ตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือนตุลาคมถดถอยลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี สาเหตุสำคัญนั้นมาจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนก็สร้างปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแค่การส่งออกเท่านั้น แต่การนำเข้าสินค้าของจีนก็หดตัวลงเช่นกัน
สำนักงานศุลกากรของประเทศจีนได้รายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยตัวเลขดังกล่าวนั้นอยู่ที่ -0.3% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปี 2021 ถือเป็นการหดตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2020 และยังแย่กว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์ของ Reuters ที่คาดไว้ว่าภาคการส่งออกของจีนนั้นจะเติบโตได้มากถึง 4.3% ด้วยซ้ำ
ตัวเลขการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง 12.6% ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้ากับจีนมากที่สุด ทางด้านของสหภาพยุโรปการส่งออกลดลง 9% อย่างไรก็ดีมูลค่าการส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 20% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนั้นเทียบกับเดือนตุลาคมของปี 2021 ที่ผ่านมา
สาเหตุที่ยอดส่งรวมของจีนลดน้อยลงนั้นมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และยังรวมถึงปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่จีนที่เกิดจากผลของการล็อกดาวน์โดยใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้ Supply Chain เกิดการหยุดชะงักหรือสะดุดในช่วงที่ผ่านมา
ไม่ใช่แค่การส่งออกที่หดตัวเท่านั้น แต่ตัวเลขการนำเข้าสินค้าของจีนที่ตีเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเองก็หดตัวลง 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปี 2021 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีตัวเลขการส่งออกและนำเข้าสินค้าของจีนที่นำมาวิเคราะห์นั้นจะตีมูลค่าเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ต่างใช้ตัวเลขดังกล่าวในการดูภาพรวมของเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าหากมองตัวเลขการส่งออกของจีนในเทอมของสกุลเงินหยวนแล้วนั้น การส่งออกของจีนจะเติบโตมากถึง 7%
Zichun Huang นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics กล่าวกับ CNN ว่า ตัวเลขส่งออกของจีนหลังจากนี้มีสิทธิ์ที่จะลดลงได้อีก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง
นอกจากนี้บทวิเคราะห์ของ Barclays สถาบันการเงินจากอังกฤษได้ปรับคาดการณ์ GDP ของจีนในปี 2023 ลดลง เนื่องจากความต้องการสินค้าจีนจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปลดลงจากผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยมองว่ายอดการส่งออกจะเติบโตแค่ 5% เท่านั้น ซึ่งส่งผลทำให้ GDP จีนอาจเติบโตเหลือแค่ 3.8% เท่านั้น