คงไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ที่เจอกับปัญหาเรื่องเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลง แต่จากรายงานผลประกอบการล่าสุดของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google และ YouTube ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดโฆษณาออนไลน์ยังคงประสบปัญหาต่อเนื่อง
รายได้จากการโฆษณาบน YouTube ลดลง 2% เมื่อเทียบเป็นรายปี มาอยู่ที่ 7.07 พันล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 3/2022 โดยถือว่าเป็นการ ลดลงครั้งแรก นับตั้งแต่ที่ Alphabet บริษัทแม่ได้เริ่มแยกย่อยรายได้แต่ละส่วนตั้งแต่ปี 2019 ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของ Alphabet เองก็ลดลงอย่างมาก จากปีที่แล้วเติบโต 41% เหลือ 6% มีรายได้รวม 69,092 ล้านดอลลาร์ มีกำไรสุทธิ 13,910 ล้านดอลลาร์
การเติบโตที่ลดลงของ Alphabet เป็นการตอกย้ำว่า บริษัทต่าง ๆ ชะลอใช้เงินกับแคมเปญโฆษณาและการตลาด เนื่องจากความกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยทั่วโลก โดย Ruth Porat ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ออกมาเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมที่ลดการใช้งบส่วนใหญ่มาจากบริการทางการเงิน การประกันภัย สินเชื่อ และคริปโต
“รายได้ที่ลดลงของ YouTube สะท้อนถึงการลดเงินในการใช้จ่ายในการทำแคมเปญโฆษณาในหลายองค์กร” Ruth Porat ย้ำ
ไม่ใช่แค่ Alphabet ที่เจอกับปัญหาดังกล่าว แต่ Microsoft เองก็รายงานถึงการชะลอตัวของธุรกิจโฆษณาออนไลน์ โดยธุรกิจการค้นหาและโฆษณาข่าวสาร (Bing และ Microsoft News) มีการเติบโตเพียง 16% ในช่วงไตรมาส 3/2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เติบโตได้ถึง 40% และการเติบโตที่ลดลงไม่ได้เกิดแค่ในไตรมาส 3 แต่ลดลงทุกไตรมาสในปีนี้ สอดคล้องกับแนวโน้มขาลงทั่วไปของตลาดโฆษณาออนไลน์ทั้งหมด
การเติบโตที่ลดลงและความท้าทายทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อและภาวะถดถอยที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอ Alphabet ต้องใช้มาตรการ ลดต้นทุน ทั้งบริษัท โดยจะชะลอการจ้างงานและลดการออกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเขาต้องการทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น 20%
ปัจจุบัน Alphabet มีพนักงานประจำทั้งหมด 186,779 คน เพิ่มขึ้นจาก 150,028 คนในปีที่แล้ว แต่ในการเพิ่มพนักงานในช่วงไตรมาส 4 จะต่ำกว่าไตรมาส 3 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทจะต้องการจะลดค่าใช้จ่ายของการดำเนินงานในองค์กร
“จำนวนการจ้างงานในไตรมาส 4 จะลดลงกว่าการจ้างในไตรมาส 3 กว่าครึ่ง และการชะลอการจ้างงานจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2023” พิชัย กล่าว
หลังจากรายงานผลประกอบการ หุ้นของ Alphabet ร่วงลงประมาณ 7% โดยอยู่ต่ำกว่า 97 ดอลลาร์ โดยทั้งปีหุ้นของ Alphabet ลดลง 28%