูปแบบพร้อมทานได้ทันที เหมาะกับผู้ที่รักสุขภาพ ผู้ที่ต้องการโปรตีนสูง ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โดยผลงานดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยนเรศวร

นายปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า เป็นเวลา 4 ปีแล้ว ที่ฟู้ด แฟคเตอร์ ได้ทำงานร่วมกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อผลักดันนวัตกรรมด้านอาหารและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดย ฟู้ด แฟคเตอร์ นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจอาหารคุณภาพที่ครบวงจร ร่วมส่งเสริมและผลักดันคนรุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอาหารรายย่อยและผู้ประกอบการจากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านอาหาร ไม่เพียงเป็นครัวโลก แต่ยังมีอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมอาหารที่แข็งแรง หลายเมนูได้รับความนิยมไปทั่วโลก เช่น ต้มยำกุ้ง ผัดไท แกงเขียวหวาน มัสมั่น ฯลฯ ดังนั้น การที่ฟู้ด แฟคเตอร์ ร่วมส่งเสริมการพัฒนาอาหารไทยให้มีนวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ จะช่วยยกระดับเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบและเมนูอาหารไทยให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และก้าวสู่เวทีสากลยิ่งขึ้น เพื่อเสิร์ฟให้กับผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

การเปิดเวทีประกวดให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไป ได้แสดงความสามารถ โชว์ไอเดียด้านการทำอาหาร ที่ผสมผสานเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม ช่วยยกระดับอาหารไทยแข็งแรงขึ้น ขณะเดียวกันถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่การประกวดปีนี้ ผลงานของคนไทย สามารถนำเสนอเมนูเด่น โดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นจานเด็ด ซึ่งนับเป็นความสร้างสรรค์ที่จะเป็นกุญแจสำคัญสามารถพัฒนาต่อในระยะยาวได้ ปิติ กล่าว

สำหรับ โครงการ Food Innopolis Innovation Contest 2022 เป็นความร่วมมือของภาคเอกชนที่มีความรู้ ความชำนาญในการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารออกวางจำหน่ายจริง กับหน่วยงานภาครัฐที่มีจุดแข็งด้านการคิดค้น วิจัย พัฒนาและเครือข่ายด้านนวัตกรรมอาหารอย่าง สวทช. เพื่อส่งเสริมบุคลากรทุกระดับร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ ระหว่างสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชน โดยเป็นเวทีการแข่งขันประยุกต์องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบกับความรู้ทางด้านธุรกิจ นำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งฟู้ด แฟคเตอร์  ได้ให้การสนับสนุนต่อเนื่องเป็นปีที่ โดยได้ร่วมเป็นผู้ออกแบบโปรแกรมการแข่งขัน (Cocreator) และเป็นหนึ่งคณะกรรมการตัดสิน โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดผลงานนวัตกรรมอาหารไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริงด้วย