“บัดดี้มาร์ท” โมเดลใหม่ยกระดับ “โชห่วย” ชุมชน ลงระบบจัดการร้านให้ทันสมัย-ลดการจมทุน


ธุรกิจโชห่วยยุคนี้กำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทำให้ “แม็คโคร” เลือกปั้นโมเดลธุรกิจใหม่ “บัดดี้มาร์ท” สูตรสำเร็จที่จะมายกระดับ “โชห่วย” ชุมชนให้ทันสมัยขึ้น ผ่านระบบบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีและความแข็งแกร่งจากพันธมิตรแม็คโคร ช่วยแก้ ‘pain point’ ให้โชห่วย ลดการจมทุน ดึงดูดให้ทายาทสนใจสานต่อกิจการมากขึ้น

“โชห่วย” ถือเป็นธุรกิจสำคัญของประเทศเพราะมีสัดส่วนถึง 45-47% ในมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมด ด้วยลักษณะที่เป็นธุรกิจครอบครัวที่เจ้าของมักจะบริหารเอง เป็นร้านค้าขนาดเล็กที่แทรกซึมทุกซอกมุมของชุมชนไทย การคงอยู่ของโชห่วยจึงสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม “เอกพล คูสุวรรณ” ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ท กล่าวว่า ปัจจุบันโชห่วยยิ่งเผชิญความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอุปสรรค 5 ข้อใหญ่ที่มักจะทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง ได้แก่ 1.พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปชื่นชอบระบบสมัยใหม่ 2.การปรับสินค้าไม่ทันความต้องการลูกค้า 3.สภาพคล่องการหาเงินกู้เพื่อลงทุนหมุนเวียน 4.ประสิทธิภาพในการบริหาร และ 5.ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ

ด้วยประสบการณ์ของแม็คโครที่ทำงานกับโชห่วยมานาน 33 ปี และมีฐานลูกค้ากลุ่มโชห่วยกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศ จึงทราบ pain point ทั้งหมดข้างต้น และต้องการคิด ‘สูตรสำเร็จ’ ที่จะช่วยประคองให้โชห่วยอยู่คู่ชุมชนไทยต่อไป “บัดดี้มาร์ท” ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ในเครือแม็คโครจึงเกิดขึ้น


แบรนด์ใหม่ “บัดดี้มาร์ท” สร้างความทันสมัย

โมเดล “บัดดี้มาร์ท” คือการนำแบรนด์ ระบบเทคโนโลยี องค์ความรู้ และพันธมิตรเข้าไปช่วยร้านค้าโชห่วย โดยมีจุดขายทั้งหมด 5 ด้านที่ร้านค้าจะได้รับเมื่อสมัครเป็นพาร์ทเนอร์กับบัดดี้มาร์ท คือ

1.ลงทุนน้อยแต่คุ้มค่า – ใช้เงินลงทุนเพียง 4 แสนบาท (แบ่งเป็นเงินค้ำประกันสัญญาระยะ 3 ปี มูลค่า 2 แสนบาท และค่าปรับปรุงร้าน 2 แสนบาท) ขณะที่บัดดี้มาร์ทจะลงทุนให้อีก 1.5 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าตกแต่งร้าน เครื่องคิดเงินและระบบ POS ลงอุปกรณ์/ตู้แช่ โดยเฉพาะ “ตู้แช่แข็ง” ที่จะเป็นหมัดเด็ดในการเป็นเสมือนซัพพลายเออร์ให้ร้านอาหาร/ครัวเรือนในชุมชนนั้นๆ

2.แหล่งเงินทุน – โมเดลธุรกิจนี้เป็นพันธมิตรกับ “ธนาคารกรุงเทพ” ทำให้ผู้ลงทุนจะได้สินเชื่อแพ็กเกจพิเศษสำหรับการปรับปรุงร้าน

3.ข้อเสนอที่ดีจากพันธมิตร – เนื่องจากแม็คโครมีพันธมิตรสินค้าหลายบริษัทที่จะให้โปรโมชันดีๆ กับร้านค้าบัดดี้มาร์ท เช่น ไทยน้ำทิพย์, Unilever, P&G, เนสท์เล่ ทำให้ร้านมีโอกาสการขายมากกว่า

4.กิจกรรมการตลาดจากทีมงาน – ด้วยประสบการณ์จากแม็คโคร สามารถส่งเสริมแบรนด์บัดดี้มาร์ทให้ได้ รวมถึงให้คำปรึกษาด้วย “ดาต้า” ว่าสินค้าไหนเป็นสินค้าขายดีในพื้นที่ที่ร้านควรสั่ง

5.เทคโนโลยีช่วยพัฒนาธุรกิจ – ปรับตัวสู่ความทันสมัยให้กับร้านด้วยระบบเครื่องคิดเงินอัตโนมัติ POS ทำให้ร้านเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ และตัดสต็อกสินค้าได้รวดเร็ว ตรวจสอบได้ง่ายว่าสินค้าไหนที่ขายดี และสินค้าใดที่ต้องระบายสต็อก

