‘SNNP’ เปิดโรงงานใหม่ใน ‘เวียดนาม’ เร่งเครื่องสู่การเป็น ‘ผู้เล่นระดับโลก’

หากพูดชื่อบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP เชื่อว่าหลายคนอาจไม่คุ้น แต่ถ้าพูดชื่อแบรนด์ขนมขบเคี้ยวอย่าง เบนโตะ, ขนมขาไก่โลตัส และ เจเล่ เชื่อว่าผู้บริโภคชาวไทยคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และในโลกที่เส้นแบ่งพรมแดนค่อย ๆ จางไป ศรีนานาพรก็มองว่าถึงเวลาที่จะต้องขยับเป็น ผู้เล่นระดับโลก และการลงทุนใน เวียดนาม นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทไปถึงจุดนั้น

ศรีนานาพร เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดขนมขบเคี้ยวไทยมานานกว่า 30 ปี โดยเริ่มก่อตั้งในปี 2515 ในชื่อ ศรีวิวัฒน์ ซึ่งดำเนินการผลิตและจำหน่ายขนมปังบรรจุปี๊บ จนกระทั่งได้ขยับขยายมาเป็น บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) และได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน บริษัทมีผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น โดยแบ่งหลัก ๆ เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ได้แก่ เบนโตะ ขนมขาไก่โลตัส เบเกอรี่เฮ้าส์ และขนมเวเฟอร์ช๊อคกี้
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ได้แก่ เจเล่, เมจิกฟาร์มเฟรช และเครื่องดื่มวิตามิน เจเล่ อควาวิตซ์

ทุ่ม 20 ล้านเหรียญ ผุดโรงงานที่เวียดนาม

ไม่ใช่แค่อยู่ในตลาดไทยมานาน แต่ SNNP ได้เริ่มขยายไปสู่ตลาดเพื่อนบ้านหรือ CLMV มานานนับ 10 ปีอีกด้วย และตั้งแต่ที่ SNNP เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทิศทางของบริษัทก็ยิ่งชัดว่าต้องการไปให้ไกลมากกว่าตลาดไทยที่มีประชากรเพียง 60-70 ล้านคน แถมอัตราผู้สูงอายุยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับอัตราเกิด ซึ่งกลุ่ม เด็ก ที่ถือเป็น เป้าหมายหลัก ของบริษัท

กลับกันประเทศอย่าง เวียดนาม ที่บริษัทเข้ามาทำตลาดนานกว่า 15 ปี ถือว่ามีโอกาสที่จะช่วยทำให้บริษัทสร้างการเติบโตได้มากกว่า ด้วยขนาดประชากรกว่า 98 ล้านคน ปีหน้าจะแตะ 100 ล้านคน ซึ่งแปลว่าตลาดมีขนาดใหญ่กว่าไทยแน่นอน รวมถึงรายได้ต่อหัวของเวียดนามก็มีการเติบโตทุกปี

ประกอบสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่งดเว้นภาษีเงินได้ใน 2 ปีแรก และลด 50% อีก 4 ปี บริษัทจึงทุ่มเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานในเวียดนาม ทำให้ปัจจุบัน SNNP มีโรงงาน 6 แห่ง ได้แก่ ประเทศไทย 4 แห่ง, กัมพูชา 1 แห่ง และเวียดนาม 1 แห่ง

สำหรับโรงงานในเวียดนามนี้ จะตั้งอยู่ในเขตเวียดนามสิงคโปร์อินดัสเทรียลพาร์คหรือ VSIP ห่างจากโฮจิมินห์ 30 กิโลเมตร มีพื้นที่รวม 20,000 ตารางเมตร โดยใน เฟสแรก จะเริ่มผลิต ขนมขาไก่โลตัส ในไตรมาส 4 ปี 2565 นี้ ส่วน เฟส 2 จะเริ่มผลิตแบรนด์ เบนโตะ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 และ เฟสที่ 3 จะผลิตสินค้าแบรนด์ เจเล่ ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566 โดยบริษัทได้วางแผนว่านอกจากจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเวียดนามแล้ว ก็พร้อมส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วย

“ในปีหน้าสินค้าคงจะไม่ได้มาจากฐานการผลิตของเวียดนาม 100% คาดว่าจะยังนำเข้าจากไทยประมาณ 30-40% เพราะโรงงานยังไม่เสร็จเรียบร้อย ถ้าโรงงานแล้วเสร็จเมื่อไหร่ คาดว่าสัดส่วนการนำเข้าจะเหลือ 20% หรือถ้าโรงงานที่ไทยมีเหตุสะดุด เราก็เปลี่ยนไปผลิตที่เวียดนามได้” ฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP กล่าว

