‘IMF’ ชี้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้เงินกว่า 1.6 แสนล้านเหรียญเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

Photo : Shutterstock
เมื่อวานนี้เป็นวันแรกที่เปิดฉากการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 27 ที่ประเทศอียิปต์ โดยมีการเสนอให้ประเทศร่ำรวยจ่ายชดเชยค่าเสียหายจากภาวะโลกร้อน รวมถึงการจัดหาเงินทุนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือประเทศยากจน เพราะประเทศร่ำรวยนั้นก่อให้เกิดมลพิษมากกว่า แต่ IMF มองว่าแค่นั้นไม่พอ

ก่อนการประชุม สหประชาชาติเรียกร้องให้ เพิ่มเงินทุนและการดำเนินการตามมาตรการ เพื่อช่วยให้ประเทศที่เปราะบางปรับตัวเข้ากับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ อย่างไรก็ตาม คริสตาลินา จอร์จีวา หัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กล่าวว่า ประเทศที่ร่ำรวยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถ ปิดช่องว่างเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการ ลงทุนภาคเอกชน มากขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ความช่วยเหลือสาธารณะและเงินทุนจากรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอที่จะปิดช่องว่างเงินทุนในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา” คริสตาลินา กล่าว

ตามรายงานของสหประชาชาติ ประเทศที่อ่อนแอและกำลังพัฒนาจะต้องใช้เงินระหว่าง 1.6-3.4 แสนล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปีนี้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และต้องใช้สูงถึง 5.65 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2050

“ความต้องการในการปรับตัวในประเทศกำลังพัฒนานั้นตั้งเป้าให้พุ่งสูงขึ้นถึง 3.4 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 แต่การสนับสนุนด้านการปรับตัวในปัจจุบันมีน้อยกว่า 1 ใน 10 ของเงินจำนวนนั้น” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าว

อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน กรรมการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังพัดถล่มหลังจากพายุถล่มมนุษยชาติ อย่างเห็นตลอดปี 2022 อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปากีสถาน, คลื่นความร้อนในจีน

ซึ่งการหยุดชะงักของซัพพลายเชนที่เกิดจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมากกว่าปัญหาที่เกิดจากการระบาดใหญ่ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการผลักดันให้มากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความรับผิดชอบต่อการลดการปล่อยมลพิษ และภาษีและกฎระเบียบเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลหลายแห่งสามารถใช้ได้

“เราต้องตระหนักว่าเราล้าหลังในการปกป้องสวัสดิภาพของลูกหลานของเรา ภายในปี 2020-2030 เราต้องลดการปล่อยมลพิษระหว่าง 25-50% แต่ปัจจุบันการปล่อยมลพิษยังคงเพิ่มขึ้น”

Source