นอกจากนี้ เอกพลยังกล่าวถึง ข้อดีอีกมากที่จะได้ เมื่อเป็นร้านบัดดี้มาร์ท เช่น องค์ความรู้วิธีจัดชั้นวางสินค้าที่ช่วยเร่งยอดขาย, มีรอบส่งของจากแม็คโครสูงสุด 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้ร้านลดโอกาสของขาดสต็อก, ใช้ระบบเครดิตร้านค้า รับของก่อน ชำระในภายหลัง, มีที่ปรึกษาแนะนำการเสริมบริการด้านหน้าร้าน เช่น เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้เติมเงิน ตู้กดกาแฟ

ด้วยการยกระดับโชห่วยขึ้นเป็นร้านบัดดี้มาร์ท จะทำให้ร้านค้ามีระบบจัดการที่ดีขึ้น ลดโอกาสการ ‘จมทุน’ เพราะมีพี่เลี้ยงช่วยดูแลและทำการตลาด และใช้เงินลงทุนไม่สูงทำให้คืนทุนเร็วอีกด้วย


เน้นความเป็น “เจ้าของ” ไม่ทิ้งอัตลักษณ์ชุมชน

อะไรที่ทำให้บัดดี้มาร์ทต่างจากแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้ออื่น? เอกพลอธิบายว่า บัดดี้มาร์ทไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนเอกลักษณ์ของโชห่วยแบบดั้งเดิมซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการเป็น “ศูนย์กลางของคนในชุมชน”

“ความแข็งแกร่งที่สุดของโชห่วยคือการที่เจ้าของร้านสนิทชิดเชื้อกับคนในชุมชน บุคลิกของเจ้าของร้านคือเสน่ห์หรือเอกลักษณ์ส่วนตัว ส่วนใหญ่เจ้าของโชห่วยไทยจะจำคนในชุมชนตัวเองได้ รู้ใจในการซื้อสินค้า ทำให้รู้สึกผูกพันกัน” เอกพลกล่าว

แม้ว่าร้านจะถูกปรับให้เป็นชื่อบัดดี้มาร์ท ตกแต่งในสไตล์สีน้ำเงิน-เหลืองเหมือนกัน แต่หัวใจจะอยู่ที่ “เจ้าของร้าน” ที่จะยังเป็นคนเดิม สร้างสัมพันธ์กับคนในชุมชนต่อไป

รวมถึงบัดดี้มาร์ทจะสนับสนุนกลุ่ม “สินค้าชุมชน” เช่น กล้วยตาก ผลไม้ท้องถิ่น ลูกชิ้นปิ้ง สินค้าเหล่านี้ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละสาขาจะไม่ถูกทอดทิ้ง เพราะเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่นั้นๆ


ร้านค้านำร่องเพิ่มยอดขายแล้ว 40%

เอกพลกล่าวต่อถึงการชิมลางโมเดลธุรกิจนี้มาตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 ปัจจุบันมีร้านค้านำร่องแล้ว 25 สาขา ซึ่งร้านทั้งหมดประสบความสำเร็จในการเพิ่มยอดขาย เติบโตเฉลี่ยถึง 40% หลังเปลี่ยนเป็นบัดดี้มาร์ท

เป้าหมายของปี 2565 เชื่อว่าจะมีบัดดี้มาร์ทได้ 300 สาขา ขณะที่ปี 2566 ตั้งเป้าที่ 2,000 สาขา ในระยะแรกจะเน้นรับร้านค้าที่ทำธุรกิจโชห่วยอยู่เดิม มากกว่าผู้ที่ต้องการลงทุนใหม่ และจะดูแลประเด็น catchment area  ให้ไม่ทับซ้อนกัน

เอกพลกล่าวด้วยว่า สำหรับโปรโมชันช่วงนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2565 มีโปรฯ ฟรีค่าปรับปรุงร้านค้า 2 แสนบาท (ร้านค้าจ่ายเฉพาะค่าประกันสัญญา 2 แสนบาท) จำกัด 300 สิทธิ์แรกเท่านั้น สนใจสมัครติดต่อได้ที่ โทร.02-099-1555 หรือ LINE @Buddymart หรือ Facebook Page บัดดี้มาร์ท BuddyMart

“เป้าหมายระยะยาวของเราคือการทำอย่างไรให้ทายาทหรือคนรุ่นใหม่อยากมาสืบสานกิจการต่อ เราจึงต้องทำให้ร้านดูทันสมัย เติมสิ่งที่ขาด ทำให้ร้านโชห่วยปรับตัวได้ง่ายขึ้นในยุคนี้ เพื่อให้อีก 10-20 ปีข้างหน้า ร้านโชห่วยจะยังเป็นคู่ค้าของเราต่อไป” เอกพลกล่าวทิ้งท้าย