ตลาดเวียดนามมุ่งสู่ 2,000 ล้าน ใน 5 ปี

ย้อนไปปี 2564 รายได้จากประเทศเวียดนามอยู่ที่ 300 ล้านบาท แต่ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2565 บริษัททำรายได้ 218 ล้านบาท เติบโต 67% โดยสัดส่วนรายได้หลักของกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยว 93% และเครื่องดื่ม 7% ปัจจุบัน รายได้อันดับ 1 มาจาก เบนโตะ ส่วนขาไก่โลตัส และเจเล่มีสัดส่วนเท่า ๆ กัน โดยภายใน 5 ปี บริษัทตั้งเป้ายอดขายในเวียดนามทะลุ 2,000 ล้านบาท เติบโต 7 เท่า

ที่ผ่านมาบริษัทใช้กลยุทธ์ Localization โดยมีการออกรสชาติเฉพาะที่ขายในเวียดนาม เช่น ขนมขาไก่โลตัสรสต้มยำและรสหมึกสไปซี่ หรือในส่วนของ เจเล่ ก็ใช้ ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก เป็นพรีเซ็นเตอร์ เนื่องจากเป็นที่ชื่นชอบของคนเวียดนาม ส่วน เบนโตะ ก็เป็นที่ชื่นชอบของนักดื่ม และมีการใช้ในการทำ ชาเลนจ์ เพื่อทดสอบความเผ็ดอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ บริษัท Chance and Challenge Co., Ltd. หรือ CAC เป็นพันธมิตรนำเข้าสินค้าและช่วยกระจายสู่ร้านค้าทั่วไปถึง 140,000 แห่ง และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ 8,275 แห่ง อีกด้วย

“ตลาดไทยกับเวียดนามต่างกัน ในไทยเราสู้กับผู้เล่นโลคอล แต่ในเวียดนามต้องสู้กับแบรนด์จากเกาหลี, ญี่ปุ่น ดีที่คนเวียดนามชื่นชอบและเชื่อมั่นในสินค้าไทยมาก ทำให้สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ภาษาไทยบนผลิตภัณฑ์ และเราก็พยายามออกรสใหม่ ๆ ที่แสดงถึงความเป็นไทย ใช้พรีเซ็นเตอร์ดาราไทยที่เขาชื่นชอบ” ฐากร อธิบาย

มุ่งสู่ผู้เล่นระดับโลก

ปัจจุบันบริษัทได้แบ่งโมเดลการบุกตลาดต่างประเทศไว้ 3 ระดับ ได้แก่ 1.Full Scale คือ มีการลงทุนตั้งโรงงาน อาทิ ประเทศเวียดนามและกัมพูชา 2.Joint Venture และ 3.ส่งออกให้ดิสทริบิวเตอร์ ซึ่งถ้าตลาดไหนมีศักยภาพ บริษัทก็จะขยับสเต็ปการลงทุนไป

“ตอนนี้มีแค่ตลาด CLMV ที่เราทำแบบ Full Scale ครบวงจรและเรามองว่า 5 ปีจากนี้ตลาด CLMV ยังเติบโตได้ดี ส่วนตลาดเกาหลี, ฟิลิปปินส์ กำลังดูอยู่ นอกจากนี้มีตลาดจีน, ยุโรป และอเมริกาที่ยังแค่ส่งออก ไม่ได้ไปทำตลาดอะไรมากมาย”

ในช่วงครึ่งปีแรก SNNP มีรายได้จากการส่งออก 591 ล้านบาท แบ่งเป็นประเทศ CLMV 77% อินโดนีเซีย 4% และอื่น ๆ 19% โดยในปีหน้า คาดว่ารายได้จากประเทศเวียดนามจะคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการส่งออก และภายใน 5 ปีจากนี้ (ปี 2569) บริษัทตั้งเป้าทำรายได้ 8,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ราว 40%

ฐากร ย้ำว่า SNNP ที่เคยเติบโตจากธุรกิจครอบครัว แต่ตอนนี้บริษัทกำลังทำตัวเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค และจากนี้บริษัทจะเป็นผู้เล่นหลักในตลาด CLMV โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลกในอนาคต